เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 มีนาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่มี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธาน กมธ. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาในประเด็นหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้เป็นหมายเลขเดียวกันหรือไม่
ทั้งนี้ ก่อนการลงมติที่ประชุม เปิดให้ กมธ.ได้ถกเถียงในเหตุผลของแต่ละฝ่าย โดย กมธ.ซีกฝ่ายค้าน จากพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) อภิปรายไปทางเดียวกัน โดยยืนยันให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นเบอร์เดียวกัน เพื่อง่ายต่อการจดจำของประชาชน และลดจำนวนบัตรเสีย อาทิ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ.จากพรรค สร. และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การใช้บัตรเบอร์เดียวกัน เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ช่วยให้ไม่สับสน เลือก ส.ส.ได้ตรงตามเจตนารมณ์ พรรคการเมืองหาเสียงง่าย แลกกต.ก็จัดการเลือกตั้งง่าย ไม่ต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 401 แบบ คือ ส.ส.เขต 400 แบบ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 แบบ และ กกต.ไม่ต้องส่งบัตรเลือกตั้งทั้ง 401 แบบไปยังการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งไม่ใช่เรื่องสนุก ส่วนข้อจำกัดการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 90 นั้น ต้องถามที่ประชุมรัฐสภาก่อนหน้านี้ว่า เหตุใดไม่ยอมแก้มาตรา 90 จนกลายเป็นเงื่อนปมที่ต้องมาตามแก้ อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวสามารถหาทางออกได้ อย่าไปกลัวผิดรัฐธรรมนูญ ถ้ากลัวผิดรัฐธรรมนูญ พอผ่านวาระ 3 แล้ว ก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้
ขณะที่ กมธ.ฝ่ายรัฐบาลหลายคนยืนกรานว่า บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อต้องเป็นคนละเบอร์กัน เพื่อป้องกันไม่ให้ทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 ที่ระบุให้เปิดรับสมัคร ส.ส.เขตในวันแรกก่อน จากนั้นค่อยสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อีกทั้งการใช้หมายเลขคนละเบอร์ยังช่วยป้องกันการซื้อเสียงให้ทำได้ยากขึ้น อาทิ นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวทำให้ซื้อเสียงง่ายมาก ต่างจากบัตรเลือกตั้งคนละเบอร์ที่ทำให้ซื้อเสียงยาก ไม่ได้สร้างความยุ่งยากให้ประชาชน แต่สร้างความยุ่งยากให้กับคนที่คิดจะทุจริตมากกว่า
ด้าน นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กมธ.จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า มั่นใจว่าถ้าใช้บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวกัน จะมีคนไปยื่นเรื่องว่า ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 90 แน่นอน จึงเห็นว่าควรใช้บัตรครละเบอร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ กมธ.ถกเถียงแสดงความเห็นครบทุกคนแล้ว กระทั่งเวลา 13.00 น. ที่ประชุมจึงลงมติชี้ขาดในประเด็นดังกล่าว ผลปรากฏว่า กมธ.ลงมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 32 ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นคนละเบอร์กัน ตามร่างหลัก และ 14 เสียง ให้ใช้บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวกัน และงดออกเสียง 1 เสียง คือนายสาธิต โดยเสียง กมธ.ฝ่ายรัฐบาลรวมกันอย่างเหนียวแน่น 32 เสียง จาก ส.ว. 14 เสียง ครม. 7 เสียง พรรค พปชร. 5 เสียง พรรค ภท. 3 เสียง พรรค ปชป. 1 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 1 เสียง และพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) 1 เสียง ส่วน กมธ.ฝ่ายค้าน 14 เสียง ประกอบด้วยพรรค พท. 8 เสียง พรรค ก.ก. 3 เสียง พรรค สร. 1 เสียง รวมถึงเสียง กมธ.จากพรรค ปชป.ที่แบ่งมาให้ 2 เสียง
ภายหลังการประชุม นายสาธิต ปิตุเตชะ ประธาน กมธ. ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมพิจารณาใน 2 ประเด็นคือเรื่องการแก้เรื่องเขตเลือกตั้งที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ที่ให้คณะทำงานกลับไปทำต่อ เรื่องการแก้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อจะมีผลกระทบที่ต้องไปแก้รายมาตราในส่วนอื่นอีกหรือไม่ ส่วนประเด็นการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเป็นเบอร์เดียวกันหรือไม่ โดยที่ประชุมลงมติ 32 ต่อ 14 เสียง ให้บัตรเลือกตั้งสองใบเป็นคนละเบอร์ โดยตนงดออกเสียงในฐานะประธาน กมธ. จากองค์ประชุม 47 เสียง ทั้งนี้ กมธ.จากพรรค พท. พรรค ก.ก. และอีกหลายคนขอสงวนความเห็นไว้ ถือว่าการทำงานของ กมธ.เดินหน้าตามตารางที่ได้กำหนดไว้
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า การเสนอให้ใช้บัตรสองใบเบอร์เดียวกัน เพื่อความสะดวกกับผู้ใช้สิทธิ ไม่สร้างความสับสนกับประชาชน แต่การใช้บัตรคนละเบอร์ยิ่งทำให้ผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งไม่ยอมหาเสียงให้พรรคการเมือง และจะยิงลูกโดด การลงมติครั้งนี้เสียงออกมาเป็นกลุ่มเป็นก้อน เชื่อว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับข้อกังวลจะขัดรัฐธรรมนูญ แต่น่าจะกลัวแลนด์สไลด์จากพรรค พท.มากกว่า
ขณะที่ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. กล่าวว่า ดูผลลงมติที่ออกมา 32 เสียงของฝ่ายรัฐบาลแล้ว เชื่อว่ามีการสั่งการจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลให้ลงมติออกมาในทิศทางเดียวกัน เพราะคะแนนออกมาเป็นกลุ่มก้อนเนื้อเดียวกัน ดูแล้วเป็นไปได้ยาก หากไม่มีการสั่งการมา อย่างไรก็ตามพรรค พท.และพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยังสู้ต่อไป จะไปอภิปรายเพื่อคัดค้านในการประชุมรัฐสภาวาระ 2