เมื่อวันที่ 10 มี.ค. พ.อ.นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ อดีตศัลยแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Tavatchai Kanchanarin ตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะของแผลที่เกิดจากการโดนใบพัดเรือ โดยได้ระบุข้อความว่า
“บาดแผลที่เกิดจากใบพัดเรือขณะกำลังหมุนจะมีลักษณะฉีกขาด (lacerations) หลายแผล (multiple) ลึก และขนานกัน (parallel) ใบพัดสามแฉกซึ่งหมุน 3,200 รอบต่อนาที กระทบร่างกาย 9,600 ครั้งต่อนาที หรือ 160 ครั้งต่อวินาที
งานวิจัยจำนวนมากบรรยายถึงบาดแผลจากใบพัดเรือในทำนองเดียวกัน น้อยมากที่จะเจอแผลเดียวไม่ลึก เห็นมีอยู่รายหนึ่ง (วงกลมสีเหลือง) เป็นแผลเดียวที่เท้า เอ็นไม่ขาด แต่รายนั้นก็เกิดจากลื่นแล้วไปสะดุดใบพัดเรือซึ่งจอดอยู่บนบก”
และล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มี.ค. พ.อ.นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความอีกครั้งเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางน้ำจากเรือสปีดโบ๊ต ซึ่งมีใจความว่า
“ในต่างประเทศ อุบัติเหตุทางน้ำจากเรือสปีดโบ๊ตพบได้บ่อย จึงมีการศึกษาอุทกพลศาสตร์ของอุบัติเหตุที่เกิดจากเครื่องใบพัดเรือ (hydrodynamics of propeller accidents) ซึ่งที่รุนแรงมาจากใบพัดเรือ (propeller blade) เป็นส่วนใหญ่
ใบพัดเรือ มีกลีบใบพัด ซึ่งบิดเกลียว เวลาหมุนเกิดโมเมนต์และแรงหลายทิศทาง ไม่เหมือนใบเลื่อยวงกลม แผลที่เกิดจากใบพัดเรือจึงมีลักษณะ multiple, deep, parallel
พลังงานจลน์ แปรผันตามมวลและความเร็วยกกำลังสอง ความรุนแรงของการบาดเจ็บจากโดน propeller blade ซึ่งความเร็วของใบพัดหมุนสูงมาก จึงรุนแรงกว่าโดน SKEG ซึ่งความเร็วเท่ากับความเร็วของเรือ
มีบางคนบอกว่า แผลต้นขาข้างขวา อาจเกิดจากชนกับ SKEG ไม่ได้โดนใบพัด จากลักษณะบาดแผลฉีกขาด (laceration) อยู่ทางด้านใน (medial) ของต้นขาขวา (thigh) ด้านหน้า (anterior) ทอดยาว vertical กับความยาวร่างกาย วัตถุที่มากรีดกระทบก็ต้องเป็นแนว vertical (หัวไปเท้า หรือ เท้าไปหัว) ถ้าบอกว่าแผลอาจเกิดจาก SKEG ก็มีข้อสงสัยตามมาคือ
1. SKEG มีความคมมากขนาดไหน ถึงเกิดแผลฉีกขาด (laceration) โดยไม่ช้ำ (contusion)
2. ต้องอยู่ในท่าไหน ถึงเกิดแผลด้านในขาขวาแนวยาว
ตอนทำแผนจำลองเหตุการณ์ คนนั่งปัสสาวะ ด้านซ้ายของท้ายเรือ (เครื่องยนต์อยู่ทางขวาของคน) หันหน้าไปหัวเรือ ถ้าเสียหลักตกลงมา ถึงหล่นเอียงไปทางขวาสุดโดนเครื่องยนต์ ส่วนของร่างกายที่อาจจะโดนใบพัดได้ คือ right, lateral ไม่น่าโดน SKEG ถ้าตกจากเรือด้านข้าง หรือด้านหน้า แล้วจะต้องหลุดไปชน SKEG ซึ่งอยู่กลางท้ายเรืออย่างไรจึงจะเกิดแผลดังกล่าว โดยส่วนอื่นของร่างกายไม่กระแทกกับท้องเรือ
ถ้าไม่มีวิดีโอบันทึกภาพเหตุการณ์ชัดๆ สาเหตุบาดแผลเกิดจากอะไร? นอกจากการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์แล้ว ยังต้องอธิบายได้ด้วยกลไกการบาดเจ็บ (mechanisms of injuries) ถึงจะหายสิ้นข้อสงสัย
หลังเกิดเหตุไม่ได้อายัดวัตถุพยานทันที ผู้เกี่ยวข้องได้แวะกลับไปที่เรือในคืนนั้น อู่เก็บเรือก็ไม่มีภาพวงจรปิด การตรวจเรือทางนิติวิทยาศาสตร์ในภายหลัง ยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น”