สันติสุขประเทศไทย
14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก วันที่ทุกคนจะมอบความรักให้กันและกันเป็นพิเศษ ที่มาของความเชื่อนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ สมัยจักรวรรดิโรมัน ซึ่งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันเฉลิมฉลองของจูโน่ ซึ่งเป็นราชินีแห่งเหล่าเทพและเทพธิดาของโรมัน ชาวโรมันรู้จักเธอในนามของเทพธิดาแห่งอิสตรีและการแต่งงาน และในวันถัดมาคือ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ก็จะเป็นวันเริ่มต้นงานเลี้ยงของเด็กหนุ่มและเด็กสาว ต่อมาใน รัชสมัยจักรพรรดิคลอดิอัส ที่ 2 (Emperor Claudius II) แห่งกรุงโรม ที่มีกษัตริย์ ใจคอดุร้ายและทรงนิยม การทำสงครามนองเลือด และทรงห้ามการจัดพิธีหมั้นและแต่งงานกันในโรมโดยเด็ดขาด
โดยขณะนั้นมีนักบุญรูปหนึ่งชื่อว่า “เซนต์วาเลนไทน์” หรือ “วาเลนตินัส” ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงโรม ได้ร่วมมือกับ เซนต์มาริอัส จัดพิธีแต่งงานให้กับ ชาวคริสต์หลายคู่ ด้วยความปรารถนาดีของท่านนี้เอง จึงทำให้เขาถูกตัดสินประหารชีวิตโดยเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ก่อนที่เขาจะถูกประหารชีวิตเซนต์วาเลนไทน์ ได้ตกหลุมรักหญิงสาวที่เป็นลูกสาวของผู้คุมที่ชื่อว่า “จูเลีย” ซึ่งได้มาเยี่ยมเขาระหว่างที่ถูกคุมขัง ในคืนก่อนที่วาเลนไทน์จะถูกประหารชีวิตนั้น เขาได้ส่งจดหมายฉบับสุดท้ายถึงจูเลีย อันเป็นที่รัก โดยลงท้ายว่า “From Your Valentine”
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 ( วันวาเลนไทน์) หรือ พ.ศ.813 ราว 1,738 ปี หลังจากนั้นศพของเขาได้ถูกเก็บไว้ที่ โบสถ์พราซีเดส (Praxedes) ณ กรุงโรม ซึ่ง จูเลีย ได้ปลูกต้นอามันต์ หรืออัลมอลต์สีชมพู ไว้ใกล้หลุมศพของเซนต์วาเลนไทน์ หรือ วาเลนตินัส แด่ผู้เป็นที่รักของเธอ โดยในทุกวันนี้ ต้นอามันต์สีชมพู ได้เป็นตัวแทนแห่งรักนิรันดรและมิตรภาพ อันสวยงาม และคำนี้ก็เป็นคำที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าเบื้องหลังความเป็นจริงของวาเลนไทน์จะเป็นตำนานที่มืดมัวแต่เรื่องราวยังคงแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกสงสาร ความกล้าหาญและที่สำคัญที่สุดเป็นเครื่องหมายของความโรแมนติค จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า ในช่วงยุคกลางวาเลนไทน์เป็นนักบุญ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในอังกฤษและฝรั่งเศส ต่อมาพระในนิกายโรมันคาทอลิกจึงเลือกให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความรักและดูเหมือนว่ายัง คงเป็นธรรมเนียมที่ชายหนุ่มจะเลือก หญิงสาวที่ตนเองพึงใจใน วันวาเลนไทน์ สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับประเทศไทยที่ได้รับอิทธิพลในวันแห่งความรักมา จึงอาศัยวันนี้เป็นวันเริ่มต้นแห่งความรัก ความสามัคคี ความปรองดอง รู้รักสามัคคี ดั่งพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงสืบทอดมาจวบจนในรัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยกลับมารักกัน เลิกการแตกแยกแบ่งสี แบ่งพรรค พวก เป็นสยามเมืองยิ้มดังเดิม
ในพระราชประวัติของการตั้งกรุงรัตนโกสิน รัชกาลที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นครองราชย์ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สิ้นสุดการครองราชย์ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ครองราชย์ 27 ปี ที่ปราบดาภิเศกเป็นปฐมแห่งราชวงค์จักรี ทรงสร้างกรุงเทพฯ “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์”
ตลอดช่วงรัชสมัยนอกจากจะทรงเป็นองค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระราชกรณียกิจของพระองค์ยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริง ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 2325 และทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในปีเดียวกัน ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การชำระพระไตรปิฎก และการบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ รวมทั้งนำพาชัยชนะแห่งสงครามเก้าทัพมาสู่สยามอีกด้วย
รัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เสด็จขึ้นครองราชย์ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 สิ้นสุดการครองราชย์ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ครองราชย์ 15 ปี ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ทำให้ในช่วงรัชสมัยของพระองค์นั้นถือเป็นยุคทองของวรรณคดีเลยก็ว่าได้ พระองค์ได้พระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมและบทละครทรงคุณค่าไว้อย่างมากมาย นอกจากนี้ยังทรงฟื้นฟูประเพณีวิสาขบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2360 และได้กลายเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ยกย่องพระเกียรติคุณพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของในอภิลักขิตสมัยครบรอบ 200 ปี
รัชกาลที่ 3
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขึ้นครองราชย์ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิ้นสุดการครองราชย์ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 ครองราชย์ 27 ปี พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ของพระองค์ในช่วงตลอดรัชสมัยคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร พระองค์ได้ทรงแก้ไขวิธีการเก็บภาษีอากรแบบเดิม และทรงทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2369 ทำให้การค้าขายของประเทศรุดหน้าไปอย่างมาก ทางด้านศาสนา ก็ได้ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดและพระพุทธรูปจำนวนมาก อันทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศาสนาและศิลปกรรมต่าง ๆ มากมาย ระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญานามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระมหาเจษฎาราชเจ้า ซึ่งแปลว่า พระมหาราชเจ้าผู้มีพระทัยตั้งมั่นในการบำเพ็ญพระราชกิจ
รัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขึ้นครองราชย์ 6 เมษายน พ.ศ. 2394 สิ้นสุดการครองราชย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ครองราชย์ 17 ปี พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือการรักษาเอกราชของชาติ เนื่องจากในช่วงรัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะ อังกฤษและฝรั่งเศส เข้ามาล่าอาณานิคมในดินแดนแถบนี้ จึงทำให้พระองค์มีพระราชดำริในการเปิดสัมพันธภาพกับประเทศตะวันตกและนำมาสู่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398
ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังได้ทรงวางรากฐานความเจริญก้าวหน้าแบบอารยประเทศมากมาย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีความสนพระราชหฤทัยในเรื่องวิชาดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก โปรดให้สร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้น และพระราชกรณียกิจที่สำคัญในด้านดาราศาสตร์ก็คือการพยากรณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ซึ่งพระองค์ทรงพยากรณ์ไว้ได้อย่างแม่นยำ ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ รัฐบาลไทยจึงได้มีมติให้กำหนดวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และเทิดพระเกียรติให้พระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์
รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 สิ้นสุดการครองราชย์ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) ครองราชย์ 42 ปี ตลอดรัชกาลของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ ภัยจากการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกก็ปรากฏเด่นชัดขึ้น จึงทำให้พระองค์มีพระราชดำริในการปฏิรูปบ้านเมืองในทุก ๆ ด้านเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จประพาสยังต่างประเทศอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้พระองค์ได้ทรงออกเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อรับฟังปัญหาทุกข์สุขของราษฎร และพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุดที่อยู่ในความทรงจำของอาณาประชาราษฎร์ก็คือ การเลิกทาสและระบบไพร่ อันเป็นประเพณีที่มีมาอย่างช้านาน และมีพระราชดำริให้ริเริ่มจัดการศึกษาในทุกระดับชั้นเพื่อพัฒนาคนทุกหมู่เหล่าให้กลายเป็นกำลังของบ้านเมืองอย่างแท้จริง ปี พ.ศ. 2546 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณเป็นบุคคลสำคัญของโลกในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความผาสุกประชาราษฎร์ นอกจากนี้รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระองค์
รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิ้นสุดการครองราชย์ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) ครองราชย์ 15 ปี พระองค์มีพระราชดำริที่จะพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์จึงได้ทรงวางแผนในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการศึกษา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา และประกาศให้การศึกษาในระดับชั้นประถมเป็นการศึกษาภาคบังคับ และอีกหนึ่งพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ พระองค์มีพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธงชาติจากเดิมที่มีรูปช้าง เป็นธงไตรรงค์แบบในปัจจุบัน ทรงส่งทหารไปฝึกยังต่างประเทศ และไปร่วมรบในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1 อันเป็นที่มาของการแก้ไขสนธิสัญญาเบาว์ริงในเวลาต่อมา
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเห็นว่าประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้ จึงทรงให้จัดตั้งองค์การลูกเสือและเสือป่าขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการจัดตั้งดุสิตธานีขึ้นเพื่อทดลองการปกครองแบบ ประชาธิปไตย และนำผลที่ได้มาปรับใช้ในการบริหารประเทศ ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ทรงจัดตั้งคลังออมสินขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ฝึกการเก็บสะสมทรัพย์ ยกเลิกการพนันบ่อนเบี้ยทุกชนิด และทรงจัดตั้งบริษัทปูนซีเมนต์ไทยขึ้นเพื่อใช้ในการก่อสร้างบ้านเมือง ไม่เพียงเท่านั้นพระองค์ยังทรงพัฒนาด้านการคมนาคม โดยการปรับปรุงและขยายกิจการรถไฟให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งพระราชทานนามสกุลเพื่อให้คนไทยมีนามสกุลใช้
รัชกาลที่ 7
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สิ้นสุดการครองราชย์ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (สละราชสมบัติ ปี 2478) ครองราชย์ 9 ปี ในช่วงตลอดรัชสมัย พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย ทั้งในด้านการศึกษาและศาสนา ซึ่งในด้านการศึกษาพระองค์ได้ทรงปฏิรูประบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ส่วนในด้านศาสนา พระองค์ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรไทยสมบูรณ์ ที่มีชื่อเรียกว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ”
พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายในระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะมอบประชาธิปไตยให้กับประชาชน แต่ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญ กลับทรงถูกคัดค้านจากขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายคน จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของประเทศไทย ในวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475
รัชกาลที่ 8
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
เสด็จขึ้นครองราชย์ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนพรรษาเพียง 8 พรรษา สิ้นสุดการครองราชย์ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี ในช่วงรัชสมัยของพระองค์ อยู่ในช่วงภาวะสงคราม ทั้งสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงทำให้โดยส่วนใหญ่แล้วพระองค์จะประทับอยู่ในต่างประเทศเพื่อทรงศึกษาเล่าเรียน โดยเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 13 พรรษา และครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2488 โดยในการเสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งที่ 2 พระองค์ได้เสด็จฯ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาล
ในช่วงที่พระองค์ประทับอยู่ในประเทศไทย พระองค์ได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรในหลายจังหวัด และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้เสด็จประพาสสำเพ็ง ซึ่งถือเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างคนไทยและคนจีนหลังจากเกิดความร้าวฉาน
รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จขึ้นครองราชย์ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 – 2559 ครองราชย์ 70 ปี ล้วนแต่สร้างคุณอนันต์ให้แก่ราษฎรชาวไทย พระราชทานโครงการในพระราชดำริกว่า 2,000 โครงการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานอย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อย แม้ในยามที่ประเทศไทยประสบกับภาวะเศรษฐกิจอย่างหนัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 พระองค์ก็ได้พระราชทานแนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “เกษตรทฤษฎีใหม่” เพื่อให้พสกนิกรได้พึ่งพาตนเองและใช้ชีวิตอยู่บนความพอเพียง จนได้รับการยกย่องจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
ในด้านพระปรีชาสามารถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพทั้งในด้านดนตรี กีฬา และด้านภาษา พระองค์พระราชนิพนธ์บทเพลงไว้มากกว่า 40 เพลง และพระราชนิพนธ์งานเขียนถึง 18 ชิ้น ในด้านกีฬา พระองค์โปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ โดยทรงเป็นตัวแทนของประเทศไทยแข่งเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งในครั้งนี้พระองค์ทรงชนะเลิศเหรียญทอง โดยทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ในรัชกาลที่ 10
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ทรงพระปรีชาเป็นนักการทหาร นักรบ เชี่ยวชาญด้านการบิน พลเรือน และการบินทางการทหาร ความหวังสำคัญของคนไทยที่จะนำพาชาติสู่แดนศิวิไลซ์ อันมีแผ่นดินใหม่ที่ชื่อ “สุวรรณภูมิ” เกิดการปฏิรูปในทุกด้าน ทั้งชาติ ให้คนไืทยกลับมาเป็นหนึ่งเป็นเดียวกัน รู้รักสามัคคี ปรองดอง อันเป็นรากฐานสำคัญในรัชกาลต่อไป
อันที่จริงแล้วตลอดระยะเวลา 86 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดขึ้นจากคณะราษฎร ที่ได้นำหลักคิดการปกครองของฝรั่งเข้ามาปกครองในประเทศไทย อันขัดต่อหลัก พฤติกรรม ประเพณี สีผิว ชาติพันธ์ของคนไทย ที่มีทุกหมู่เหล่า มารวมอยู่ด้วยกันบนแผ่นดินสยาม มิใช่มีเฉพาะคนเผ่าไทยเท่านั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการแบ่งแยก แย่งชิงอำนาจจึงเกิดขึ้น หลังยึดอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยึดอำนาจกันเองของคณะราษฎรนับสิบครั้ง สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง จนเป็นพฤติกรรมเชิงความเชื่อ ตราบจนถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่รัฐประหารเกิดขึ้น 2 ครั้ง จากต้นเหตุการทุจริตคอรัปชั่นของนักโกงเมือง แต่ก็มิสามารถแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นได้ ยิ่งสร้างรอยร้าวของการแตกแยก แตกเผ่าทางสังคม การเมือง ให้คนไทยเห็นต่างแบ่งฝ่ายกันมากขึ้น แม้กระทั้งปัจจุบันก็มิสามารถที่จะแก้ไขปัญหาอันให้เป็นชิ้นเป็นอัน เว้นแต่จะยุติให้สีเหลือง ฟ้า แดง ยุติการขัดแย้งกัน แต่กลับกลายเป็น เหลือง แดง ฟ้า หันหน้าเป็นศรัตรูกับคณะรัฐประหาร
หากปล่อยให้การเมืองดำเนินเดินไปแบบเดิม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการ “นองเลือด” แล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล อันจะลามปามไปยังสถาบันเหมือนการปฏิวัติฝรั่งเศส รัสเซีย ที่สุดท้ายบ้านเมืองต้องถูกแบ่งแยก แบ่งแผ่นดิน ขาดความเป็นปึกแผ่นสามัคคีในที่สุด
ทางออกของชาตินั้นมีหลักสำคัญคือ “สมประโยชน์” ที่ทุกฝ่าย ทุกพวก ทุกสี ทุกพรรค จะต้องได้รับในสิ่งที่เหมาะสม เริ่มต้นจากการตั้ง “รัฐบาลปฏิรูปประเทศ” บุคคลที่ควรเข้ามาทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น ควรต้องเป็นพลเรือน ที่มีความพร้อม เชี่ยวชาญด้าน การปฏิรูป การเมือง และเศรษฐกิจ เป็นบุคคลที่มีกำลังในการผนึก ทุน ขุนศึก นักวิชาการ มวลชน แกนนำ โดยจะต้องมีความจงรักภักดีต่อชาติเป็นสำคัญ แล้วจึงนำอดีตนายกรัฐมนตรี ในทุกสมัยที่ยังคงมีชีวิต ทั้งที่อยู่นอกและในประเทศ มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ท่านพลากรณ์ สุวรรณรัฐ องคมนตรี ศาสตราจารย์พิเศษ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายอานันท์ ปัญญารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด ) ท่านเหล่านี้เป็นคนดี แต่ยังไม่เหมาะที่จะเข้าแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนในปัจจุบัน เข้ามาแก้ไขปัญหาของชาติ อันต้องใช้กำลังแนวร่วมอย่างสูงที่จะได้รับการยอมรับสูงในภาคปฎิบัติการ
รัฐบาลปฏิรูปประเทศ ต้องจัดให้แกนนำจากทุกสี เข้าร่วมในการปฏิรูปประเทศ ในการจัดสร้างโครงสร้างต่างๆ ตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล ให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ที่ถูกเรียกว่า “สภาปฏิรูปประเทศ” โดยเริ่มจากโครงการปกครอง “สังคมธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” ที่จะเหมาะกับพฤติกรรมประเพณี สีผิว ชาติพันธ์ และศาสนา ของคนไทย
อันจะส่งผลให้คนไทยทุกหมู่เหล่า ทุกสี หันกลับมารักกัน ปรองดองกันหาทางออกร่วมกัน เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น ตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้เงินแผ่นดินแม้แต่บาทเดียวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นย่อมจะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ ในระยะยาวเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง จะไม่มีใครสามารถกล่าวอ้างว่าปฏิรูปประเทศโดยเผด็จการหรือทหารได้อีกต่อไป
ส่วนผู้ที่หลบหนีอยู่นอกประเทศหรือในประเทศ “รัฐบาลปฏิรูป” จำเป็นที่จะต้องออกนโยบายเพื่อความปรองดอง นำระเบียบวิธีปฏิบัติ ที่ได้ออกเป็นกฎหมายไว้แล้วในการควบคุมผู้ต้องขัง ด้วยการ “ใส่เครื่องติดตามตัว” อยู่ในพื้นที่จำกัดแทนการจองจำ โดยคำนึงถึงคุณงามความดีของเขาเหล่านั้น แล้วจึงขอพระราชทางอภัยโทษ อันเป็นพระราชอำนาจ
ที่มาของนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลปฏิรูปประเทศ จะมาในรูปแบบใดนั้น ไม่ว่าจะเลือกตั้ง แต่งตั้ง ทูลเกล้าฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่พระองค์จะทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติไว้ โดยมีเป้าหมายสูงสุด เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของพสกนิกรชาวไทย ภายใต้ร่มพระบารมี
การขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ ของพระมหากษัตริย์ในทุกรัชสมัย พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ แก่ผู้ต้องขัง หรือ ผู้ต้องหา ถูกกล่าวหาในคดีความต่างๆ ทั้งคดีทางการเมือง สังคม อันเป็นการเริ่มต้นกันใหม่ นำพาชาติสู่ความรู้รักสามัคคีอันเป็นพะราชวินิจฉัยในพระองค์
สิ่งเหล่านี้คือเรื่องราวในอดีต อันเกี่ยวข้องกับปัจจุบัน เพื่อนำพาชาติไทยสู่สันติสุข ปรองดอง รู้รักสามัคคี คนไทยจะเลิกแบ่งเหล่า แตกฝ่าย แบ่งสี หันหน้ากันเข้ามาสามัคคี อันจะนำพาชาติเข้าสู่แดนศิวิไลซ์ อันจะเกิดแผ่นดินแห่ง “สุวรรณภูมิ” ในแผ่นดินใหม่ ที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ แห่งพระมหากษัตริย์แห่งรางวงค์จักรี
ดั่งพระราชดำรัส ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่กลุ่มชาวไร่ หมู่บ้านตัวอย่าง โครงการไทย-อิสราเอล จังหวัดเพชรบุรี วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๑๓
“…ความสามัคคีนี้ หมายถึงว่ามีสิ่งใดที่อาจ ขัดแย้งซึ่งกัน และกันบ้าง ก็ต้องปรองดองกันเสีย และหา ทางออกโดยที่ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง กันเพราะความสามัคคีเป็นกำลังอย่างสูงสุดของ หมู่ชน…”
ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา
14 กุมภาพันธ์ 2561
(วันแห่งความรัก)