เวลา12.00น. หน้ากองทัพบกได้มีประชาชนในนาม สมัชชาคนจนออกแถถลงการณ์เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์โดยในแถลงการณ์ได้ระบุไว้ว่า
แถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ ๑
คำแถลงนโยบายที่ย้อนแย้ง ไร้รูปธรรม และไร้ทิศทางการพัฒนาประเทศ ของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา
จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นำโดยพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ นั้น ล้วนมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคนโดยตรง
สมัชชาคนจนตั้งข้อสังเกตถึงความย้อนแย้ง และมีความเห็นต่อนโยบายต่าง ๆ ดังนี้
นโยบายที่ ๒. การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ เป็นเพียงนโยบายความมั่นคง เพื่อทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยและเขตแดน ในมิติทางการทหารอันคับแคบล้าหลัง โดยไร้การยึดโยงกับมิติความมั่นคงของมนุษย์ หรือภาคประชาชนซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งรัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องและแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะปัญหาปากท้องความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่กำลังคุกคามชีวิตของประชาชน อาทิ ปัญหาภาวะอดอยากยากจน ปัญหาความกดดันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือปกป้องประชาชนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ โดยการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ที่สำคัญอีกประการนอกเหนือจากการปกป้องคือ “การเสริมสร้างอำนาจ” ให้แก่ประชาชน แต่รัฐกลับไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายความมั่นคงของมนุษย์ กลับมุ่งเน้นเพียงความมั่นคงทางการทหาร ดังปรากฎชัดในข้อ ๒.๒ ที่มุ่งเน้นการสร้างอํานาจกําลังรบที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนให้เข้มแข็งผ่านการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังของภาครัฐตามมา แต่ไม่ก่อประโยชน์สาธารณะแก่ประชาชน ประกอบกับระยะเวลากว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยใช้กองกำลังทหารในการทำสงครามสู้รบกับประเทศใด ยกเว้นเพียงการปะทะขนาดเล็ก แต่ในทางกลับกันในเวลากว่า ๓๐ ปีนี้ มีการใช้กองกำลังทหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากถึง ๓ ครั้ง ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงกับบุคคลบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น แต่กับกลุ่มคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนา หรือแม้แต่เรื่องปากท้องนั้นกลับโดนคุกคาม สร้างความหวาดกลัวทั้งทำร้ายร่างกาย บังคับสูญหาย จากหน่วยงานความมั่นคงของรัฐซึ่งเป็นการลดความมั่นคงของมนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยในนโยบายนี้ก็ไม่มีมาตรการเพื่อเพิ่มความมั่นคงของมนุษย์ หรือคุ้มครองกลุ่มคนเหล่านี้แต่อย่างใด
นโยบายที่ ๓. การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เสมือนว่าจะเป็นนโยบายที่เปิดกว้างยอมรับและให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทย แต่ในข้อ ๓.๓ กลับระบุในเชิงบังคับว่าประเทศมีเพียงพุทธศาสนิกชนที่ต้องเข้าถึงแก่นแท้คําสอนของพระพุทธเจ้าและสามารถนํามาปฏิบัติในชีวิตประจําวันได้ ซึ่งละเลยการให้คุณค่าต่อศาสนาหรือความเชื่ออื่น ๆ อีกทั้งนโยบายนี้ยังไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ สังคม วัฒนธรรม เพื่อมาใช้ในการกำหนดนโยบายอย่างแท้จริง และเห็นค่าเป็นเพียงมูลค่าทางธุรกิจ และยังย้อนแย้งกับนโยบายข้อ ๒ และนโยบายข้อ ๓.๔ ยังย้อนแย้งกับข้อ ๓.๑ ที่ระบุว่าต้องปรับตัววัฒนธรรมให้เป็นสากลซึ่งข้อ ๓.๑ ระบุให้อนุรักษ์วัฒนธรรมเอาไว้ รวมถึงการจำกัดเสรีภาพของสื่อจากคำว่า กระตุ้นและสร้างความตระหนักของค่านิยมที่ดี และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นจากคำว่าการเปิดพื้นที่สาธารณะอย่างสร้างสรรค์นั้นสามารถตีความได้ว่าเป็นการจำกัดความคิดเห็นที่เห็นต่างกับผู้ที่เขียนนโยบายใช่หรือไม่..? เนื่องจากคำว่าสร้างสรรค์ เป็นเพียงคำพูดเชิงบวก ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการวิจารณ์เพื่อสะท้อนกลับความคิดเห็นอีกด้านของสังคมอย่างสร้างสรรค์อันเป็นพื้นฐานของการสร้างวัฒนธรรมอย่างมีอารยะและเป็นสากล
นโยบายที่ ๔. การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก นโยบายนี้ถือว่า ผิดหลักกฏบัตรของอาเซียน เพราะมีการพูดถึงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศอาเซียนที่ระบุไว้ว่าจะเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนในเรื่องของการเมือง และยังเหมือนเป็นการเน้นย้ำว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมตามสากลเพื่อเข้าสู่เวทีโลก และนโยบายนี้ควรระบุว่าต้องศึกษาผลกระทบต่อคนจนซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าแต่ละชนิดที่อยู่ในข้อตกลงทางความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ รัฐบาลต้องปกป้องผลประโยชน์ของคนในประเทศ ต้องมองปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน อย่ามองเพียงกลุ่มเศรษฐกิจบางกลุ่ม และในการสนับสนุนการขยายธุรกิจในสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพนั้นรัฐต้องมองตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิตและการบริการจนถึงปลายน้ำของการผลิตและบริการ อีกข้อที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ อาจมีการนำความมั่นคงของประเทศไปรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ตีความเพื่อใช้โจมตี หรือสกัดกั้นความเห็นต่าง ๆ ทางการเมือง ซึ่งเป็นมิติความมั่นคงทางการทหารเท่านั้น
รัฐบาลนี้มุ่งที่จะบทบาทในเวทีโลก แต่ละเลยบทบาทของรัฐในด้านสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม ด้วยมองว่าเป็นปัญหาสะสมทางรายได้ และเสี่ยงต่อสถานะความไม่สมดุลทางการคลัง และยังกล้ากล่าวอ้างในเวทีระดับโลกทั้งๆที่มีความพยายามในการยกเลิกระบบสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า ดังคำกล่าวชี้แจงช่วงท้าย นโยบายในข้อนี้จึงเป็นการย้อนแย้ง และไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน คนไทย
นโยบายที่ ๕. การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย นโยบายนี้ไม่มีการมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจไปในด้านใดด้านหนึ่งให้ชัดเจน และในข้อ ๕.๓ การพัฒนาภาคเกษตร ข้อ ๕.๓.๑ รักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและรายได้ให้กับเกษตรกรในสินค้าเกษตรสําคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสําปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด โดยผ่านเครื่องมือและมาตรการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นภาระกับงบประมาณแผ่นดินเกินสมควร ในข้อนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มองว่าภาคการเกษตรอาจก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังของภาครัฐทั้ง ๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีอาชีพเกษตรกรรมที่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศและเคยเป็นแหล่งส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก แต่รัฐไทยกลับไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการยกระดับคุณภาพเกษตรกร ซ้ำยังมองว่าอาจก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังของภาครัฐหากต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสม
นโยบายที่ ๖. การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค นโยบายนี้มีวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาเหมือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “โง่ จน เจ็บ” ต้องการกระจายความเจริญด้วยการเพิ่มรายได้โดยไม่สนใจผู้คนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจะอยู่อย่างไร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติจะเป็นอย่างไร มีแผนรองรับอย่างไร ระบบจัดการบริหารในขยะเป็นอย่างไร เป็นการส่งเสริมให้กลุ่มทุนเข้าถึงทรัพยากร และบีบรัดคนจน คนในชนบทให้ไม่สามารถอยู่ในที่ดินของตนเอง ทำให้คนจนต้องเป็นผู้เสียสละ แบกรับต้นทุนทางสังคมให้แก่นายทุน อีกทั้งยังมีความย้อนแย้งในการแก้ไขปัญหา เช่น ส่งเสริมการการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นโยบายที่ ๗. การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก นโยบายนี้ไม่ตอบโจทย์การเข้าถึงทรัพยากร หรือทุนต่างๆในการใช้ชีวิตของคนจน ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งจากฐานราก เพียงแต่เป็นการผลักภาระให้ประชาชนในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้วยตนเอง นโยบายนี้จึงเป็นการออกมาเพียงให้ประชาชน คนจนต้องต้องเข้มแข็งให้ได้เป็นฐานและเป็นผู้เสียสละให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนตามที่นโยบายกล่าวอ้าง
นโยบายที่ ๘. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยในทุกช่วงวัย นโยบายขาดการให้อำนาจภาคประชาชนอันหมายถึง เด็ก พ่อแม่ / ผู้ปกครอง และชุมชนในการเข้ามามีบทบาทในการบริหารการศึกษาทั้ง ๆ ที่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังปรากฎใน ข้อ ๘.๖.๑ รวมไปถึงนโยบายครอบงำความคิดและจำกัดเสรีภาพทางการเรียนรู้ในข้อ ๘.๖.๕ ซึ่งรัฐต้องมีนโยบายเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อก่อให้เกิดสังคมของการคิดวิเคราะห์และแยกแยะ แต่รัฐกลับมีนโยบายที่ครอบงำซึ่งเป็นนโยบายที่ย้อนแย้งกันเอง ซ้ำร้ายยังมีการลงโทษผู้ละเมิดบรรทัดฐานหากไม่ทำตามสิ่งที่รัฐปลูกฝังซึ่งเสมือนเป็นเผด็จการทางการศึกษาที่ไม่เคารพความหลากหลายของประชาชนที่มีสิทธิจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ตามเจตจำนงของตนเอง
นโยบายที่ ๙. การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม การพัฒนาระบบสาธารณสุขต้องผลักดันรัฐสวัสดิการและให้หลักประกันสุขภาพควรเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนเข้าถึง การที่ภาครัฐไม่สามารถจัดการเรื่องบุคลากร เครื่องมือ ให้ทั่วถึงนั้นส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสู่สุขภาพของประชาชนนำไปสู่ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรจัดการให้ได้ แต่นโยบายนี้กับมีการใช้คำที่คลุมเคลือเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพของตนเอง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำและเพิ่มภาระให้กับประชาชน โดยเป็นการบีบให้คนจนที่ไม่สามารถแบกภาระได้ต้องไปใช้การรักษาแบบอนาถา
นโยบายที่ ๑๐. การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน นโยบายนี้ไม่ได้ระบุถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้ามาแก้ปัญหาทรัพยากรรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้ง ป่า ที่ดิน น้ำ แร่ และทรัพยากรทางทะเล เหมือนเป็นการอุปมาได้ว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการต่าง ๆ เป็นการรวมศูนย์อำนาจ โดยจะเห็นว่าในนโยบายนี้ไม่ระบุว่าจะมีการแก้ไขข้อพิพาทป่าไม้ ที่ดินอย่างไร มีแต่การพูดถึงการกระจายการถือครองที่ดินทั้งที่รัฐไปเพิ่มมูลค่าที่ดินจากการพัฒนาจนคนจนไม่สามารถเข้าถึงได้
นโยบายนี้จะเข้าไปใช้พื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแร่ตามเขตแหล่งแร่ โดยชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วม และไม่ได้มีมาตรการในการจัดการผลกระทบ จากการทำเหมืองซึ่งต้องส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างแน่นอน
ทรัพยากรน้ำจะถูกทำให้เป็นสินค้า เป็นมูลค่า ทำให้คนที่มีเงินสามารถเข้าถึงน้ำได้มากกว่า การเข้าถึงทรัพยากรน้ำจะมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และการจัดการน้ำของชุมชนที่ระบุไว้เป็นการบริหารการจัดการน้ำแบบ
แยกส่วน ทำให้เกิดปัญหาที่ผิดพลาดอย่างที่ผ่านมา โดยจากที่กล่าวมาการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมจากนโยบายนี้จึงไม่สามารถเกิดขึ้นจริง
นโยบายที่ ๑๑. การปฏิรูปการบริหารการจัดการภาครัฐ นโยบายนี้เป็นเพียงการเน้นการกระจายอำนาจในเรื่องการบริการสาธารณะ แต่เป็นการดึงอำนาจการบริหารประเทศมารวมศูนย์ในรัฐส่วนกลางแบบคอขวด ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที การที่ทำแบบนี้ไม่เรียกว่าการปฏิรูปไปข้างหน้าแต่เป็นการบริหารที่ถอยหลังกลับไปก่อนรัฐธรมนูญมูญ ปี ๒๕๔๐ เมื่อเป็นเช่นนี้จะเกิดการปิดบังข้อมูลมากขึ้น ประชาชนที่จะตรวจสอบการทำงานของภาครัฐจะสามารถทำได้อย่างยากลำบาก เพราะระบบราชการมีอำนาจในการบริหารประเทศมากเกินไป
นโยบายที่ ๑๒. การป้องกันและการปราบปรามการทุจริตและประพฤติ มิชอบ และกระบวนการยุติธรรม
นโยบายการเปิดเผยข้อมูลไม่ได้มีสาระว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างไร มีเพียงการระบุว่าจะเปิดเผยสถานการณ์ของข้อมูล ไม่ได้ระบุว่าจะเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูล ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงและเฝ้าระวังตามที่กล่าวอ้างในนโยบายเป็นบทสะท้อนของการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นปัญหา ส่วนในเรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้น คนจนไม่มีทางได้ความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากนโยบายนี้ไม่ได้บอกว่าจะลดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจน เพราะในความเป็นจริงกระบวนการยุติธรรมนั้นมีค่าใช้จ่ายในการสู้คดีสูงจนคนจนไม่สามารถแบกภาระได้
นโยบายเร่งด่วน ๑๒ ข้อนี้ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเร่งด่วน มีเนื้อหากว้างเกินไป เป็นการย่อยนโยบายหลัก ๑๒ ข้อมาจัดหมวดหมู่ ไม่มีลำดับการทำงานว่าอันไหนสำคัญกว่ากัน ไม่มีแผนการทำงานที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน และต้องทำได้ภายในระยะเวลา ๑ ปี โดยข้อเท็จจริงแล้วนโยบายเร่งด่วนดังกล่าว ควรจะมีการวางแผนอย่างชัดเจนแล้วเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามได้อย่างทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ไม่ได้มีระบุไว้เลยจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร หรือพื้นที่เขื่อนที่ใช้เป็นแหล่งผลิตน้ำประปา ไฟฟ้านั้น ขาดแคลนน้ำอย่างมากก็ไม่ได้มีการระบุการแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นความมั่นคงของประชาชน
หากกล่าวโดยสรุปแล้ว คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดยพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นถึง นโยบายที่ไร้ทิศทางการพัฒนาประเทศ ย้อนแย้งกันเองในแต่ละนโยบาย และไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้ ซึ่งรัฐบาลพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา จะต้องระบุให้ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะมีทิศทางการพัฒนาไปในทิศทางใด รูปธรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ประชาชนอยู่ตรงไหน และจะได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายเหล่านี้ เช่น การพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม หรือ การพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศเกษตรกรรม หรือ การพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศท่องเที่ยว เป็นต้น การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน จะทำให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายด้านต่างๆ ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเห็นผู้รับผิดชอบและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและสร้างความอยู่ดีกินดีของประชาชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่มั่นคง และเกิดความยั่งยืนของประชาชนต่อไป
จากเหตุและผลที่กล่าวมาข้างต้น สมัชชาคนจน จึงไม่เชื่อมั่นว่า นโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือนร้อน สร้างความอยู่ดีกินดีของประชาชน และพัฒนาประเทศให้มั่นคงและยั่งยืนได้
ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน
สมัชชาคนจน
๒๗ กฎราคม ๒๕๖๒
สำนักข่าววิหคนิวส์