ทำความรู้จัก “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และปัจจุบันมีทรัพย์สินใดอยู่ในความดูแลบ้าง ?
ชวนทำความรู้จัก “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” หรือชื่อก่อนหน้านี้ที่หลายคนอาจคุ้นหูมากกว่าอย่าง “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” คืออะไร? มีความเป็นมาอย่างไร?
.
หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นรองผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ในการบริหารกิจการของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หน่วยงานดังกล่าว จึงกลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง
.
ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่ระบุบนเว็บไซต์ http://www.crownproperty.or.th ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ 173 ถนน นครราชสีมา ดุสิต กรุงเทพฯ 10300 ว่า จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่จัดการ ดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามที่จะทรงมอบหมาย โดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2561
.
แม้ตามกฎหมาย สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จะได้รับการจดทะเบียนในฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 ก็ตาม แต่ที่จริงแล้ว หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่จัดการ ดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเคียงคู่ประวัติศาสตร์ชาติไทยตั้งแต่สมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ทรัพย์สินในราชอาณาจักรไทยเป็นของพระมหากษัตริย์
.
● การจัดการทรัพย์สิน “พระมหากษัตริย์” มีตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (The Crown Property Bureau) ระบุว่า การบริการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการปกครองในระบอบที่มีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีวิวัฒนาการเคียงคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาโดยตลอด นับตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยยังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรัพย์สินในราชอาณาจักรไทยเป็นของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงอยู่ในฐานะพระเจ้าแผ่นดินแต่เพียงพระองค์เดียว
.
อย่างไรก็ตาม พระมหากษัตริย์ไทยทรงพยายามแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินแผ่นดิน โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 การค้าขายกับต่างประเทเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก จึงได้ทรงเก็บสะสมกำไรที่ได้จากการค้าสำเภา ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไว้ในถุงผ้าสีแดง และเรียกกันว่า “เงินถุงแดง” ไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม เรียกว่า “เงินข้างที่”
.
ต่อมาเงินมีจำนวนมากขึ้น ก็เก็บไว้ในห้องข้างๆ ที่บรรทม จึงเรียกว่า “คลังข้างที่” โดยได้พระราชทานให้ไว้เป็นทุนสำรองให้แก่แผ่นดินสำหรับใช้ในยามบ้านเมืองเกิดภาวะคับขัน
และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เกิดเหตุวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2426) ที่สยามเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส จึงได้นำเงินถุงแดงมาสมทบ เพื่อเป็นการชดใช้ค่าเสียหายและค่าประกันแก่ฝรั่งเศสจนสามารถรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้ได้
.
●สมัย ร.5 แยก “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ออกจาก “ทรัพย์สินของแผ่นดิน” เด็ดขาด
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยุคแห่งการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูประบบการคลังใหม่ และมีการจัดทำ “งบประมาณแผ่นดิน” เป็นครั้งแรก เพื่อให้รายรับและรายจ่ายของแผ่นดินเป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผน ซึ่งการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ได้มีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดินอย่างเด็ดขาด
.
โดยทรงมอบหมายให้ “กรมพระคลังข้างที่” เป็นผู้จัดการดูแลพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เมื่อรายได้ของแผ่นดินมากขึ้น เนื่องมาจากการปฏิรูปทางการเงินในปี พ.ศ.2433 ซึ่งมีการจัดตั้ง “กระทรวงการคลัง” ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ส่งผลให้จำนวนเงินที่ได้รับการจัดสรรของกรมพระคลังข้างที่ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
.
●จุดเริ่มต้นการลงทุนใน “อสังหาริมทรัพย์”
ในช่วงแรก รายได้ของกรมพระคลังข้างที่ นำไปเป็นค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาพระราชวัง และค่าใช้จ่ายในการเสด็จไปทรงศึกษาต่อยังต่างประเทศของพระราชโอรสเป็นหลัก เมื่อรายได้มากขึ้นจึงมีเงินเหลือจ่ายจากค่าใช้จ่ายดังกล่าว จึงเกิดการริเริ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนและให้โอกาสในการทำการค้าขาย
นอกจากนี้เมืองสำคัญในต่างจังหวัดยังได้มีการสร้างตลาดขึ้น เพื่อนำค่าบำรุงตลาดไปใช้ในการพัฒนาระบบสุขาภิบาลและสาธารณูปโภคพื้นฐานในเขตศูนย์กลางเมืองใหม่เหล่านี้ ควบคู่พร้อมไปกับการตัดถนนของกระทรวงโยธาธิการ ดังที่กล่าวข้างต้นนี้ ถือได้ว่าเป็นรากฐากของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน
.
●”สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ปัจจุบันในฐานะ “นิติบุคคล”
ตามประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงจากเว็บไซต์สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้ระบุถึงประวัติของ “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ว่า มีจุดเริ่มต้นมาจาก “กรมพระคลังข้างที่” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ตามความในพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479
ต่อมามีการปรับปรุงและยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ อีก 3 ครั้ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมจนกระทั่งล่าสุดได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ตามความใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่จัดการ ดูแล รักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามที่จะทรงมอบหมาย
.
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 4 ประเภท
ขณะที่ข้อมูลในหนังสือทรรศนียาคาร อาคารอนุรักษ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีการแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
.
– พระราชวังและวัง (Palaces) ประกอบด้วย
————————————–
1.พระราชวังดุสิต
• พระที่นั่งนงคราญสโมสร (สวนสุนันทา พระราชวังดุสิต)
• พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
• ตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
• ตำหนักพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
• ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา
• ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี
• ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ
2.วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (วังถนนพระอาทิตย์)
3.วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดวิศิษฎ์
4.วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
5.วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
6.วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (วังลดาวัลย์)
7.วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี
8.วังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช (วังบางพลู)
9.วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร (วังวาริชเวสม์)
10.วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา
11.วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยาลังการ
12.วังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์
13.วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์
.
– บ้าน (Residences)
——————
1.เรือนเจ้าจอมมารดาเลื่อน ในรัชกาลที่ 5
2.เรือนท้าววรคณานันท์ (เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ปั้ม มาลากุล)
3.เรือนท้าวทรงกันดาล (หม่อมราชวงศ์ปุย มาลากุล)
4.บ้านหลวงจิตร์จำนงวานิช (ถมยา รงควณิช)
5.บ้านพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ถวิล อมาตยกุล)
6.บ้านพระยาศรีธรรมาธิราช (เจิม บุณยรัตพันธุ์)
7.เรือนพระอัศวิน
8.บ้านหลวงสุนทรนุรักษ์ (กระจ่าง วรรณโกวิท)
9.บ้านเลขที่ 1 ตรอกกัปตันนุช
10.บ้านเลขที่ 1 ซอยสามเสน 22
11.ทำเนียบท่าช้าง
12.บ้านพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค)
.
– ตึกแถว (Shophouses)
———————-
1.ตึกแถวถนนแพร่งนรา
2.ตึกแถวถนนแพร่งภูธร
3.ตึกแถวถนนสระสรง ถนนลงท่า
4.ตึกแถวสี่กั๊กพระยาศรี
5.ตึกแถวถนนหน้าพระลาน
6.ตึกแถวท่าช้างวังหลวง
7.นึกแถวตลาดท่าเตียน
8.ตึกแถว 9 ห้อง ถนนพระอาทิตย์
9.ตึกแถวโค้งถนนพระอาทิตย์
10.ตึกแถวหมู่บ้านช่างคาด แขวงคลองมหานาค
11.ตึกแถวหมู่บ้านช่างคาด แขวงบ้านบาตร
12.ตึกแถวตลาดนางเลิ้ง
13.ตึกแถวบริเวณโค้งเทวสถาน
.
– อาคารสาธารณะ (Public Buildings)
———————————-
1.ห้างยอนแซมสัน
2.ห้างทองตั้งโต๊ะกัง
3.ห้างเอสเอบี
4.ห้างเอสอีซี
5.โรงแรมโอเรียนเต็ล
6.ศาลาเฉลิมกรุง
7.อาคารถนนราชดำเนินกลาง
• โรงแรมรัตนโกสินทร์
• โรงแรมสุริยานนท์
• กลุ่มอาคารถนนราชดำเนินกลาง
• กลุ่มอาคารบริเวณสี่แยกคอกวัว
8.ที่ว่าการมณฑลปราจีน
9.ศาลประจำมณฑลปราจีน
10.ที่ทำการไปรษณีย์มณฑลปราจีน
11.ประภาคารบางปะอิน
12.ที่ทำการประปาแม้นศรี
.
สำหรับ “อสังหาริมทรัพย์” ในความดูแลของ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย ส่วนกลาง และภูมิภาค ดังนี้
อสังหาริมทรัพย์ ในความดูแลของ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ส่วนกลาง
สำหรับ “อสังหาริมทรัพย์” ในความดูแลของ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ส่วนกลาง แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
.
1.โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่
——————————
•โครงการซอยเลื่อนฤทธิ์ ตั้งอยู่บนถนนเยาวราช แยกวัดตึก พื้นที่ประมาณ 7 ไร่
•อาคารหน้าพระลาน
•อาคารถนนบ้านหม้อ 18 คูหา
•อาคารริมถนนพระอาทิตย์ 34 คูหา
•อาคารท่าช้างวังหลวง 34 คูหา
•อาคารตลาดท่าเตียน 55 คูหา
•เรือนพระยาศรีธรรมาธิราช
•ชุมชนวัดทองนพคุณ (บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 17)
•อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์
.
2.โครงการพัฒนาพื้นที่ด้านสังคม
•คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา
.
3.การเปิดประมูลการเช่าอสังหาริมทรัพย์
.
อสังหาริมทรัพย์ ในความดูแลของ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ส่วนภูมิภาค ได้แก่
1. นครปฐม
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดนครปฐม (ตลาดบน-ตลาดล่าง)
•ตลาดสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดนครปฐม (ตลาดท่านา)
.
2. ฉะเชิงเทรา
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดชลบุรี (ตลาดบน)
•การพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์เชิงสังคม สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อจัดตั้งคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา และร้านโกลเด้น เพลซ (Golden Place) สาขาฉะเชิงเทรา
.
3. พระนครศรีอยุธยา
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ตลาดหัวรอ)
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ตลาดบางปะอิน หรือตลาดใน)
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
4. นครสวรรค์
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดนครสวรรค์
5. ลำปาง
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดลำปาง (ตลาดราชวงศ์)
•ศูนย์สุขภาพเวลเนส เซ็นเตอร์ ลำปาง สนับสนุนโครงการโดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
6. เพชรบุรี
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดเพชรบุรี (ตลาดสดริมน้ำ และตลาดอุปโภค)
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดเพชรบุรี (ตลาดอนามัย)
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดราชบุรี
7. สงขลา
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดสงขลา
•ตลาดสดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ตลาดท่าม้า)
——————————-
แหล่งข่าว
– https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/908872?anf=