ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #โจ้มอบตัวหมิ่นตำรวจรีดส่วย จี้บิ๊กตู่คุ้มครองคนแจ้งเบาะแส

#โจ้มอบตัวหมิ่นตำรวจรีดส่วย จี้บิ๊กตู่คุ้มครองคนแจ้งเบาะแส

24 November 2017
975   0

“โจ้ สปอตไลท์ ภูเก็ต” มอบตัว สภ.เมืองอุบลฯ คดีหมิ่นประมาทแฉตำรวจป่าตองขอร่วมลงชื่อจับโต๊ะบอลทั้งที่ทหารกับปกครองเป็นฝ่ายจับ ข้องใจเหตุตั้งแต่ปี 59 ทำไมเพิ่งจับ ด้าน “โปลิศวอตช์” เรียกร้องนายกฯ คุ้มครอง “โจ้” และผู้แจ้งเบาะแสเจ้าหน้าที่รับส่วย ชี้หลังยึดอำนาจปัญหากลับไปอยู่สภาพเดิม จี้ปราบปรามอย่างจริงจังพร้อมปฏิรูประบบงานสอบสวน

ไทยโพสต์ – เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน นายธรรมรัตน์ สุวรรณโพธิ์ศรี หรือ โจ้ Spotlight Phuket ได้เดินทางไปยัง สภ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี เพื่อมอบตัว หลังศาลออกหมายจับที่ 255/2560 ลงวันที่ 20 พ.ย.60 ข้อหากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาดภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏ ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง และสิ่งบันทึกเสียงบันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียงหรือกระจายภาพหรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น

นายธรรมรัตน์เปิดเผยว่า กรณีนี้ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งยศ “พ.ต.ต.” ได้เข้าแจ้งความ หลังจากเมื่อเดือน ก.ค.59 ตนทำคลิปตำหนิตำรวจ สภ.ป่าตอง เนื่องจากก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ทหารและป้องกันจังหวัดได้เข้าจับกุมโต๊ะบอล แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจป่าตองได้ขอร่วมลงชื่อในการจับกุมด้วย ซึ่งมันไม่ใช่ จึงได้ทำคลิปเผยแพร่ไป มีคนเข้ามาดูเป็นล้านวิว โต๊ะบอลดังกล่าวอยู่ห่างจากด่านตรวจเพียง 15 เมตร โดยชาวบ้านได้นำกล้องวงจรปิดร้องเรียนมีการเปิดโต๊ะบอล แต่ก็ไม่มีการจับ แต่พอทหารและฝ่ายปกครองเข้าจับกุม กลับขอเข้าร่วมลงชื่อ เมื่อตำหนิทางปกครองจังหวัดทำไมให้ตำรวจเข้าร่วมลงชื่อ ก็ได้รับการชี้แจงว่าผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นได้โทร.มาขอ ไม่อยากให้ฝ่ายปกครองจังหวัดกับตำรวจมีปัญหากัน

“พอคลิปเผยแพร่ไป ผู้กำกับ สภ.ป่าตองก็ได้มอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปแจ้งความหมิ่นประมาทเพื่อแก้เกี้ยว สารวัตรคนนั้นพื้นเพเป็นคนที่จังหวัดอุบลฯ บอกได้เห็นคลิปดังกล่าวขณะอยู่อุบลฯ จึงเป็นที่มาในการออกหมายจับผมในพื้นที่อุบลฯ ครั้งนี้ เป็นการแจ้งแก้เกี้ยวตั้งแต่ปี 59 จนป่านนี้ จริงๆ มันทิ้งไปแล้ว และ พ.ต.ต.คนนั้นก็มาขอโทษผมแล้ว กระทั่งเรื่องส่วยบานปลาย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ได้สั่งการมีคดีความอะไรของผมบ้างให้จัดการให้เสร็จ พนักงานสอบสวนต้องบินเข้ากรุงเทพฯ ชี้แจง”

แอดมินเฟจ “สปอร์ตไลท์ภูเก็ต” กล่าวต่อว่า เรื่องเป็นปีแล้วทำไมไม่จัดการให้เสร็จ พวกนี้ก็เต้นเป็นเจ้าเข้า สุดท้ายเล่นอะไรไม่รู้ เมื่อโทร.ไปหาก็ไม่ยอมรับสายทั้งที่ก่อนหน้านั้นคุยกันอยู่ตลอด จนรู้ว่าถูกออกหมายจับแน่ ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ณ ตอนนี้ตนมีคดีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความดำเนินดคีแล้ว 16 คดี

ก่อนหน้านี้ นายธรรมรัตน์ได้ร้องเรียนจเรตำรวจแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีว่า พื้นที่ จ.ภูเก็ต มีเจ้าหน้าที่เก็บส่วยเดือนละ 100 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา นายธรรมรัตน์ได้มาเสวนาที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อ “ขบวนการส่วยตำรวจไทย…หายนภัยของชาติและประชาชน” โดยแฉว่า พื้นที่ป่าตองมีการจ่ายส่วยถึง 33 หน่วย ชณะที่พื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา รุนแรงกว่า อ.ป่าตอง 2 เท่า ก่อนที่ต่อมาจะโดนหมายจับดังกล่าว

วันเดียวกัน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police Watch ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในองค์กรตำรวจอย่างจริงจัง พร้อมให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้แจ้งเบาะแส และปฏิรูประบบงานสอบสวน โดยแยกจากภารกิจตำรวจ โดยระบุว่า กรณีนายธรรมรัตน์ สุวรรณโพธิ์ศรี เปิดเผยข้อมูลพร้อมพยานหลักฐานว่าในจังหวัดภูเก็ตมีตำรวจหลายหน่วยทุจริตรับสินบนจากแหล่งอบายมุขและผู้กระทำผิดกฎหมายต่างๆ สะท้อนว่าปัญหาการทุจริตต่อหน้าที่รับสินบนจากแหล่งอบายมุขและการกระทำผิดกฎหมายในองค์กรตำรวจยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา แม้หัวหน้า คสช.จะได้มีคำสั่งกำชับให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการปราบปรามและป้องกันมิให้เกิดขึ้น แต่หัวหน้าหน่วยตำรวจผู้รับผิดชอบระดับต่างๆ ก็ไม่ได้นำพาสนใจปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.แต่อย่างใด

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีพูดว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันต่อต้านการทุจริตการรับส่วยสินบน รวมทั้งแจ้งข้อมูลเบาะแสการกระทำผิดมาเพื่อดำเนินการนั้น แต่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นายธรรมรัตน์ผู้ยื่นหนังสือแจ้งข้อมูลการกระทำผิดดังกล่าวกลับถูกคุกคามจากตำรวจ ทั้งจากอำนาจมืดและอำนาจสอบสวนแจ้งข้อหาดำเนินคดี และถูกหมายจับข้อหาหมิ่นประมาท ทั้งนี้ ปัญหาการทุจริตรับสินบนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปและประชาชนทั้งประเทศต่างก็ทราบกันดี ซึ่งหลัง คสช.ยึดอำนาจ ทุกคนต่างก็หวังว่ารัฐบาลจะจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่ขณะนี้ทุกอย่างกลับไปอยู่ในสภาพเดิม สร้างความผิดหวังให้กับประชาชนอย่างยิ่ง

แถลงการณ์ได้เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจต่อปัญหาดังกล่าวด้วยการลงไปตรวจสอบการทำงานของ สตช.ด้วยตนเอง สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สามารถสั่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ (จ) ในคดีที่น่าเชื่อว่ามีข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้กระทำความผิด และให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่นายธรรมรักษ์ รวมทั้งบุคคลอื่น ที่แจ้งเบาะแสการกระทำผิดของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนกล้าแจ้งเบาะแสการกระทำผิด

“ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว นายกรัฐมนตรีต้องเร่งปฏิรูปองค์กรตำรวจด้วยการแยกระบบงานสอบสวนออกจากภารกิจตำรวจผู้ทำหน้าที่ตรวจป้องกันอาชญากรรม ต้องให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญ หรือเมื่อประชาชนร้องเรียนได้ตั้งแต่เกิดเหตุ ป้องกันมิให้ตำรวจผู้ใหญ่ใช้อำนาจบังคับบัญชาทั้งทางตรงและทางอ้อมสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยมิชอบ เมื่อตำรวจผู้ใหญ่ไม่สามารถใช้อำนาจสอบสวนหรือทำลายพยานหลักฐานล้มคดีช่วยผู้กระทำผิดทางอาญาได้แล้ว ก็จะไม่มีผู้ประกอบการคนใดจ่ายส่วยหรือสินบนให้ รวมทั้งปัญหาซื้อตำแหน่งเพื่อไปเก็บส่วยรับสินบนก็จะหมดไปด้วย เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด” แถลงการณ์ระบุ.

สำนักข่าววิหคนิวส์