ข่าวประจำวัน » #โลกเปลี่ยน..!!! “โรงเรียนที่กำลังมาแรงที่สุดในเยอรมันนี”

#โลกเปลี่ยน..!!! “โรงเรียนที่กำลังมาแรงที่สุดในเยอรมันนี”

16 May 2017
557   0

วันนี้มีเรื่องราวดีๆ ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ผมเรื่องการศึกษามาเล่าสู่กันฟังครับ

ใครภาษาอังกฤษแข็งแรงขอเชิญอ่านได้ที่เว็บของ The Guardian ได้เลยนะครับ No grades, no timetable: Berlin school turns teaching upside down
แอนทอน โอเบอร์แลนเดอร์เป็นนักพูดโน้มน้าวที่ลีลาเหลือร้าย
เมื่อปีที่แล้วเขากับเพื่อนๆ จะไปเที่ยวที่เมืองคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ แต่ปรากฎว่ามีเงินไม่พอซื้อตั๋วรถไฟ แอนทอนจึงใช้วาทศิลป์ต่อรองกับเจ้าหน้าที่ทางรถไฟจนได้ตั๋วฟรี – เพียงพอที่จะให้ทุกคนในกลุ่มได้เดินทางไปคอร์นวอลล์ด้วยกัน
ฝ่ายบริหารของทางรถไฟประทับใจในตัวแอนทอนมากจนต้องเชิญแอนทอนมาพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับเจ้าหน้าที่ 200 คนของการรถไฟ
อ้อ ลืมบอกไปอีกอย่าง แอนทอนคนนี้อายุแค่ 14 ขวบเท่านั้น
ความมั่นใจของแอนทอนมาจากโรงเรียนที่กำลังปฏิวัติการเรียนการสอนในเยอรมันนีครับ
ที่โรงเรียนแห่งนี้ จะไม่มีการคิดเกรดให้นักเรียนจนกว่าเด็กจะอายุครบ 15 ปี
ไม่มีตารางสอน
และไม่มีการสอนแบบครูออกไปพูดหน้าห้องด้วย
นักเรียนจะตัดสินใจเองว่า แต่ละวันคาบจะเรียนวิชาอะไร
และอยากจะสอบตอนไหน!
วิชาบังคับมีแค่สี่วิชาคือ เลข เยอรมัน อังกฤษ และสังคมศึกษา นอกจากนั้นก็มีวิชาอื่นๆ ที่ชื่อไม่คุ้นหูอย่างวิชา “ความรับผิดชอบ” (responsibility) และวิชา “ความท้าทาย” (challenge)
ในวิชาความท้าทายนั้น นักเรียนที่อายุระหว่าง 12-14 ปีจะได้เงินคนละ 150 ยูโร (ประมาณ 6,000 บาท) เพื่อออกไปผจญภัยโดยต้องวางแผนเองทั้งหมด
แอนทอนกับเหล่าเพื่อนตัดสินใจจะไปเดินป่า (trekking) ในคอร์นวอลล์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทิศใต้สุดของประเทศอังกฤษ (จึงเป็นที่มาของการเจรจาขอตั๋วฟรีนั่นเอง)
ปรัชญาในการทำโรงเรียนรูปแบบใหม่นี้ก็คือ – เมื่อตลาดแรงงานมีความต้องการที่เปลี่ยนไป และอินเตอร์เน็ตกับมือถือก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงการรับรู้ข้อมูลของเด็กรุ่นใหม่ ทักษะที่สำคัญที่สุดที่โรงเรียนจะมอบให้กับเด็กได้คือความสามารถในการกระตุ้นและผลักดันตัวเอง (the most important skill a school can pass down to its students is the ability to motivate themselves)
มาเกร็ต แรสเฟลด์ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนนี้บอกว่า “คุณลองดูเด็กสามสี่ขวบสิ เด็กพวกนี้มีความมั่นใจจะตาย แต่ละคนล้วนแต่กระตือรือล้นที่จะไปโรงเรียน แต่สุดท้ายระบบการศึกษาของเราก็ทำให้เด็กเหล่านี้ค่อยๆ สูญเสียความมั่นใจไปเกือบหมด”
โรงเรียนของแอนทอนที่มีมาเกร็ตเป็นอาจารย์ใหญ่มีชื่อว่า The Evangelical School Berlin Centre (ESBC)
มาเกร็ตบอกว่าพันธกิจของโรงเรียนหัวก้าวหน้าก็คือการเตรียมพร้อมให้คนหนุ่มสาวสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ และจะยิ่งดีไปกว่านั้นก็คือทำให้คนหนุ่มสาวต้อนรับและนำพาความเปลี่ยนแปลง
“ในศตรรษที่ 21 หน้าที่ของโรงเรียนคือการสร้างคนที่มีบุคลิกภาพที่เข้มแข็ง” (In the 21st century, schools should see it as their job to develop strong personalities.) อาจารย์มาเกร็ตบอก
การเรียนการสอนแบบเก่าคือการบังคับให้นักเรียนนั่งฟังอาจารย์ทั้งชั่วโมง และลงโทษนักเรียนที่รวมหัวกันทำการบ้าน (เพราะมองว่าเป็นการลอก) แต่วิธีการเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับการทำงานปัจจุบันที่จำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือและช่วยกันแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่มีใครมาบอกว่าต้องทำอะไร
มาเกร็ตบอกว่า วิธีกระตุ้นเด็กที่ดีที่สุดคือปล่อยให้พวกเขาค้นพบประโยชน์จากวิชาที่เขาเรียนด้วยตัวเอง
นักเรียนที่ ESBC จึงได้รับโอกาสที่จะคิดวิธีทดสอบความรู้ที่เรียนมาได้ด้วยตนเอง เช่นแทนที่จะมานั่งทำข้อสอบ ก็อาจจะลองเขียนโปรแกรมสร้างเกมคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแทน หรืออย่างเด็กชายแอนทอนก็บอกว่า ในช่วงสามสัปดาห์ที่เขาไปเดินป่าในคอร์นวอลล์ เขาได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษมากกว่าที่เรียนในโรงเรียนมาตลอดหลายปีเสียอีก
แม้ว่าโรงเรียนนี้จะเป็นโรงเรียนหัวสมัยใหม่ แต่ก็บังคับใช้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน นักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียนจะโดนลงโทษให้มาเข้าเรียนหนังสือเช้าวันเสาร์เป็นการชดเชย
“ยิ่งมีอิสรภาพมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น” (“The more freedom you have, the more structure you need,” says Rasfeld.)
ที่โรงเรียน ESBC กำลังเป็นโรงเรียนที่มาแรงที่สุดในเยอรมันนีก็เพราะว่าผลิตเด็กออกมาได้มีคุณภาพมาก โดยเกรดเฉลี่ยของนักเรียนที่จบม.ปลายจากโรงเรียนนี้คือ 3.0 (เหมือนได้ B ทุกวิชา) ทั้งๆ ที่ก่อนจะมาเข้าโรงเรียนนี้เด็กเกือบครึ่งถูกมองว่าไม่น่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ด้วยซ้ำ
ESBC เปิดขึ้นเมื่อปี 2007 และมีนักเรียนแค่ 16 คน แต่ปี 2016 มีนักเรียนเต็มความจุถึง 500 คนและมีนักเรียนที่มาลงชื่อเข้าคิวยาวเป็นหางว่าว
ความสำเร็จของ ESBC ทำให้เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เอาการเรียนการสอนแบบนี้ไปลองใช้กับโรงเรียนทั้งประเทศดูบ้าง
น้กการศึกษาบางคนมองว่าอาจจะไม่ง่ายขนาดนั้นเพราะว่าการที่ ESBC อยู่ในเมืองเบอร์ลินอาจทำให้โรงเรียนสามารถคัดแต่เด็กคุณภาพที่ครอบครัวฐานะดี
แต่ครูใหญ่มาเกร็ตบอกว่านั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะว่านักเรียนที่โรงเรียนนี้มีความหลากหลายมาก แม้ว่าชื่อโรงเรียนจะบอกว่าเป็นโรงเรียนคริสเตียนแต่เด็กเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่นับถือคริสต์ มีเด็กถึง 30% ที่ครอบครัวอพยพมาจากประเทศอื่น และมีเด็ก 7% ที่มาจากครอบครัวที่ไม่พูดภาษาเยอรมันที่บ้านเลย
แม้ ESBC จะเป็นโรงเรียนเอกชน แต่ค่าเทอมก็ไม่แพงจนเกินไป คืออยู่ที่ 30,000 – 250,000 บาทต่อปี (ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไม range ถึงกว้างนัก)
มาเกร็ตบอกว่า สิ่งที่ยากกว่าการปรับตัวของนักเรียน คือการหาครูที่พร้อมจะปรับตัวเองเพื่อให้เข้ากับการเรียนการสอนแบบใหม่
มาเกร็ตในวัย 65 ปีที่กำลังจะเกษียนในเดือนนี้บอกว่า เธอได้สร้าง Education Innovation Lab เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนสไตล์ ESBC ที่โรงเรียนอื่นๆ สามารถนำไปใช้ได้ และตอนนี้ก็มีโรงเรียนกว่า 40 โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมแล้ว
“สำหรับเรื่องการศึกษา วิธีเดียวที่คุณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้คือจากล่างขึ้นบน เพราะกระทรวงศึกษาก็เหมือนเรือขนส่งน้ำมันที่อุ้ยอ้ายและกว่าจะกลับหัวได้ก็ใช้เวลาชาติเศษ สิ่งที่เราต้องการคือเรือสปีดโบ๊ทหลายๆ ลำที่จะโชว์ให้คนอื่นเห็นว่าเราสามารถทำการศึกษาให้ต่างไปจากเดิมได้”
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะไปเข้าหูเข้าตาคนที่อยู่ในวงการการศึกษาของเมืองไทย ด้วยหวังใจว่าเขาจะเอาแนวความคิดของคุณครูมาเกร็ตนี้ไปต่อยอดและประยุกต์ใช้กับบ้านเราได้ครับ
Cr : ANONTAWONG MARUKPITAK

Cr ภาพ : www.theguardian.com

ธรรม รักษ์ธรรมธัญ สำนักข่าว Vihok news รายงาน