เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #แดงเหลืองจับมือ ! เป็นคณะหลอมรวม หยุด 3 ป. จับตา30 ก.ย.

#แดงเหลืองจับมือ ! เป็นคณะหลอมรวม หยุด 3 ป. จับตา30 ก.ย.

18 September 2022
207   0

 

 

วันนี้ (18 ก.ย. 65) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ถ.ราชดำเนินกลาง คณะหลอมรวมประชาชน จัดงานเสวนา ‘นับหนึ่งประเทศไทย ด้วยอธิปไตยของปวงชน หลัง 30 กันยายน’ ถกมุมมองว่าด้วยการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดวันอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 30 ก.ย. ที่จะถึงนี้

โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมาย อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), ธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ บรรจง นะแส ตัวแทนของภาคประชาชน

เจษฎ์ โทณะวณิก เผยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 เป็นฉบับแรกที่เขียนเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งห้ามติดต่อกันเกิน 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี ภายหลังจึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นวาระดำรงตำแหน่งห้ามเกิน 8 ปี หากไม่มีข้อกำหนดก็อาจเกิดการผูกขาดอำนาจ รัฐประหารแล้วทหารก็ไม่ยอมไป เดือดร้อนประชาชนต้องรวมตัวประท้วงจนเกิดการสูญเสีย

อย่างไรก็ตาม การระบุถึงระยะการดำรงตำแหน่งก็ยังคลุมเครือว่าเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด เมื่อมีช่องว่างต้องตีความ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของประชาชน ก็สะท้อนว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้อยู่กับปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง วิธีแก้คือควรต้องสร้างกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อให้มีความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ

ด้านพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าวว่า ปกติอำนาจอธิปไตยของปวงชน แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง แต่ 8 ปีที่ผ่านมา ประชาชนเหมือนอยู่ในกรง โดยปี 2557 เหมือนอยู่ในห้องมืด พอมาถึง ปี 2560 ปรับเปลี่ยนเอากำแพงห้องมืดออกไป แต่ยังอยู่ในกรง โดยถูกขังด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 และมีบทเฉพาะกาลเป็นเครื่องมือในการหน่วงเหนี่ยวประชาชน นอกจากนี้จะเห็นบทบาทของ ส.ว. เป็นส่วนที่ทำให้กรงขังผนึกให้แน่นขึ้น เพราะเห็นได้ชัดว่าไม่เคยเห็นยกมือให้กับสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

พิชาย กล่าวต่อไปว่า ภายใต้ระบบที่กักขัง ยังมีช่วงที่ผ่อนคลายบ้าง ถ้าคนที่เป็นเจ้าของกรงหลุดจากอำนาจ ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ตนมองว่าทางเดียวในการแก้ไขปัญหานี้ได้ คือต้องร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก สิ่งที่น่าเสียใจคือ ส.ส.บางคนที่ประชาชนเลือกมาบางคน พรรคการเมืองบางพรรค เข้าไปสมทบกับแนวคิดที่กักขังไม่ให้ประชาธิปไตยเดินไปได้

ธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล มองว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น แตกต่างจากกฎหมายอาญา หรือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเสมือนข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม ดังนั้นไม่ว่าผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ควรต้องเป็นไปเพื่อความสงบสุขของประเทศชาติบ้านเมืองและสังคมเป็นหลัก จะต้องเอาความสงบในทางการเมือง ทางออกสำหรับประเทศเป็นหลัก

ธีรชัย ยืนยันว่า ยังมีความจำเป็นจะต้องนับ 1 ประเทศไทย ในวันที่ 30 ก.ย.ที่จะถึงนี้ เพราะจากพฤติกรรมตลอด 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเห็นว่ามีปัญหาหลายอย่าง ซึ่งหากไม่นับ 1 หาทางแก้ไขในวันนี้ จะทำให้สังคมยิ่งย่ำแย่ลงไป เพราะเป็น 8 ปีที่เลี้ยงเอาความขัดแย้งในทางการเมือง และทางสังคมเอาไว้ เหมือนกับเลี้ยงลูกบอล จากความขัดแย้งในแนวระนาบ เริ่มขยายไปสู่กลายเป็นความขัดแย้งในแนวดิ่ง จึงจำเป็นต้องเริ่มนับหนึ่งประเทศไทย

ด้าน บรรจง นะแส ระบุว่า เป็นความเจ็บปวดและฝังใจว่าการที่ประชาชนลุกขึ้นมาสู้แต่ละครั้งต้องแลกด้วยชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน มองว่าการเข้ามาของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยอยู่ข้างประชาชน แต่อยู่ข้างนายทุนมาโดยตลอด ความจริงที่เห็นได้ชัดคือนักการเมืองไม่เคยอยู่เคียงข้างประชาชน 7-8 ปี ที่ผ่านมา ชาวบ้านต้องสู้ด้วยตัวเอง

จากนั้น ตนได้มาติดตามการเคลื่อนไหวของ จตุพร พรหมพันธ์ และ นิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา เพื่อจับตาดูว่าคณะหลอมรวมประชาชน จะแก้โจทย์นี้ได้อย่างไร ตนมองว่า ต้องเอาโจทย์ปัญหาเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอา ‘ดารา’ เป็นตัวตั้ง เพราะดาราพูดอะไร มวลชนก็ทำตามนั้น แต่ไม่รู้ว่าดารารับโจทย์จาก พล.อ.ประยุทธ์ มาหรือเปล่า สำหรับคณะหลอมรวมประชาชน ต้องเอาหลักการมาเป็นตัวตั้ง ต้องตั้งเป้าหมายว่าหากวันนี้ปฏิรูปไม่ได้ไม่ว่าใครไล่ก็จะไม่กลับ

“…ขบวนการเคลื่อนไหวต้องมีข้อตกลงร่วม มาแทนดารา แทนกำนัน แทนอะไรก็แล้วแต่ ชาวบ้านมีบทเรียน ที่ตาย ที่เจ็บ ที่หลายๆ อย่าง ขอฝากคณะหลอมรวมประชาชน ด้วยความรักและห่วงใย ถ้าจะทำการนี้ต้องเอาให้ชัด และเอาให้จบ…” บรรจง กล่าว