เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว The New York Times ได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์ข่าวการเมืองต่างประเทศ เขียนโดยนาย “โนริมิตสึ โอนิชิ” (Norimitsu Onishi) สื่อมวลชนชาวญี่ปุ่น อธิบายถึงสถานการณ์การเมืองในยุโรป
.
ซึ่งทั้งกลุ่มปัญญาชน กลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มนักการเมือง และผู้นำประเทศฝรั่งเศส ต่างก็ออกมาเตือนว่า แนวคิด “ซ้ายใหม่” เป็นภัยคุกคามร้ายแรง ทั้งในแง่ของสังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของชาติฝรั่งเศส
.
ปรากฎการณ์ที่ผู้นำประเทศและนักคิดนักเขียนในฝรั่งเศส มีความวิตกกังวลไปในทิศทางเดียวกันนี้ มีสาเหตุมาจากแนวคิดทางการเมืองเชิงอัตลักษณ์ (identity politics) ที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็น “ซ้าย-ขวา” มาพร้อมกับการปลุกปั่นความโกรธแค้นเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม
.
ซึ่งแนวคิด “ซ้ายใหม่” ที่ไม่เป็นมิตรต่อสังคมชาวฝรั่งเศสเช่นนี้ มาจากกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยหลายแห่งในฝรั่งเศส
.
อย่างไรก็ตาม บทความของนายโนริมิตสึ โอนิชิ ระบุว่า สถาบันการศึกษาในฝรั่งเศส ไม่ใช่ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมฝรั่งเศสในปัจจุบัน แต่จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของแนวคิด “ซ้ายใหม่” นั้น มาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ
.
ซึ่งเป็นแนวคิดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในฝรั่งเศส ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิด “ซ้ายใหม่” และสำหรับนักวิเคราะห์และนักการเมืองในฝรั่งเศส ก็มองว่าแนวคิดนี้เป็น “มลพิษ” (contamination) ที่อันตรายต่อสังคมชาวฝรั่งเศส
.
เหตุการณ์ต่าง ๆ ในสหรัฐฯ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่ม #MeToo ซึ่งเป็นการประท้วงต่อต้านการล่วงละเมิดสตรี (แม้ในภายหลังจะพบว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่เลือกโจมตีเฉพาะนักการเมืองฝ่ายขวาในสหรัฐฯเท่านั้น), การประท้วงกรณีการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd), หรือการประท้วงเรียกร้องสิทธิของชาวต่างด้าว
.
กลุ่มซ้ายใหม่ ที่นำโดยกลุ่มนักศึกษา และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของฝรั่งเศส ล้วนแล้วได้รับอิทธิพลหรือได้รับแรงบรรดาลใจจากการประท้วงในสหรัฐฯ ด้วยรูปแบบของสังคมอเมริกัน และสังคมฝรั่งเศส ที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน
.
ซึ่งรวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างชาวฝรั่งเศสผิวขาว กับชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอฟริกัน ที่บรรพบุรุษพลัดถิ่นมาจากการล่าอาณานิคม แต่สาเหตุสำคัญ ที่นักคิดนักเขียน และนักการเมืองฝรั่งเศสกังวลว่า
.
แนวคิด “ซ้ายใหม่” ของมหาวิทยาลัยอเมริกัน ที่ขยายอิทธิพลไปสู่นักศึกษาและอาจารย์ในฝรั่งเศสนั้น เป็นภัยคุกคามที่อันตรายอย่างมาก ก็เพราะว่า แนวคิด “ซ้ายใหม่” กำลังสร้างความแตกแยกในสังคมฝรั่งเศส ทำลายความสามัคคีของคนในชาติ (national unity)
.
ทั้งยังใช้วิธีรวบรวมผู้คนจำนวนมากเพื่อสร้างกระแสการคว่ำบาตร (cancel culture) ต่อสังคม วัฒนธรรม และการปกครอง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อมรดกทางวัฒนธรรม (cultural heritage) แต่ที่อันตรายที่สุด คือการส่งเสริมลัทธิศาสนาอิสลามแบบสุดโต่ง และการสนับสนุนให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน (secessionism)
.
นายแอมานุแอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้แสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ว่า “แนวคิดทั้งหลายเหล่านี้ ถูกนำเข้ามาจากสหรัฐฯ” นายมาครงยังกล่าวตำหนิมหาวิทยาลัยทั่วประเทศฝรั่งเศสอีกด้วยว่า “พยายามทำเรื่องสังคมให้กลายเป็นเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อแบ่งแยกสาธารณรัฐ (ฝรั่งเศส) ให้กลายเป็นสอง”
.
ทางด้านของนายณอง-มิเชล บล็องเกอร์ (Jean-Michel Blanquer) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของฝรั่งเศส กล่าวโจมตีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในฝรั่งเศสว่า ไปร่วมสมคบคิดกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย และคอยหาเหตุผลแก้ต่างให้กับผู้ก่อการร้าย ในขณะที่สมาชิกสภาฝรั่งเศสบางรายได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐสภา ให้มีการสืบสวนสอบสวนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
.
ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศแรก ในกลุ่มชาติตะวันตกที่ริเริ่มหลักการ “เสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ” (Liberté, Égalité, Fraternité) แต่รากฐานของหลักการสิทธิเสรีภาพของฝรั่งเศสตั้งแต่แรกเริ่มนั้น ปฏิเสธหลักการความหลากหลายทางเชื้อชาติ และปฏิเสธหลักการความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งนาย “โนริมิตสึ โอนิชิ” ระบุอีกด้วยว่า
.
ฝรั่งเศสไม่ยอมรับประวัติศาสตร์การค้าทาสและการล่าอาณานิคมของตนเอง โดยที่คนทั่วโลกส่วนใหญ่คิดว่าฝรั่งเศสเป็น “แชมป์เปี้ยนด้านสิทธิมนุษยชน” และฝรั่งเศสก็ไม่ยอมรับประวัติศาสตร์การเหยียดเชื้อชาติภายในประเทศของตนเองอีกด้วย
.
แม้กระทั่งกฎหมายของฝรั่งเศสก็ห้ามไม่ให้มีการทำข้อมูลสถิติเชื้อชาติของประชากรฝรั่งเศส โดยให้เหตุผลว่า ฝรั่งเศสยึดหลักการที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน
.
ทั้งนี้ ประเทศฝรั่งเศสเป็นแบบอย่างของสหรัฐฯ ในการวางรากฐานด้านหลักการสิทธิเสรีภาพในช่วงเริ่มก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ แต่เมื่อการเวลาผ่านพ้นล่วงเลยมาจนถึงยุคโลกาภิวัตน์
.
ซึ่งเป็นยุคที่ลัทธิหรือแนวคิดต่าง ๆ สามารถแพร่กระจายไปทั่วโลกได้เพียงชั่วข้ามคืน และเมื่อแนวคิด “ซ้ายใหม่” ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ หวนคืนสู่มหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส ประเทศอันเป็นต้นกำเนิดของหลักการสิทธิเสรีภาพ แต่กลับถูกชาวฝรั่งเศสมองว่า เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสังคม วัฒนธรรม และการปกครองของฝรั่งเศส
.
ซึ่งโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ของสหรัฐฯและฝรั่งเศสมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน
——————————-