POLITICS: ‘ธีรยุทธ‘ ยื่นร้อง ป.ป.ช.สอบ 44 สส.ก้าวไกล เสนอแก้กฎหมาย ม.112 ชี้ผิดจริยธรรมร้ายแรง ขึ้นอยูกับการไต่สวน จะตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่
วันนี้ (2 ก.พ.67) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ ยื่นคำร้องต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบ 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่ลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกล่าวว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่าเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ผู้ถูกร้องที่หนึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดผู้ถูกร้องที่สอง จำนวน 44 คนได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท
ศาลอธิบายต่อว่าระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง (นายพิธา) ใช้นโยบายของผู้ถูกร้องที่สอง (พรรคก้าวไกล) ในการหาเสียงเลือกตั้ง เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยแก้ไขหมวดความผิด ศาลเห็นว่าการย้ายหมวดเข้าข่ายลดทอนสถานะ ส่งผลให้รัฐไม่อาจเข้าเป็นคู่ความ หรือดำเนินคดีเพื่อปกป้องคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้
ศาลยังวินิจฉัยต่อว่าการที่ผู้ร้องได้เสนอให้มาตรา 112 ออกจากความผิดความมั่นคงต่อราชอาณาจักร มุ่งหวังให้เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญและร้ายแรง ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มีเจตนามุ่งหมายแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ศาลยังวินิจฉัยอีกว่าการผู้ถูกร้องที่หนึ่งและพวก เสนอให้เพิ่มบทบัญญัติให้ผู้กระทำความผิดสามารถพิสูจน์เหตุกระทำผิด และเหตุยกเว้นโทษได้ ย่อมทำให้เกิดความกระทบกระเทือนแห่งบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเนื้อหาร่างกฎหมายแสดงออกถึงเจตนาของผู้ถูกร้องทั้งสองที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ลงผ่านร่างกฎหมาย และอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติ เพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้นผ่านกระบวนการรัฐสภา
การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอร่างกฎหมายแก้มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายการหาเสียงมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้นตนเองจึงเห็นว่าการกระทำของ สส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ที่เสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งศาลวินิจฉัยไว้ว่าเป็นการกระทำล้มล้างการปกครอง เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง
นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่าตนเองไม่ได้ต้องการให้ตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับการไต่สวนและการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ
รายงาน: ณัฐพร สร้อยจำป