เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #โศกนาฎกรรมที่บ้านน้ำพุ !!ความทุกข์ยากและอุปสรรค์ในห้วงเวลาผ่านการตรากตรำมาหลายสิบฤดู

#โศกนาฎกรรมที่บ้านน้ำพุ !!ความทุกข์ยากและอุปสรรค์ในห้วงเวลาผ่านการตรากตรำมาหลายสิบฤดู

8 August 2022
264   0

 

โศกนาฎกรรมที่บ้านน้ำพุ !!

 

ชายร่างเล็กกระทัดรัด ผิวกร้านแดด ริ้วรอยหย่นกร้านบนใบหน้า บอกถึงห้วงเวลาผ่านการตรากตรำกรำแดดมาหลายสิบฤดูแล้ว ‘ลุงบอง’ แบฝ่ามือรับไมค์จากเจ้าหน้าที่ จนเห็นรอยยับย่นบนฝ่ามือบอกถึงการผ่านความทุกข์ยาก เผชิญอุปสรรคความสิ้นหวังมานานหลายปี

‘ลุงบอง’ เล่าถึงปัญหาการทำกินด้วยเสียงสั่นเครือว่า ‘สวนยางถูกยึดช่วงปี 2557-2558 ถูกกล่าวหาว่าเป็นนายทุน ตนได้เข้ามาทำกินมากกว่า 20 ปี ก่อนปลูกต้นยาง ปัจจุบันต้นยางมีอายุ 9 ปี อาศัยทำกินมา 29 ปี แล้ว

ลุงบองข่มใจนิ่งไปสักครู่ เล่าต่อว่า ‘ตนทำสวนยาง 15 ไร่ ปลูกยาง 1,700 ต้น หลังจากถูกยึดพื้นที่ไปโดยกรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่ตัดต้นยางไปเหลืออยู่ 700 ต้น เข้าไปกรีดยางไม่ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่’

ที่ประชุมนิ่งสงัด ชาวบ้านน้ำพุ หมู่ 6 ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่เข้าร่วมประชุมกว่า 100 ชีวิต ต่างรับชะตากรรมเดียวกัน เคว้งคว้าง เพียงลมพัดผ่านก็แว่วเสียงเป็นความหวังที่จะได้เข้าทำกินบนแผ่นดินเดิมของตน ที่ได้ลงแรง ทุ่มกายทุ่มใจด้วยความทุกข์ยากมากว่า 20 ปีได้

‘ลุงบอง’ ศรีบุตรตา อายุ 74 ปี ชาวบ้านบ้านน้ำพุ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เผยความทุกข์ที่อัดอั้น ให้นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และพลโท จเรศักดิ์ อานุภาพ รองประธานคณะกรรมการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่ศาลาวัดป่าน้ำพุ อำเภอด่านซ้าย พร้อมอนุกรรมาธิการฯ ข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายวรินทร์ ส่งเสริม ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากถูกฟ้องร้องเล่าต่อว่า ‘เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ผู้ใหญ่บ้านประกาศให้ลูกบ้านบ้านน้ำพุลงทะเบียนเกษตรกร วันที่ 13 สิงหาคม 2558 ผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 5 มาลงทะเบียนเกษตรกรตามคำประกาศของผู้ใหญ่บ้านโดยมีหลักฐานที่ใช้ในการลงทะเบียนคือสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูป 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป

14 สิงหาคม 2558 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเอาเอกสารการลงทะเบียนของผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้งห้าแปลงที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน หลังจากนั้นมีหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นผู้บุกรุกเข้าถือครองทำประโยชน์
แต่ถูกแจ้งข้อหาตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ย้อนแย้งกับวันที่ตำรวจมาเอาเอกสารที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน!!??

วันที่ 23 สิงหาคม 2560 การพิพากษาเสร็จสิ้นคดี ความต้องการของชาวบ้านตอนนี้คือขอเพียงเข้าไปทำกินในที่เดิม

ย้อนหลังไปไม่ไกลเมื่อ 26 ธันวาคม 2562 พื้นที่บ้านน้ำพุ หมู่ 6 ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย หลังจากที่มีการตรวจยึดพื้นที่ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าเมื่อปี 2558 จำนวนกว่า 3,017 ไร่ โดยมีการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และใช้มาตรการคำสั่งทางปกครอง หลังจากการตรวจยึดได้มีการปลูกป่าทดแทนตามโครงการประตูน้ำศรีสองรัก (ปี 2562) จำนวน 600 ไร่ และกำหนดเป็นแปลงปลูกป่าปี 2563 อีก 2,400 ไร่ การตรวจยึดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ทำกินในพื้นที่

‘ชาวบ้านมีความกังวลไม่สามารถเห็นอนาคตการทำกิน เพราะที่ดินถูกยึด หลายคนเผชิญกับภาวะเครียด กดดัน จนกระทั่งอยู่ในสภาวะซึมเศร้า นางทิพย์วรรณ เคลื่อนกระโทก อายุ 59 ปี เหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาคปฎิบัติระดับพื้นที่ ตัดสินใจผูกคอตายจบชีวิต เมื่อค่ำของวันที่ 24 ธ.ค.2562 นี่เอง !!’

“เขาเครียดเรื่องที่ทำกิน เขาปลูกต้นไม้ในที่ดิน 10 กว่าไร่ไปหมดแล้ว เราพูดอะไรไม่ได้ ปลูกไปแล้ว ปกติป้าก็จะไปหาเขาทุกวัน ไม่คิดว่าเขาจะคิดสั้นแบบนี้ ป้าเสียใจมากๆ” คำปุ่น ตันตุลา พี่สาวของทิพย์วรรณ เล่าเบื้องหลัง

สืบข้อมูลย้อนหลัง เหตุแห่งโศกนาฎกรรมที่บ้านน้ำพุ เริ่มเมื่อปี 2558 เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปตรวจสอบและยึดพื้นที่ที่บ้านน้ำพุ 3,017 ไร่ ของชาวบ้านประมาณ 60 ครอบครัว โดยไม่ให้ชาวบ้านไปแสดงตัว และชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าที่ดินของตัวเองโดนยึด ยังคงทำไร่ทำสวนต่อไปในที่ดินเดิม ผู้ใหญ่บ้านบอกว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะยึดที่ดินของนายทุนเท่านั้น ไม่ยึดที่ดินของชาวบ้าน

จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 มีโครงการปลูกป่าเข้าไปที่หมู่ 6 บ้านน้ำพุ เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ได้นำผู้รับเหมาเข้าไปดำเนินการปลูกป่า ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวกำลังออกรวงและข้าวโพดยังไม่ออกผลผลิต เจ้าหน้าที่ก็สั่งให้ชาวบ้านเก็บเกี่ยวพืชผลทันที โดยชาวบ้านไม่ได้รู้มาก่อน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน บางคนก็ต้องเก็บมันสำปะหลังทั้งที่ยังหัวไม่ใหญ่ คนที่ปลูกแก้วมังกรก็ต้องรีบถอนเสาออก โดยต้องรีบไปทำตอนกลางคืน เพราะถ้าหากเข้าไปกลางวันก็กลัวเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะจับกุม จะเข้าไปกรีดยางก็ไม่กล้าเข้าไป

สื่อตีแผ่ขณะนั้นว่า ‘วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 เจ้าหน้าที่หน่วย
ป้องกันรักษาป่าที่ ลย.2 (ด่านซ้าย) ได้แจ้งผ่านผู้ใหญ่บ้านน้ำพุว่าทางเจ้าหน้าที่และผู้รับเหมาโครงการปลูกป่าจะดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่ดังกล่าว โดยแจ้งไม่ให้ชาวบ้านเข้าขัดขวางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ หากขัดขืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมได้ยกเลิกข้อตกลงที่ทำประชาคมไว้ในวันที่ 19 พฤศจิกายนทั้งหมดด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่ไม่ยืดระยะเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวบ้านออกไปนั้น ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว’ (https://liff.line.me/1454988218-NjbXbq18/v2/article/jL20GL?utm_source=copyshare)

เหตุการณ์ตรงกับบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36 วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2563
ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) 404 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา
รายงานเรื่องร้องเรียนเช่นเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เลย 2 (ด่านซ้าย) สังกัดสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี ได้ยึดที่ดินทำกินและทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎร 3,017 ไร่ ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ราษฎรได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงธรรมและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จังหวัดเลย
เรื่องจึงได้ระงับไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562

ในการนี้ ผู้ร้องได้มีหนังสือถึงคณะกรรมาธิการฯ โดยสรุปข้อเรียกร้องได้ ดังนี้

1. ขอเข้าพบคณะกรรมาธิการเพื่อให้ข้อเท็จจริง

2. พิจารณาให้ชาวบ้านได้รับสิทธิทำกินในพื้นที่ดังกล่าวในรูปแบบสิทธิ์ทำกิน (สทก.) หรือโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)

3. ชดเชยค่าเสียหายในพืชผลและทรัพย์สินที่ถูกทำลาย

4. เยียวยาจิตใจของชาวบ้าน

5. ชดเชยความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม

6. สอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ

นายสังศิตและพลโทจเรศักดิ์ รับฟังเรื่องราวและข้อมูลอย่างใจจดใจจ่อ ด้วยสีหน้าฉงน คละเคล้ากับตกตะลึง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านน้ำพุ มาแล้วร่วมสิบปี !!?

‘เราจะจบเรื่องราวรันทด’ นี้ได้อย่างไร? แบบไหน ? นายสังศิตเอ่ยถามที่ประชุมวงเล็ก ประกอบด้วย พลโทจเรศักดิ์ อานุภาพ นายเอกพงษ์ น้อยสร้าง และอนุกรรมาธิการ ฯ หลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกับชาวบ้านที่ศาลาวัดป่าน้ำพุแล้ว

เราได้สรุปข้อเสนอ ขั้นตอนที่จะบรรเทาคลายทุกข์ให้ชาวบ้านน้ำพุ ดังนี้

1. ศึกษาหาข้อมูลละเอียดรอบด้าน เพื่อมิให้แนวแก้ปัญหาเป็นประโยชน์กับกลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรกรแท้จริง

2. เชิญหน่วยงาน คทช. กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรทางทะเล ส.ป.ก และที่เกี่ยวข้อง หารือเสนอแนวทางออกร่วมกัน

3. มีเป้าหมายแน่ชัดว่า

3.1 คลี่คลายคดีที่ทุกข์ระทมของชาวบ้าน

3.2 แยกแยะกลุ่มชาวบ้านเกษตรกรแท้จริงออกจากเงานายทุนที่ซ่อนตัวอยู่ในร่างชาวบ้าน

4. หาข้อยุติจัดพื้นที่ให้เกษตรกร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าทำกินในที่เดิม (ในผืน 3,000 ไร่) โดยอาจใช้รูปแบบ คทช. สหกรณ์นิคมหรือ ส.ป.ก

การประชุมของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือที่วุฒิสภา ในวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น.

🔥 เรื่องนี้ยังไม่จบบริบูรณ์ จนกว่าชาวบ้านจะพ้นทุกข์🔥

สวัสดีครับ…จากผมเอง

 

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

8 สิงหาคม 2565