เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #แสงสว่างที่ ‘คลองพอก’ ! สังศิตลงพื้นที่ ช่วยชาวบ้าน ที่รอคอยกว่า 40 ปี !!

#แสงสว่างที่ ‘คลองพอก’ ! สังศิตลงพื้นที่ ช่วยชาวบ้าน ที่รอคอยกว่า 40 ปี !!

6 June 2022
275   0

บ่ายวันที่ 3 มิถุนายน 2565 ก่อนตะวันคล้อยเลือนหายไปหลังทิวเขาแลเห็นเป็นสีฟ้า ถูกจงใจให้เป็นจุดนัดพบเป็นฉากหลังของ’วงประชุมคณะกรรมาธิการ แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ‘ เพื่อจะบอกเล่าเรื่องราว ต่อ นายสังศิต พิริยรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้รู้ว่าท่ามกลางผืนป่าทึบเขียวที่เห็นอยู่นั้น นอกจากความหลากหลายของพันธุ์พืช สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธ์ุ หายากซึ่งได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายหลายฉบับแล้ว ยังมี เผ่าพันธุ์มุษย์กว่า 1,200 ครัวเรือน กว่า 4,000 ชีวิต ทั้งเด็ก คนแก่ และ ผู้เฒ่าติดเตียง ซ่อนอยู่ในป่าทึบผืนเดียวกัน ต่างรอคอยการยอมรับ การคุ้มครองทางกฎหมายเช่นกัน

‘กว่า 40 ปีที่ผู้คนจากราวป่าผืนนั้นส่งเสียงร้องขอ เฝ้ารอ’แสงสว่างจากไฟฟ้าซึ่งขึ้นอยู่กับ 2 หน่วยงานของรัฐ’

‘ใช่ครับ เราจะหาจุดนัดพบทางความคิดร่วมกัน ว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ ซึ่งเพียรพยายามมากว่า 40 ปี โดยเป็นที่ยอมรับตามระเบียบกฎหมาย เป็นที่สะบายใจทุกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมี ประโยชน์ของประชาชนเป็นจุดร่วม’ นายสังศิต กล่าวถึงเจตนารมณ์ต่อที่ประชุมเย็นวันนั้น ก่อนที่ทิวป่าทึบเขาสอยดาวจะถูกความมืดกลืนหายไป

ทิวผืนป่าเขียวทึบทอดยาวตามแนวเขาสอยดาว คือ ผืนป่าที่ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว มีพื้นที่ 744.96 ตารางกิโลเมตร อำเภอสอยดาว ตำบลคลองพอก จังหวัดจันทบุรี

ว่าที่ร้อยโท สมบัติ จึงตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลทับช้าง รายงานให้ที่ประชุมฟังว่า “หมู่บ้านคลองพอก” ชุมชนตั้งรกรากถิ่นฐานในพื้นที่แนวป่าเขาสอยดาวด้านตะวันตก ปัจจุบัน ตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลทับช้าง อำเภอสอยดาย จังหวัดจันทบุรี ถือว่า เป็นชุมชนเก่าแก่ เป็นการย้ายถิ่นฐาน จากประชาชนหลายจังหวัด เช่น จังหวัดสระแก้ว นครสวรรค์ จังหวัดสระบุรี รวมทั้งผู้อพยพชาวกัมพูชาที่อยู่ตามชายแดนไทย ช่วงปี 2512-2513 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวนลำไย ปลูกยาง ไร่มันสำปะหลัง ‘จากนั้นได้มอบให้ รองนายกเทศมนตรีฯ (จี๊ด) เล่าถึงความเป็นมาชุมชนชาวบ้านคลองพอกอย่างย่อว่า

“ จู่ จู่ ปี 2515 ก็ถูกประกาศเป็น ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสอยดาว ‘ ชุมชนต้องย้ายออกจากพื้นที่ทิศตะวันตก ไปอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออก ซึ่งมีชุมชนตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2507 ทำให้เกิดความขัดแย้งกับราษฎรที่ตั้งถิ่นอยู่อาศัยมาก่อน เพื่อระงับความขัดแย้งดังกล่าวรัฐจึงผ่อนผันเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่เดิมได้ เนื่องจากไม่มีที่อยู่อาศัย พวกเราดำเนินชีวิตด้วยการ ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ช่วง ปี พ.ศ. 2512 – 2525 ชุมชนได้เลือกให้นายค้ำ พัดลม เป็นผู้นำชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาเลี้ยงชีพ และแก้ไขปัญหาของชุมชน

ปี พ.ศ. 2526 ทางราชการได้จัดระเบียบการปกครองท้องถิ่นขึ้น ปี พ.ศ. 2542 มีการคัดเลือกผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้อยู่อาศัย ทำไร่ ทำสวน จนปัจจุบันเป็นเวลา 53 ปี!! “

“ในห้วงเวลาดังกล่าวหน่วยราชการราชการต่างๆ ได้พัฒนาเส้นทางการคมนาคมจากทางเกวียน ทางเดินป่า เป็นถนนลูกรัง และเป็นถนนลาดยาง และบางช่วงเป็นถนนคอนกรีตในวันที่คณะกรรมการฯเดินทางเข้าพื้นที่ก็เห็นสภาพถนนดังกล่าว บางช่วงเป็นถนนลูกรัง “

“ส่วนราชการสนับสนุน ด้านการศึกษาได้จัดตั้งโรงเรียนชี่นปฐมศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ’โรงเรียนเทศบาลทับช้าง 1 บ้านคลองพอก’ และ’ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านคลองพอกเขาไผ่’ มีสำนักสงฆ์คลองพอกสำหรับปฏิบัติธรรม’

เช้าวันที่ 4 มิถุนยาน 2565 ห้องประชุมศูนย์พิทักษป่าคลองพอก
นายสังศิต พิริยรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา นายอลงกรณ์ แอคะรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายมนตรี ยันตระวัฒนา ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 2 ภาคกลางจังหวัดชลบุรี นายพุทธพจน์ คูประสิท ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า นายเอกชัย แสนดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลคลองพอก ได้ร่วมประชุมหารือเบื้องต้น

นายสังศิต ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวต่อที่ประชุมว่า’ได้รับแจ้งจาก ว่าที่ร้อยโท สมบัติ จึงตระกูล นายกทศมนตรีตำบลทับช้าง ขอให้ช่วยเหลือความเดือดร้อนของราษฎรจากการไม่มีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนในพื้นที่เทศบาลตำบลทับช้าง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี รวม 8 หมู่บ้าน จำนวน 1,222 ครัวเรือน มีราษฎร รวม 4,010 คน ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ได้อาศัยทำกินในพื้นที่เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี นอกจากนั้น ยังมีชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ คือ บ้านเขาแร่ ตำบลปะตง อำเภอสอยดาว ที่มีประชาชน 79 ครัวเรือน ซึ่งไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นเดียวกัน จึงต้องมีการประชุมปรึกษาหารือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการดังกล่าวต่อไป

คณะกรรมาธิการฯ นี้ ดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ
1) การแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
2) การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน
3) การส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์เกษตรแบบผสมผสาน และ
4) การส่งเสริมด้านการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้วิชาด้านการเกษตร รวมทั้งวิชาชีพต่าง ๆ ร่วมด้วย และครั้งนี้ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ได้ก็จะส่งผลถึงครูและเด็กนักเรียนที่ต้องอาศัยอุปกรณ์หรือสื่ออิเล็คทรอนิคต่าง ๆ ในการเรียนการสอนเพื่อให้มีโอกาสเท่าเทียมกับพื้นที่ที่มีไฟฟ้าใช้ได้’

การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางดำเนินการร่วมกันในการทำให้พี่น้องประชาชนมีไฟฟ้าใช้ในครัวเรียน ส่วนการใช้ไฟฟ้าเพื่อประกอบธุรกิจต้องขออนุญาตตามระเบียบของทางราชการเป็นรายๆ ไป ซึ่งถ้าสามารถหาแนวทางดำเนินการได้ก็ต้องดำเนินการตามกรอบระยะเวลาของโครงการและงบประมาณของทางราชการต่อไป

นายสังศิตย้ำอีกว่า ‘แนวคิดเจตนารมณ์ การช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มากว่า 40 ปี ว่า ‘คณะกรรมาธิการชุดนี้ มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ เราทำการศึกษา แสวงหาความรู้ นวัตกรรม นำไปเผยแพร่ เดินหน้าหาพันธมิตร
บูรณาการแนวคิด ค้นหาจุดนัดพบแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน’

จากนั้น คณะเดินทางและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางออกจากพื้นที่ไปยังเทศบาลตำบลทับช้างเพื่อร่วมประชุมหาแนวทางในการดำเนินการ ตัวแทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ รายสรุปสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น ดังนี้

1) สถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวได้ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขยายเขตไฟฟ้าเข้ามายังหน่วยพิทักษ์ป่าคลองพอกเป็นระยะทาง 9.8 กิโลเมตร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ในการรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นผลให้ชาวบ้านทั้ง 8 หมู่บ้าน ในพื้นที่ที่มีสายไฟฟ้าพาดผ่านได้มีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน แต่ยังมีประชาชนใน 8 หมู่บ้านดังกล่าว จำนวน 1,222 ครัวเรือน มีราษฎร รวม 4,010 คน ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน

2) แนวทางในการดำเนินการ จากจุดขยายเขตไฟฟ้า 9.8 กิโลเมตรดังกล่าวข้างต้น ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวจะทำการขยายจุดสกัดเพิ่มเติมจำนวน 6 จุด เป็นลักษณะเสมือนก้างปลา เพื่อให้มีการขยายเขตไฟฟ้าจากเมนหลักเดิมขยายไปด้านข้างจำนวน 6 สาย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันช้างป่าเข้ามาทำลายพืชสวนของชาวบ้านเป็นสำคัญ เป็นผลให้ชาวบ้านที่อยู่ในแนว 6 จุดสกัดนั้น มีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในครัวเรือนด้วย ซึ่งจำนวนครัวเรือนและจำนวนชาวบ้านที่ได้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติมตามจุดสกัดทั้ง 6 จุดนี้ เกือบครอบคลุม 1,222 ครัวเรือน ที่มีราษฎร รวม 4,010 คน ดังกล่าว ซึ่งจะมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 6 เดือน

‘และจากหารือร่วมกันได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า ทุกฝ่ายคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกแบบเพิ่มเติมเพื่อให้ กรมอุทยานทรัพยากรธรรมชาติฯ พิจารณาคาดว่าจะใช้เวลาประมาณสองเดือน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างไฟฟ้าภูมิภาคกับกรมอุทยาน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อส่งเรื่อง ให้รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติพิจารณา เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจะเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกจะ ดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2565 ระยะต่อไปดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2566 ความสำเร็จนี้เกิด จากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย’ นายสังศิตแถลงสรุปในที่ประชุม

ผลสำเร็จครั้งนี้สร้างความพึงพอใจอย่างยิ่งให้กับตัวแทนชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอย่างยิ่ง หลังจากรอคอยมากว่า 40 ปี และได้กล่าวขอบคุณนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่ได้ช่วยประสานบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ จนสำเร็จ

ตื่นมาตอนเช้าเห็น LINE ของข้าราชการท่านหนึ่งที่ส่งมาให้ผมข้อความว่า

“ คือความสุขใจครับอาจารย์ … 40 ปี กับการไม่มีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน กว่า 1,200 ครัวเรือน กว่า 4,000 ชีวิต… 40 ปี กับวิถีชีวิตความเป็นคนไทย … (เหมือนกัน)ในเขตอุทยานแห่งชาติ … 40 ปีกับความสิ้นหวังต่อภาครัฐ

… วันนี้ น้ำตาชาวบ้าน ที่มีให้อาจารย์ได้เห็น..เป็นน้ำตาหยดสุดท้าย ต่อจากนี้ไป รอยยิ้มเริ่มแรกของชาวบ้านตำบลทับช้าง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี จะกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความสุข … วันนี้ เป็นความจริงแรก ในรอบ 40 ปี ที่ชาวบ้านจะได้มีไฟฟ้าใช้ “

ในนามของประธานกมธ.แก้ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ผมใคร่ขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและท่านผวจ.จันทรบุรีที่ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้จนประสบผลสำเร็จด้วยดี

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

5 มิถุนายน 2565