นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยไม่เก็บดอกเบี้ย และไม่คิดเบี้ยปรับ ไม่มีผู้ค้ำประกัน และให้มีผลย้อนหลังด้วย ว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ตามที่สภาฯ เห็นชอบ คณะกรรมการกองทุน จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสถานะกองทุนและการบริหารจัดการเรื่องการปล่อยกู้ ในกับนักเรียนในระยะต่อไป เนื่องจากในแต่ละปี กองทุนจะมีสภาพคล่องจากที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ประมาณ 40,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ 6,000 ล้านบาท เมื่อไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายรับส่วนนี้ก็จะหายไป
อย่างไรก็ตาม กองทุน หวังว่า เมื่อมีการยกเว้นดอกบี้ยและเบี้ยปรับ จะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ของเด็กมีมากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยในเรื่องของสภาพคล่องของกองทุนได้
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ กยศ.ต้องเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อไปชี้แจงต่อวุฒิสภา ประเด็นสำคัญ คือ เหตุจำเป็นที่จะต้องมีดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ และข้อเท็จจริงของผลกระทบต่างๆ ซึ่งตามกระบวนการกฎหมาย ใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน เพราะเป็นกฎหมายด้านการเงิน หากผ่านวุฒิสภาเห็นชอบ ก็รอกระบวนการออกกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งจะมีเวลาอีกระยะหนึ่ง แต่หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบจะต้องมีการตีกลับกฎหมายไปตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อแก้ไขร่างกฎหมายนี้อีกครั้ง
ผู้จัดการกองทุน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2538 กองทุนใช้เงิน ‘งบประมาณ’ สำหรับให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 3,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต ซึ่งขณะนี้ดำเนินการมาแล้วกว่า 20 ปี มีเงินหมุนเวียนแล้ว 4 แสนล้านบาท ปล่อยกู้กว่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.2 ล้านคน
ทั้งนี้ มีผู้ปิดบัญชีการชำระหนี้แล้ว 1.6 ล้านคน เสียชีวิต 6.7 หมื่นคน กำลังศึกษาอยู่ 1 ล้านคน และอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านคน โดยในจำนวนดังกล่าว มีการผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านคน คิดเป็นเงินต้นกว่า 9 หมื่นล้านบาท