โรงฮิงญา คือ ใคร ทำไม รัฐบาลเมียนมาไม่ต้องการให้เรียกชื่อนี้ พร้อมบอกต่อรัฐบาลทหารของไทยที่ออกมาย้ำถึง 2 ครั้งใน 1 สัปดาห์ว่าขอให้เปลี่ยนชื่อเรียกผู้อพยพจากความขัดแย้งในรัฐยะไข่เป็น “เบงกาลี” แทน
bbc – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวย้ำกับผู้สื่อข่าวไทยเป็นครั้งที่ 2 ในวันนี้ (5 ก.ย.) ว่า ขอให้เปลี่ยนชื่อเรียกผู้อพยพจากความขัดแย้งในรัฐยะไข่ในประเทศเมียนมา เป็น “เบงกาลี” แทน “โรฮิงญา” ตามคำร้องขอของพลเอกอาวุโส มี่น อ่อง ไลง์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ที่มาเยือนไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ชื่อนี้สำคัญอย่างไร บีบีซีไทยชวนฟังคำอธิบายจากผู้รู้
นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เมียนมาพยายามผลักดันให้เลิกเรียกชนกลุ่มน้อยมุสลิมว่าโรฮิงญาตั้งแต่ปี 2514 จนมาถึงรัฐบาลที่แล้วของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของเมียนมา เคยบอกว่าไม่ถือว่าชาวโรฮิงญาเป็น 1 ใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศ แต่ถือเป็นพวกเบงกาลี
คำว่า “เบงกาลี” เป็นชื่อตระกูลภาษาอินโดยูโรเปียน หรือแคว้นเบงกอลเดิม ชาวโรฮิงญาอ้างว่าพูดภาษาโรฮิงญาซึ่งโดยรากฐานเดิมก็คือเบงกาลี ประเด็นนี้สัมพันธ์กับชุดประวัติศาสตร์ที่เมียนมาสร้างขึ้น ว่าอังกฤษเข้าไปรุกรานเขาในปี พ.ศ. 2367-2369 แล้วบอกว่าโรฮิงญาเพิ่งเข้ามาในแคว้นอาระกัน จึงไม่นับเป็นพวก
“เขาชี้ไปว่าคนกลุ่มนี้เข้ามาพร้อมความเจ็บปวดของการเป็นเมืองขึ้น เมียนมาจึงผลักดันไปเป็นเบงกาลีเพื่อสื่อนัยว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนนอกประเทศ ถ้าไปย้อนดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่ามีนักสำรวจตั้งแต่ก่อนอังกฤษไปยึดครองอาระกันและเมียนมาพูดว่ามีชาวพื้นเมืองอยู่ที่นั่น ซึ่งก็คือชาวโรฮิงญานั่นเอง” นายศิริพจน์กล่าว
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์รายนี้บอกด้วยว่า “หากไทยยอมเรียกว่าเบงกาลี ก็แสดงว่าสนับสนุนเมียนมา ก็เป็นเรื่องเดียวกับกรณีชาวอุยกูร์ (ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในจีน) ถือเป็นวิกฤตอัตลักษณ์”
“การเรียกชื่อกลุ่มคนมีความสำคัญ เพราะเป็นการบอกนัยชนชั้นทางสังคม ไม่ใช่อยากเรียกอะไรก็เรียกโดยไม่สนใจประวัติศาสตร์ ขณะนี้ผู้อพยพถือเป็นวิกฤตใหญ่ ไม่ว่าอย่างไร เราก็ไม่ควรจะโดนผลกระทบไปด้วยเพราะการเรียกชื่อกลุ่มคน” เขากล่าวทิ้งท้าย
“อินโดฯ โฟเบีย”
ด้าน ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เหตุที่คำว่า “โรฮิงญา” เป็น “ของแสลง” ของคนเมียนมา เพราะความหวาดไปถึงแก่นรากทางสังคมต่อชาวมุสลิมที่มาจากอินโด-อาระยัน หรือที่เรียกว่า “อินโดฯ โฟเบีย”
ผศ.ดุลยภาค กล่าวว่า ในแง่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ชาวโรฮิงญาอยู่ในวงแหวนแห่งความขัดแย้ง 3 วง คือ
1.การขยายตัวของลัทธิอิสลามนิยม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มมุสลิมสุดโต่ง ขบวนการหัวรุนแรงที่เรียกตัวเองว่าไอซิส กระแสการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงมุสลิมจากประเทศบังคลาเทศที่ทะลักเข้ามา จนกลายเป็นกระแสกลัวอิสลาม (อิสลามโฟเบีย)
2.ลัทธิพุทธนิยมแท้ นำโดยพระวีระธู แกนนำสงฆ์ชาตินิยมของเมียนมา ที่เทศน์ไว้ว่าในปี ค.ศ.2100 (พ.ศ. 2643) หากเมียนมาไม่สามารถหยุดการขยายพันธุ์มุสลิม ก็จะกลายเป็นประเทศมุสลิม
3.ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิประชากรศาสตร์ในรัฐยะไข่ของเมียนมา และอ่าวเบงกอลของบังคลาเทศ ที่สภาพอากาศแปรปรวน มีพายุไซโคลนถล่ม จึงเกิดการแย่งชิงที่ดินทำกิน ชาวมุสลิมจากบังคลาเทศหลั่งไหลเข้าเมียนมาต่อเนื่อง ทำให้นักการทหารมองว่าพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่จะเป็นพื้นที่อันตราย หากไม่หยุด ก็จะพังทลายแบบโดมิโน
การทูตการทหารสานสัมพันธ์ไทย-เมียนมา
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดุลยภาคไม่แปลกใจกับท่าทีของรัฐบาล คสช. ต่อคำเรียกขานชาวโรฮิงญาว่าเบงกาลี โดยชี้ว่า “นี่เป็นยุคประวัติศาสตร์การทูตผ่านความสัมพันธ์ของผู้นำทหารไทย-เมียนมา”
เขาชวนทวนความทรงจำในอดีตอันใกล้ว่า “ผบ.สส.เมียนมาเป็นผู้นำนายทหารระดับสูงคนแรกของเมียนมา ที่ชื่นชมว่าการรัฐประหารปี 2557 ทำให้เกิดการรักษากฎระเบียบแห่งรัฐ” ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้สนับสนุนการแก้ปัญหากลุ่มติดอาวุธชายแดนเมียนมาโดยตลอด มีการค้าการลงทุนร่วมกัน จึงเป็นธรรมดาที่ผู้นำทหารไทยจะโอนเอนไปเข้าข้างรัฐบาลเมียนมา หรือยอมเรียกชื่อโรฮิงญาว่าเบงกาลี
ผศ.ดุลยภาคระบุว่า ไทยมองชาวโรฮิงญาว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย ต้องส่งตัวกลับ ขณะเดียวกันกองทัพไทยยังกังวลเรื่องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การข้ามแดนของคนไร้รัฐ ไม่มีตัวตน พิสูจน์สัญชาติได้ จึงยากที่กองทัพไทยจะแสดงเห็นใจชาวโรฮิงญาชัดเจน อีกทั้งนานาประเทศก็ไม่มีใครอ้าแขนรับคนกลุ่มนี้เต็มที่
เมื่อพิจารณาอัตลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ ก็พบว่ามีต้นวงศ์เครือสายสัมพันธ์ทับซ้อนกับชนชาวอินโด-อาระยัน และเบงกาลี แม้ชาวโรฮิงญาอ้างว่าตั้งรกรากในรัฐยะไข่มายาวนาน แต่รัฐบาลเมียนมาก็พยายามลบความเก่าแก่ของชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ ทำให้การพิสูจน์ว่าชาวโรฮิงญาคือใคร พล่ามัว
“หากพิจารณาในเชิงประวัติ การใช้คำว่าเบงกาลีครอบทับโรฮิงญาอาจไม่ถูกนัก แม้จะมีเผ่าพันธุ์ที่ทับซ้อนกันอยู่ แต่เชื่อว่าการแสดงท่าทีของผู้นำทหาร คสช. น่าจะเป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศมากกว่า นี่คือการช่วยเมียนมาทางอ้อม มาให้ต้องรับภาระทางเดียว” ผศ.ดุลยภาคกล่าว
“โรฮิงญาไม่มีความหมายในภาษาพม่า”
โซ วิน ตัน บรรณาธิการข่าว บีบีซีภาษาพม่า กล่าวว่า ที่จริงแล้วคำว่า โรฮิงญาไม่มีความหมายในภาษาพม่า เพราะชาวเมียนมาและรัฐบาลเมียนมาถือว่าคำนี้เป็นคำใหม่ที่ถูกคิดขึ้นมาจากกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ตามเขตชายแดนติดกับบังกลาเทศ และพวกเขาต้องการมีอัตลักษณ์ของตัวเองจึงคิดคำเรียกตัวเองว่าโรฮิงญา
แม้สหประชาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งระบุว่าทุกคนเหล่านี้มีสิทธิที่จะถูกเรียกตามชื่อที่พวกเขาต้องการ แต่รัฐบาลเมียนมากังวลว่าหากชื่อโรฮิงญาได้รับการยอมรับ นั่นอาจหมายถึงว่าชาวโรฮิงญาจะได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมา ในอดีตเคยใช้คำเรียกคนเหล่านี้ว่าโรฮิงญาจากรัฐบาลชุดก่อน เพราะช่วงทศวรรษ 1940-1960 มีชาวโรฮิงญาไม่มากเท่านี้
“โรฮิงญา” เป็นที่ยอมรับในบังกลาเทศ
ซาเบียร์ มุสตาฟา บรรณาธิการ บีบีซีแผนกาษาเบงกาลี กล่าวว่า คำว่า “โรฮิงญา” เป็นที่ยอมรับในบังกลาเทศ เป็นคำที่ใช้เรียกชาวเมียนมาจากรัฐยะไข่ หรือชื่อเดิมว่ารัฐอาระกัน เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโมกุลของอินเดีย และเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา พวกเขาเป็นชาวเมืองอาระกัน และเรียกตัวเองว่าชาวโรฮิงญา ชาวบังกลาเทศมองว่าชาวโรฮิงญาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชนชาติ ถึงแม้พวกเขาจะสืบเชื้อสายบรรพบุรุษเบงกาลี แต่ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมาพวกเขาได้กลายเป็นชาวอาระกันไปแล้ว ฉะนั้นถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายเมียนมา สำหรับชาวบังกลาเทศ พวกเขาคือชาวเมียนมาเชื้อสายโรฮิงญา จึงถือเป็นผู้อพยพ และรัฐบาลเองก็พยายามที่จะดูแลพวกเขาแต่ไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะรองรับผู้อพยพจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าประเทศในช่วงเวลาสั้น ๆ
สำนักข่าววิหคนิวส์