แบงก์ชาติประกาศไม่ปิดกั้นการลดดอกเบี้ยนโยบาย ชี้หากเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด–ปัจจัยภายนอกกดดันก็พร้อมลดดอกเบี้ย ชี้ความเสี่ยงครึ่งปีหลังสงครามการค้าสหรัฐกับจีน–ความล่าช้างบประมาณรัฐเป็นปัจจัยกดดัน ชูโครงการอีอีซีเป็นความหวังดึงการลงทุนดันเศรษฐกิจไทยโต
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ธปท.ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2562 ลงจาก 3.8% มาอยู่ที่ 3.3% เนื่องจากผลกระทบเชิงลบทั้งภายนอกและภายในประเทศที่เข้ามากระทบ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นระดับการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำ แต่มองว่าสถานการณ์ยังไม่เลวร้ายนัก โดยชี้ว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลในเดือน พ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 0.9% ซึ่งสะท้อนว่าตลาดแรงงานยังขยายตัวได้ดี และมีการจ้างงานที่ยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง
ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น ชี้แจงว่า ธปท.ไม่ได้ปิดกั้นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนได้ตามเศรษฐกิจโลก แม้จะคาดกาณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป หรือในปี 2563 จะกลับมาเติบโตที่ระดับ 3.7% ได้ก็ตาม ดังนั้น อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ไปตามทิศทางของเศรษฐกิจโลกด้วย
ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ มองว่าการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายชะลอตัวลงนั้น เป็นผลพวงจากปัจจัยภายนอกประเทศเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ทำให้การส่งออกสินค้าหดตัว เนื่องจากความต้องการสินค้าในโลกชะลอลง นอกจากนี้ยังมีความกังวลเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงอีกด้วย ล่าสุด แม้ว่าปัจจุบันสงครามการค้าฯ จะผ่อนคลายลงมาบ้างแล้ว แต่คาดว่าตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยปี 2562 อาจมีโอกาสจะติดลบจาก ธปท.คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตที่ 0%
ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ จากการที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 จะออกมาล่าช้ากว่าที่กำหนดถึง 4 เดือน โดยจะส่งผลให้งบประมาณในส่วนของการลงทุนใหม่ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ และคาดว่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเช่นกัน ส่วนของภาคการท่องเที่ยวไทย ชี้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมายังขยายตัวได้ไม่ดีนัก โดยเป็นผลพวงจากอุบัติเหตุเรือร่มในภาคใต้ ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนที่ผ่านมายังเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะแผ่วลง โดยสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่างๆ รวมถึงการเลิกจ้างงานในภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าฯ ก็เป็นอีกแรงที่กดดันการบริโภคของภาคเอกชน
ส่วนเครื่องยนต์ในประเทศตัวสุดท้าย คือ การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะชะลอลงตามการส่งออกสินค้าที่หดตัวเช่นกัน แต่เชื่อว่าในระยะถัดไปจะขยายตัวได้ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป ได้แก่ การลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การลงทุนในโครงข่าย 5G และการย้ายฐานการผลิตจากผลของมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน โดยเฉพาะอีอีซี เชื่อว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไทยและจะดึงดูดการลงทุนได้ เนื่องจากประเทศไทยขาดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่มานาน อีกทั้งอีอีซียังเป็นโครงการที่มีความโดดเด่นหรือสามารถเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเซียได้ รวมถึงรัฐบาลและรัฐบาลฝ่ายค้านมีท่าทีเชิงบวกต่อโครงการดังกล่าวด้วย จึงคาดว่ามีโอกาสที่โครงการจะได้สานต่อในรัฐบาลใหม่ต่อไป
Cr.ประชาชาติธุรกิจ
สำนักข่าววิหคนิวส์