จากกรณีที่ “เดียร์” รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นจำเลยคดี ม.112 จากการอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันฯ เมื่อ 26 มี.ค.63 ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เป็นครั้งที่ 2 ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมันในระดับปริญญาโท โดยเธอได้รับทุนจากศูนย์บริการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) นั้น
ต่อมา ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่าศาลอาญากรุงเทพใต้ยังไม่มีคำสั่งในทันที แต่ยังต้องรอส่งคำร้องให้ รองอธิบดีศาลฯ พิจารณาต่อไป ล่าสุด 3 มี.ค.65) นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า วันนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกคำร้อง น.ส.รวิสรา เอกสกุล หรือเดียร์ จำเลยที่ 11 โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องเห็นได้ว่าจำเลยที่ 11 ยังไม่ผ่านการคัดเลือกว่าจะได้รับทุนหรือไม่ ทั้งเงื่อนไขที่จำเลยที่ 11 เสนอมาว่าหากได้รับอนุญาต จำเลยที่ 11 ยินดีจะไปรายงานตัวและแสดงที่อยู่ต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยที่ประเทศเยอรมนีทุกๆ 30 วัน โดยขอให้อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นนายประกันของจำเลยที่ 11 และบิดาของจำเลยที่ 11 เป็นผู้กำกับดูแลตามเงื่อนไข แต่บุคคลทั้งสองอยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 11 อยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการยากที่จะกำกับดูแลให้จำเลยที่ 11 ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จึงไม่เป็นการหนักแน่นเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 11 จะปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัดจนกลับมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลได้ตามกำหนด ซึ่งเงื่อนไขการประกันตัวห้ามว่าจำเลยที่ 11 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรนั้นเป็นข้อสำคัญในการอนุญาต เพราะเกรงว่าจำเลยที่ 11 จะหลบหนี กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้อนุญาตให้จำเลยที่ 11 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้ยกคำร้อง
นายกฤษฎางค์ กล่าวว่าสำหรับ น.ส.รวิสรา จบคณะอักษรศาสตร์จุฬา ได้รับทุนไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนี เเละในช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม จะต้องเดินทางทดสอบความพร้อมก่อน เเละถ้าทดสอบผ่านจะได้เรียนถึงปี 2567
ในส่วนคดีอาญาศาลนัดพิจารณาคดีช่วงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาคร่อมเกี่ยวกัน นับเป็นเรื่องน่าเสียดาย เเละ น.ส.รวิสรา เสียใจมากที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ไป เนื่องจากตนเห็นว่าการได้ทุนดังกล่าว น.ส.รวิสราหวังว่าจะเอาความรู้ความสามารถภาษาเยอรมันพัฒนาประเทศไทย เเละปีหน้าจะครบรอบ 160 สัมพันธ์ไทย-เยอรมันฯ การที่ น.ส.รวิสราได้ไปเรียนมีผลกับความสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อยื่นคำร้องไปครั้งเเรกศาลก็ไม่อนุญาตในครั้งนี้ก็เลยขอยื่นเพื่อไปเรียนไปทดสอบก่อน โดยในคำร้องยืนยันว่า เดือนมีนาคมปี 66 จะกลับมาเพื่อรับการพิจารณาคดี โดยถ้าศาลไม่ไว้ใจก็ให้รายงานตัวตัวที่สถานทูตไทยในเยอรมนีเป็นระยะๆ โดยมีอาจารย์ที่จุฬาฯที่เป็นนายประกันให้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ทาง เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนี ได้ส่งหนังสือถึงน.ส.รวิสรา ความว่า ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสแสดงความยินดีกับคุณเนื่องในวาระที่คุณได้รับมอบทุนการศึกษาจากศูนย์บริการการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) ในโปรแกรมเฮลมูท-ชมิดท์สำหรับการศึกษามหาบัณฑิตในหลักสูตรปริญญาโท “มหาบัณฑิตด้านการจัดการในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร” ณ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรีค ณ สหพันธรัฐเยอรมนี รวมถึงหลักสูตรภาษาเพื่อการเตรียมตัว ณ กรุงเบอร์ลิน (ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.65-31 ส.ค.67 ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะมีเพียงนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมและผู้ที่มีแนวโน้มเป็น อย่างสูงว่าจะประสบความสำเร็จเท่านั้นที่ถือผู้มีคุณสมบัติเพรียบพร้อมสำหรับทุนการศึกษาระยะยาวเช่นนี้
ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การไปศึกษาต่อ ณ สหพันธรัฐเยอรมนีในครั้งนี้จะไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์กับตัวของคุณเองเท่านั้น แต่จะยังเป็น การนำประโยชน์กลับมาสู่ประเทศของคุณด้วยเช่นกัน เมื่อคุณนำความรู้ความสามารถที่สั่งสมเล่าเรียนมาใช้งานให้เป็น ประโยชน์ในอาชีพการงานของคุณในอนาคต ในปี พ.ศ.2565 นี้ยิ่งนับว่ามีความหมายที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นปีที่เราเฉลิมฉลองให้กับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมัน และมิตรภาพแน่นแฟ้นที่บรรจบครบ 160 ปี ข้าพเจ้าขอแนะนำให้คุณเข้ายื่นขอวีซ่าที่แผนกกงสุล ณ สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีอย่างเร็วที่สุด เมื่อคุณสะดวก หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่ปรึกษาแผนกวัฒนธรรม ณ สถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้
ขอบคุณภาพจาก : ประชาไท