เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 3 ก.ค.2566 ที่ห้องพิจารณาคดี 814 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีลอบวางระเบิดคดีดำ อ.2913/2562 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายลูไอ แซแง อายุ 27 ปี นายวิลดัน มะหา อายุ 33 ปี และนายมูฮัมหมัดอิลฮัม หรือแบลี สะอิ อายุ 31 ปี เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ
ในความผิดฐาน ร่วมกันก่อการร้ายฯอั้งยี่ซ่องโจร, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ,ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลได้รับบาดเจ็บสาหัส ทรัพย์สินผู้อื่นหรือโรงเรือน ร่วมกันทำไว้ มีไว้ ซึ่งวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ไว้ในครอบครองได้ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32,33,80,83,91,135/1,209,210,221,222,224,288,289,
371และฯ
โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า ระหว่างวันที่ 13 ก.ค.2562 ถึง 2 ส.ค.2562 ต่อเนื่องกันจำเลยกับพวกอีก 18 คนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกัน แยกย้าย แบ่งหน้าที่กันทำนำวัตถุระเบิดชนิดแสวงเครื่องที่ผลิตขึ้นเองใส่ไว้ในภาชนะกระป๋องมันฝรั่ง กล่องผลไม้มีโลหะลูกปราย หรือลูกเหล็กกลมทำเป็นสะเก็ดระเบิดไปวางไว้ตามสถานที่ราชการ
อาทิ หน้าป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ริมทางเดินเท้า ถนนพระรามที่ 1 ,หน้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และนำไปที่บริเวณหน้าอาคารบี รัฐประศาสนภักดี และบริเวณหน้ารั้ว อาคารกองบัญชาการกองทัพไทย ภายในศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม.
ต่อมาวันที่ 13 ส.ค.2562 เจ้าพนักงานติดตามจำกุมตัวจำเลยที่ 1-2 ได้ พร้อมยึดของกลาง 39 รายการ ส่วนจำเลยที่ 3 ถูกจับกุมตัวได้วันที่ 2 ก.ย.2562 เหตุเกิดแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ และที่อื่นเกี่ยวพันกันจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
โดยวันนี้ศาลให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวจำเลยที่ 1-3 มาฟังคำพิพากษา ขณะที่ทนายความและญาติจำเลยประมาณ 20 คน เดินทางมาศาล ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานต่างๆแล้ว ในส่วนของจำเลยที่ 1-2 รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้เคยเดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อประชุมและวางแผนกับจำเลยที่ 3 และพวก ถึงขั้นตอนตระเตรียมการต่างๆ โดยก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ขับรถมาดูลาดที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วนจำเลยที่ 1-2 เดินทางมาที่หน้าป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจำเลยที่ 1 ได้นำระเบิดแสดงเครื่องบรรจุในกระป๋องมันฝรั่ง และกล่องน้ำผลไม้ จำเลย 2 ชุดมาวางบริเวณดังกล่าว โดยมีจำเลยที่ 2 คอยดูอยู่ห่างๆ ระหว่างนั้นมีแม่ค้ารถเข็นขายไส้กรอกผ่านมา เห็นผิดสังเกตจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาการณ์อยู่หน้าประตูทางเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นจึงแจ้งผู้บังคับบัญชาให้ทราบ และประสานหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) มาเก็บกู้วัตุระเบิดได้ทัน
ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 เมื่อก่อเหตุแล้วพากันเดินไปยังห้องน้ำชั้น G ห้างสยามพารากอน แล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วจึงขึ้นรถแท็กซี่ไปยังสถานีขนส่งหมอชิตใหม่เพื่อซื้อตั๋วรถทัวร์ไปยังอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อหลบหนี ซึ่งคำเบิกความของแม่ค้ารถเข็นขายไส้กรอก และพนักงานขายตั๋วรถทัวร์สามารถจดจำใบหน้าคนร้ายได้ ประกอบกับภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวและใบหน้าจำเลยทั้งสองได้
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-2 มีความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อั้งยี่ซ่องโจร และร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ซึ่งเป็นบทหนักสุด พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-2 ตลอดชีวิต คำให้การในชั้นซักถามของเจ้าพนักงาน อำนาจตามพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) พ.ศ.2548 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก จำเลยที่ 1-2 คนละ 39 ปี 16 เดือน
ส่วนจำเลยที่ 3 รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ร่วมเป็นตัวการในการกระทำผิดโดยร่วมประชุมวางแผนกับจำเลยที่ 1-2 และพวกที่ประเทศมาเลเซียและจัดหาวัตถุระเบิดแสดงเครื่องให้จำเลยที่ 1-2 เพื่อก่อเหตุวางระเบิด นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังลักลอบนำระเบิดแสวงเครื่องไปวางไว้บริเวณหน้าอาคารมหานคร และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่องนนทรี จนเกิดเหตุระเบิดมีผู้บาดเจ็บจำนวน 2 ราย
นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ที่หน้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, หน้ารั้ว กองบัญชาการกองทัพไทย , อาคารบี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ พิพากษาความ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อั้งยี่ซ่องโจร และร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้
พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 3 รวม 164 ปี 72 เดือน 240 วัน แต่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี ขึ้นไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี ดังนั้นให้จำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 50 ปี ริบของกลาง
ภายหลังนายกิจจา อาลีอิสเฮาะ ทีมทนายความจำเลย เปิดเผยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสามคน แต่ก็ถือว่าเป็นโทษที่ไม่สูงมากจนเกินไป สำหรับหรับคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งทนายเราได้ต่อสู้ว่าบุคคลตามภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวกล้องวงจรปิด ไม่ใช่จำเลยในคดีนี้ แต่ศาลไม่ได้รับฟัง หลังจากนี้ก็จะศึกษาคำวินิจฉัยของศาลเพื่ออุทธรณ์คดีต่อไป