กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็น 200 ซีอีโอ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก ท่องเที่ยว รถยนต์ อุปโภค บริโภค ไอทีดิจิทัล ถึงข้อเสนอแนะ “ทางออก” วิกฤติโควิดในไทยที่ขณะนี้วิกฤติระดับสูงสุด ยอดผู้ติดเชื้อยังคงหลักพัน ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ผลสำรวจ พบว่า ซีอีโอกว่า 55% ระบุ รัฐบาลควร “ปรับคณะรัฐมนตรี” ดึงคนเก่ง ที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาร่วมบริหาร และแก้สถานการณ์โควิด-19 ที่เข้าขั้นวิกฤตสูงสุด ซึ่งรัฐบาลชุดนี้กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงการบริหารจัดการที่ล้มเหลว รองลงมา ซีอีโอ 30% เห็นว่า รัฐบาลควร “ลาออก” และ 21.3% อยากให้เป็นรัฐบาลชุดเดิม แต่ขอให้มีมาตรการแก้ปัญหาแบบเชิงรุก ชัดเจน และวัดผลได้ ขณะซีอีโอราว 12.2% อยากให้รัฐบาลชุดนี้ยุบสภา
กระทรวงที่ซีอีโอมีความเห็นว่า ควรปรับ ครม.ออกมากที่สุด 79.3% คือ กระทรวงสาธารณสุข รองลงมา กระทรวงมหาดไทย35.2% และ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง 31.6%
วิกฤตโควิดระลอกใหม่นี้ กระทบภาพรวมธุรกิจหนัก โดยเฉพาะจากมาตรการคุมเข้มรายจังหวัด การปิดสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง สถานบริการที่ปิดเร็วขึ้น รวมถึงการขอความร่วมมือไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านในเวลาที่กำหนด การขอความร่วมมือเวิร์คฟอร์มโฮม ย่อมกระทบยอดขาย และรายได้ในภาคบริการ รวมถึงธุรกิจที่ยากจะหลีกเลี่ยง
ขอรัฐลดภาษี ยืดหนี้ ลดดอกปล่อยกู้
ซีอีโอ เห็นว่า รัฐบาลควรเร่งนโยบายเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจเพื่อรับมือวิกฤติ โดยกว่า 82.8% ต้องการให้รัฐบาลเร่งผ่อนคลายข้อกำหนดการทำธุรกิจ ลดภาษี พักเงินต้น ยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย รองลงมา 53% ต้องการให้ปล่อยซอฟต์โลนให้ทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ส่วน 46.5% ต้องการให้ลดหรือฟรีค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ให้ทุกครัวเรือน ขณะที่ 27.8% ต้องการให้รัฐแจกเงินเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย
ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติม เช่น ให้รัฐเร่งแก้ที่ต้นตอ คือ เร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด เปิดให้เอกชนรวมถึงโรงพยาบาลเอกชนสั่งวัคซีนได้ มีมาตรการสร้างงาน สร้างอาชีพรองรับ ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบตามมากน้อยตามลำดับ ปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เติมสภาพคล่องทางการเงินให้หันมาบริโภค และใช้จ่ายในประเทศมาขึ้น
“ฉีดวัคซีนให้เร็ว และให้มากที่สุด
เมื่อถามว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่เข้าขั้นวิกฤตสูงสุด คือ อะไร ซีอีโอมากกว่า 86.9% ต้องการให้เร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด รองลงมา 54.5% เร่งระดมภาคเอกชน โรงพยาบาลและทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุน เตียง สถานที่รักษา รองรับผู้ป่วย ซีอีโอมากกว่า 43% อยากให้มีบทลงโทษทางกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนมาตรการสาธารณสุขเข้มงวด และ 42.9% ต้องการให้ใช้ระบบเทเลเมดิซีนเต็มรูปแบบรองรับผู้ป่วยที่ต้องคำแนะนำ
นอกจากนี้ ซีอีโอ 36% ยังต้องการให้รัฐบาลให้อำนาจจังหวัดล็อกดาวน์ในจังหวัดของตัวเอง ขณะที่ 33.8% บอกว่าควรเพิ่มบุคลากร อาสาสมัคร ที่มีความรู้ให้คำแนะนำการ วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อ ผ่านสายด่วน หรือแอพพลิเคชัน และมีซีอีโอราว 27.3% เห็นว่าควรใช้มาตรการล็อกดาวน์บางจังหวัด รวมถึงอาจต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศ
ความเห็นเพิ่มเติมในส่วนนี้ ซีอีโอ ระบุว่า รัฐอาจจำเป็นต้องปิดสถานบริการไม่มีกำหนดเพื่อควบคุมระบาดและสกัดไม่ให้เกิดคลัสเตอร์เพิ่ม รวมทั้งเข้มงวดการลักลอบเข้าประเทศที่เชื่อว่ามีคนไทยอำนวยความสะดวก เพราะอาจเป็นช่องโหว่นำโควิดสายพันธุุ์ใหม่เข้ามา ทั้งต้องบังคับใช้กฎหมายลงโทษกลุ่มบุคคลที่เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อเข้มงวด
ส่วนมุมผู้ป่วยติดเชื้อมีคำแนะนำว่า หากอาการไม่รุนแรงควรพิจารณาให้กักตัวที่บ้าน เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงให้ผู้ป่วยรุนแรง ที่สำคัญรัฐควรเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาช่วยเต็มที่
ทีมเศรษฐกิจ-สาธารณสุข “สอบตก”
อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” เปิดให้ซีอีโอให้คะแนนความพึงพอใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการแก้วิกฤตครั้งนี้ โดยซีอีโอส่วนใหญ่ประเมินให้ “สอบตก” ซึ่งซีอีโอที่ตอบในสัดส่วนมากที่สุดให้คะแนนเพียงแค่ 1 คะแนน จากเต็ม 10
ซีอีโอ 24.9% ให้คะแนนความพึงพอใจต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในการแก้วิกฤติ จากคะแนนเต็ม 10 ให้เพียง 1 คะแนน 14.7% ให้ 5 คะแนน 14.2% ให้ 3 คะแนน และ 10.6% ให้ 6 คะแนน มีซีอีโอเพียง 2.5% เท่านั้นที่ให้คะแนน พล.อ.ประยุทธ์เต็ม 10 คะแนน
ด้านความพึงพอใจต่อ “นายอนุทิน ชาญวีรกุล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซีอีโอ 39.9% ให้ 1 คะแนน รองลงมา 15.7% ให้ 3 คะแนน 11.6% ให้ 2 คะแนน มีซีอีโอเพียง 1.5% เท่านั้นที่ให้คะแนนเต็ม 10
ส่วน “นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งรับผิดชอบงานนโยบายเศรษฐกิจ ซีอีโอ 23.4% ให้ 1 คะแนน รองลงมา 14.7% ให้ 5 คะแนน และ 13.7% ให้ 3 คะแนน มีซีอีโอเพียง 2.5% เท่านั้นที่ให้คะแนนเต็ม 10
เช่นเดียวกับ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งรับผิดชอบนโยบายการเงินการคลังของประเทศ ซีอีโอ 19.5% ให้ 1 คะแนน รองลงมา 14.9% ให้ 5 คะแนน มีเพียง 1.5% เท่านั้นที่ให้คะแนนเต็ม 10
จี้รัฐหนุนเอกชนร่วม “วัคซีน”
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมของ “ทางออก” วิกฤตครั้งนี้ ซึ่งซีอีโอส่วนใหญ่ย้ำการ “เร่งฉีดวัคซีน” ให้เร็ว เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ รวมถึงเรียกร้องให้เปลี่ยนทีมผู้บริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศ ตั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลโควิดโดยเฉพาะและให้อำนาจตรง ทั้งควรพิจารณาให้ประชาชนได้รับการตรวจโควิดฟรี
ซีอีโอให้ความเห็นการบริหารจัดการวัคซีนอย่างกว้างขวาง บางความเห็น ระบุว่า หากรัฐต้องการใช้วัคซีนเพียงแค่ 2 ยี่ห้อ ด้วยเหตุผลทางการเมือง ควรเปิดให้เอกชนจัดการวัคซีนที่มีคุณภาพยี่ห้ออื่นภายใต้การควบคุมของโรงพยาบาล ไม่ใช่มาปิดกั้น
หรือรัฐบาลควรนำเข้าวัคซีนหลายยี่ห้อเพื่อจำหน่ายราคาต้นทุน ให้เป็นทางเลือกประชาชนได้เข้าถึงเสรี จัดทำแผนบริหารจัดการวัคซีนเป็นระบบ ตั้งแต่จัดหา กระจายและกำหนดความร่วมมือรัฐและเอกชนในรายละเอียด
“รัฐบาลควรถอยออกไป ให้เอกชนนำเข้าวัคซีน และให้โรงพยาบาล รวมถึงเอกชนได้บริหารจัดการกันเองตามที่เคยเป็น เพราะมีประสิทธิภาพมากกว่าที่รัฐจะแทรกแซง ที่สำคัญเลิกหาผลประโยชน์จากวัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ การคอร์รัปชั่นจะซ้ำเติมสถานการณ์อย่างมาก” หนึ่งในความเห็นของซีอีโอ
ดึงผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขร่วมงาน
ขณะเดียวกัน มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาผู้มีความรู้ ซื่อสัตย์และกล้าตัดสินใจมาทำงานแก้ปัญหาโควิด รวมถึงรัฐบาลควรเปิดทางให้มีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศแทน หรือพิจารณาคืนอำนาจให้กับประชาชน
“นายกฯ ควรใช้อำนาจในการบริหารงาน และเลือกคนดีมาทำงาน หยุดการเอื้อพวกพ้อง หมดเวลารักพี่รักน้อง ปัญหาบ้านเมืองสำคัญที่สุด” ความเห็นบางส่วนจากซีอีโอ
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งผ่าตัดหน่วยงานราชการที่ปล่อยให้เปิดผับ บาร์ นอกเวลามาหลายปีที่มีทุจริตคอร์รัปชั่นกันเกือบทุกหน่วยงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุการระบาดวงกว้าง
ซีอีโอ บางรายให้ความเห็นว่า หากรัฐบาลต้องการบริหารต่อ ต้องเปิดกว้างระดมเอกชนทุกภาคส่วนมาช่วยเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพดำเนินการ ไม่ใช่มุ่งเน้นเอกชนรายใหญ่ แต่ต้องให้เอกชนทุกส่วนมาช่วยอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว
ส่วนมาตรการช่วยธุรกิจ รัฐควรชัดเจนเพื่อให้ธุรกิจเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ควรประกาศทีหลัง ควรให้ธุรกิจมีเวลาเตรียมแผนให้สอดคล้องกัน ขณะที่รัฐบาลอาจนำเงินเยียวยาไปช่วยเหลือกลุ่มฐานรากที่ไม่ใช้วิธีการแจกเงิน แต่เร่งส่งเสริมเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการคล่องตัว
หมอไม่ทน2แสนชื่อไล่อนุทิน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวกรณี “หมอไม่ทน” ผุดแคมเปญ ล่ารายชื่อไล่ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ “ลาออก” เพื่อให้ผู้มีความสามารถ มีความเหมาะสมมากกว่าเข้ารับตำแหน่ง หลังจากเห็นว่าไม่มีความสามารถมากพอในการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของ โควิด-19
โดยวันนี้ (28 เม.ย.) เมื่อเวลา 07.41 น. ยอดผู้ลงชื่อร่วมสนับสนุนการ “ไล่อนุทิน” ผ่านเว็บไซต์ change.org ในครั้งนี้รวมทะลุ 211,199 รายชื่อแล้ว