เมื่อวันที่ 12 เมษายน นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า ตามที่บริษัทจัดอันดับเครดิต Moody’s คงสถานะเครดิตของไทยอยู่ที่ Baa1 ซึ่งถือว่ามั่นคงนั้น สาเหตุหลักมาจากเงินทุนสำรองของไทยที่มีสูงถึง 2.42 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่เกิดจากการสะสมเงินทุนสำรองมากว่ายี่สิบปีตั้งแต่หลายรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจไทยจะดี ดังนั้นไม่อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าใจผิด ซึ่งอาจจะทำให้หลงทางได้ ทั้งนี้เพราะเครดิตจะเปลี่ยนแปลงได้ทันทีถ้ามีปัญหารุนแรงเกิดขึ้นยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่บริษัทเลห์แมน บราเธอร์สจะล้มละลายหนึ่งสัปดาห์ในปี 2008 และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ เรตติงของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์สยังอยู่ที่ “A” เลย แต่อีกไม่กี่วันก็ล้มละลายแล้ว เป็นต้น
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยแล้วยังคงน่าเป็นห่วงอย่างมาก เวิร์ลแบงค์ได้ลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือเพียง 2.9% และ อาจลดลงถึง 2.6% ถ้าสถานการณ์แย่ลง อีกทั้งยังเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงมากเกือบจะทะลุ 15 ล้านล้านบาทแล้ว หรือกว่า 90% ของจีดีพีแล้ว และหนี้สาธารณะของไทยกำลังจะทะลุ 10 ล้านล้านบาทสูงกว่า 60% ของจีดีพีแล้ว หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมาก และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงได้เลย หากพล.อ.ประยุทธ์ยังไม่สามารถใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพได้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ใช้เงินมากแต่เศรษฐกิจไทยกลับไม่ขยายตัว คิดได้แต่จะกู้มาแจกเงินและกู้มาซื้ออาวุธ เศรษฐกิจไทยคงฟื้นยากหรือจะไม่ฟื้นเลย ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก พลเอกประยุทธ์ใช้เงินและแจกเงินสะเปะสะปะมากกว่ารัฐบาลในอดีตมาก แต่ทำเศรษฐกิจขยายได้ไม่เคยเท่ากับรัฐบาลเพื่อไทยในอดีตที่ทำเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ขยายตัวถึง 7.2% และใช้เงินน้อยกว่าพล.อ.ประยุทธ์มาก อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปศึกษาวิธีคิดของพรรคเพื่อไทยจะได้ทำเป็นบ้าง นอกจากนี้อยากให้ไปศึกษาดูว่าในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีไม่มากนักเพราะเพิ่งใช้หนี้ไอเอ็มเอฟหมด แต่ประชาชนกลับมีความเป็นอยู่ที่ดี กินดีอยู่ดี มีรายได้สูง และมีความสุขกันถ้วนหน้ามากกว่าตอนนี้ที่อ้างว่ามีทุนสำรองมากอย่างเทียบกันไม่ได้
นายกฤษฎดา กล่าวอีกว่า ปัญหาความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจไทยทำให้น่าเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะตามรอยวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกาได้ เพราะมีลักษณะหลายอย่างคล้ายกัน ปัจจุบันวิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกาหนักมาก หนี้สาธารณะพุ่งถึง 104% ของจีดีพี เงินเฟ้อพุ่งกว่า 18% ประเทศขาดทุนสำรองระหว่างประเทศทำให้ไม่สามารถนำเข้าพลังงานได้ถึงขนาดต้องปิดไฟฟ้าวันละ 13 ชม. เลย ซึ่งหากประเทศไทยยังปล่อยให้มีการบริหารประเทศย่ำแย่ไปแบบนี้ ประเทศไทยก็อาจจะเป็นเหมือนประเทศศรีลังกาได้ เช่น รัฐบาลกู้มาก แต่ลงทุนไม่เป็น ไปลงทุนในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น ศรีลังกากู้เงินไปสร้างท่าเรือและสนามบินแต่ไม่มีคนมาใช้ ไม่มีรายได้ ในขณะที่ไทยลงทุนจำนวนมากในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ไม่มีนักลงทุนเข้ามา แทนที่จะไปทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อหนองคาย-เวียงจันทร์ทะลุไปประเทศจีน ซึ่งจะขยายการค้าการลงทุนอย่างมาก เป็นต้น การท่องเที่ยวของศรีลังกาที่เป็นรายได้หลักหดหายไปมากเช่นเดียวกับประเทศไทยที่การท่องเที่ยวหดหายไปเช่นกัน หนี้สาธารณะของศรีลังกาเพิ่มไม่หยุดเหมือนหนี้สาธารณะของไทยเช่นกัน อีกทั้งในอดีตศรีลังกาคิดจะพึ่งการบริโภคภายในประเทศไม่พึ่งส่งออกแบบเดียวกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่มีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนหนึ่งเคยพูดไว้ ทำให้การส่งออกลดลงมาก และการส่งออกไทยก็ย่ำแย่มาตลอดจนเพิ่งจะมาฟื้นในปีที่แล้วเพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น แต่การลงทุนของไทยยังต่ำและมีน้อยมาก
ผู้นำที่ดีจะต้องดูแบบอย่างความสำเร็จและความล้มเหลวของประเทศต่างๆมาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาประเทศของตน หากพล.อ.ประยุทธ์ได้ค้นคว้าหาความรู้และศึกษารูปแบบความสำเร็จของประเทศในโลก จะพบว่าสิ่งที่พลเอกประยุทธ์ได้บริหารมาและกำลังบริหารอยู่ไม่มีทางที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้เลย ซึ่งกลับตรงกันข้าม ลักษณะที่พล.อ.ประยุทธ์ทำอยู่นี้เป็นรูปแบบของความล้มเหลวของผู้นำของหลายประเทศที่ประสบกันมาแล้ว ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องปรับวิธีคิดและวิธีบริหาร อีกทั้งอยากให้ฟังพี่โทนี่ที่ศึกษารูปแบบประเทศที่สำเร็จมาอย่างดี และให้ความรู้ประชาชนในคลับเฮ้าส์ทุกวันอังคารเว้นอังคารจะได้มีแนวคิดที่ถูกต้องบ้าง อย่าปล่อยให้ประเทศต้องล้มเหลวกว่านี้อีกเลย