ข่าวประจำวัน » อาชญากรรม » #แม่ 2 วิศวกร เหยื่อสร้างอุโมงค์แม่งัด ฟ้องอิตาเลียนไทย เรียกค่าเสียหาย

#แม่ 2 วิศวกร เหยื่อสร้างอุโมงค์แม่งัด ฟ้องอิตาเลียนไทย เรียกค่าเสียหาย

18 January 2018
749   0

ต้องรับผิดชอบ!! ญาติ 2 วิศวกรเหยื่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนแม่งัดไปเขื่อนแม่กวงถล่มทับเสียชีวิตเดินทางฟ้องศาลเชียงใหม่เรียกค่าเสียหายกับบริษัทอิตาเลี่ยนไทย 46 ล้าน ศาลนัดไกล่เกลี่ย 19 มี.ค.61

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 ม.ค.61 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นางเพ็ญจันทร์ วสุอนันต์ อายุ 49 แม่ของนายปรัชญาวัต วสุอนันต์ และนางอรทัย ศิริวัฒน์ อายุ 53 แม่ของนายปฐมพร ศิริวัฒน์ สองวิศวกรควบคุมการก่อสร้างการเจาะอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนแม่งัดไปยังเขื่อนแม่กวง และได้เกิดอุโมงค์ถล่มลงมาทับร่าง 2 วิศวกร เป็นนักธรณีวิทยาของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสียชีวิตคาที่ เหตุเกิดสถานที่ อุโมงค์ส่งน้ำ หมู่ 1 ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เมื่อเช้าวันที่ 2 มีนาคม 2560 หลังจากเกิดเหตุ ทางญาติผู้เสียชีวิตและบริษัทนายจ้างไม่สามารถตกลงค่าเสียหายในทางแพ่งกันได้

จนวันนี้ทางญาติได้มอบให้ทนายความเดินทางมายื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นฟ้องต่อบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1 นายสุดเขตต์ ดอกจันทร์ เป็นจำเลยที่ 2 และนายยุทธพงษ์ คงรอด เป็นจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย จำนวน 46,879,607 บาท ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ประทับรับฟ้องไว้ เป็นคดีดำที่ พ.72/2561 และนัดให้คู่กรณีทั้ง 2 มาเข้าสู่ขบวนการไกล่เกลี่ย ในวันที่ 19 มี.ค.2561

ด้านน.ส.สินีพร พันธวงค์ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากเกิดเหตุ ทางบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมา และนายจ้างได้สรุปสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุว่า สาเหตุมาจากเหตุสุดวิสัยและได้เยียวยาให้ญาติมาจัดค่าทำศพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และทางญาติติดใจว่าการเกิดอุบัติเหตุไม่น่าจะเกิดเหตุสุดวิสัยเพราะมีหลักฐานและข้อบ่งชี้ชัดเจน เพราะว่าบริษัทรับเหมารายใหญ่ขณาดนี้ ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงกว่านี้ ความเสี่ยงต้องมีการป้องกัน ทางทีมทนายและญาติมั่นใจว่าเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จึงได้มายื่นฟ้องต่อศาลในวันนี้

อย่างไรก็ตาม อุโมงค์ที่เกิดเหตุนั้น เป็นโครงการก่อสร้าง อุโมงค์ผันน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล – เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขนาดความกว้าง 4.2 เมตร ยาว 22.975 กม. ปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 26.50 ลบ.ม.ต่อวินาที ได้แบ่งสัญญาออกเป็น 2 สัญญา เนื่องจากอุโมงค์มีความยาว โดยสัญญาแรกนั้นวงเงินสัญญา 2,334,600,000 บาท เริ่มสัญญา 24 มีนาคม 2558 – 18 สิงหาคม 2564 สำหรับวิธีการก่อสร้าง จะใช้ระบบเจาะและระเบิด ในการขุดเจาะอุโมงค์ ความยาว 12.500 กม. ใช้เวลาก่อสร้าง 2,340 วัน และสัญญาที่ 2 วงเงินสัญญา 1,880,800,000 บาท เริ่มสัญญา 28 เมษายน 2558 – 6 เมษายน 2562 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,440 วัน ใช้เครื่องเจาะอุโมงค์ ความยาว 10.476 กม. โดยใช้พื้นที่ใต้ดินอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ทั้งหมด 41 ไร่ รวมงบประมาณที่ใช้ทั้งหมด 4,215,400,000 บาท ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า งบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในการสร้างอุโมงค์ผันน้ำทั้ง 2 ช่วง ใช้งบประมาณ 11,515,400,000 บาท โดยจะเสร็จสมบูรณ์

Cr:thairath

สำนักข่าววิหคนิวส์