เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ใกล้สูญเสียอำนาจ ! ปิยบุตร เพ้อ ชนชั้นนำผู้ปกครองกำลังพ่ายแพ้

#ใกล้สูญเสียอำนาจ ! ปิยบุตร เพ้อ ชนชั้นนำผู้ปกครองกำลังพ่ายแพ้

27 August 2022
247   0

  27 ส.ค.2565 – นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้

จากหลุยส์ โบนาปาร์ต ถึง ประยุทธ์

วันนี้ 24 สิงหาคม 2566 ประยุทธ์สถาปนาตนเป็นนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี

จากก่อกบฏในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตั้งตนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลก่อน ยกเลิกรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรมตนเอง ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ แล้วสร้างกระบวนการ “ผลัดกันเกาหลัง” ตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี

จากนั้นก็ทำรัฐธรรมนูญใหม่ วางกลไกการสืบทอดอำนาจ “กวาดต้อน” นักการเมืองที่มี “ชนักติดหลัง” นักการเมืองที่โลภโมโทสันฝันอยากจะเป็นรัฐบาล และพวกสมาชิกวุฒิภาผู้อาสารับใช้เผด็จการที่ประยุทธ์ตั้งไว้ ให้มาสนับสนุน จนตนเองได้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจ

ช่วงเวลานี้มีการถกเถียงการตีความรัฐธรรมนูญว่าประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบระยะเวลา 8 ปีแล้วหรือไม่?

ผมเห็นว่าประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่ง ทั้งในแง่ของตัวบทรัฐธรรมนูญ และทั้งในแง่ความชอบธรรมทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ผมขอไม่ร่วมอภิปรายในประเด็นนี้ซึ่งมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญและนักกฎหมายได้อธิบายแสดงเหตุผลกันมากแล้ว แต่ผมจะขอชี้ชวนให้มองภาพกว้างในทางประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงทศวรรษ เปรียบเทียบกับการขึ้นสู่อำนาจของหลุยส์ โบนาปาร์ต และการวิเคราะห์ของ Karl Marx

ทั้งหมดนี้ เพื่อพิเคราะห์ให้ตรงเป้าว่า

คนแบบประยุทธ์ ขึ้นครองอำนาจได้อย่างไร ?

คนแบบประยุทธ์ อยู่มาได้อย่างไรตั้ง 8 ปี ?

คนแบบประยุทธ์ รับภารกิจประกันอำนาจและผลประโยชน์ให้กับกลุ่มใด ?

ต่อไป เราจะได้ไม่ต้องวนเวียนกับรัฐประหาร และมีคนแบบประยุทธ์กลับมาอีก

Karl Marx ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักประวัติศาสตร์ของเขาในงานสำคัญสองชิ้น ได้แก่ Les luttes de classes en France (1850) – การต่อสู่ทางชนชั้นในฝรั่งเศส และ Le 18 Brumaire de Louis Bonaparte (1852) – 18 เดือนบรูแมร์ของหลุยส์ โบนาปาร์ต

งานสองชิ้นนี้ คือ บทพิสูจน์ว่า Marx ให้ความสำคัญกับการใช้ “วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์” หรือ Historical Materialism ในการวิเคราะห์เหตุการณ์การต่อสู้ทางชนชั้นในฝรั่งเศส ผ่านปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ 1848 จนถึงรัฐประหาร 2 ธันวาคม 1851

การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ 1848 ประชาชนฝรั่งเศสได้ร่วมมือกันโค่นล้มระบอบกษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐที่ 2 ขึ้นแทนที่ อย่างไรก็ตาม “สาธารณรัฐ” ที่ว่านั้นกลับเป็น “สาธารณรัฐแบบกระฎุมพี” ที่พวกชนชั้นกระฎุมพีแย่งยึดครองไปได้ นั่นทำให้ชนชั้นกรรมาชีพตัดสินใจลุกขึ้นสู้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 1848 แต่ถูกกลไกรัฐของพวกกระฎุมพีปราบเสียเหี้ยนเตียน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส มีขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม 1848 ผลปรากฏว่า Louis Bonaparte ชนะไปอย่างถล่มทลายด้วยคะแนนเสียง 5,587,759 คิดเป็นร้อยละ 74.31

รัฐธรรมนูญ 1848 กำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นได้ 3 ปี วาระเดียว เมื่อใกล้ครบวาระ หลุยส์ โบนาปาร์ตพยายามหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สำเร็จ จึงตัดสินใจก่อรัฐประหารในวันที่ 2 ธันวาคม 1851 ประกาศกฎอัยการศึก จำกัดเสรีภาพ ห้ามชุมนุม ปิดสื่อ ขยายฐานผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปให้ครอบคลุมฐานเสียงตนเอง จากนั้นก็จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ให้ประชาชนเห็นด้วยกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีพ ตามมาด้วยการยกเลิกสาธารณรัฐ ตั้งจักรวรรดิ และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ

ในคำนำของหนังสือ 18 Brumaire de Louis Bonaparte ฉบับพิมพ์ครั้งที่สองในปี 1869 Marx ระบุชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนงานชี้นนี้ว่า เขาต้องการแสดงให้เห็นว่า “การต่อสู้ทางชนชั้นในฝรั่งเศสกลับสร้างเหตุการณ์และสถานการณ์ที่ยอมให้คนแกนๆต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและประหลาดพิลึกได้เล่นบทวีรบุรุษได้อย่างไร”

ในงานชิ้นนี้ Marx บรรยายการขึ้นสู่อำนาจของ Louis Bonaparte ในเชิงหยามเหยียดไว้ว่า

“ภายใต้โบนาปาร์ตคนที่สอง รัฐถูกทำให้แยกเป็นเอกเทศออกจากสังคม และปราบปรามสังคม ความเป็นเอกเทศอิสระของอำนาจบริหารได้แสดงให้เห็นในวันหนึ่งเมื่อผู้นำฝ่ายบริหารไม่จำเป็นต้องเฉลียวฉลาด ไม่จำเป็นต้องมีกองทัพแห่งความรุ่งโรจน์ของตน ไม่จำเป็นต้องมีระบบราชการที่เปี่ยมด้วยอำนาจความถูกต้องเป็นของตน เพื่อสร้างความชอบธรรม จักรกลของรัฐได้หลอมรวมตกผลึกอยู่ตรงข้ามกับสังคม เท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้นำสมาคม 10 ธันวาคม (หมายถึง หลุยส์ โบนาปาร์ต) เป็นหัวหน้า อัศวินโชคดีผู้วิ่งมาจากต่างประเทศ (หมายเหตุ – หลุยส์ โบนาปาร์ต เคยพยายามก่อรัฐประหาร และลี้ภัยไปอยู่ลอนดอน) กระโจนขึ้นไปบนป้อมปราการด้วยสภาพทหารขี้เมาที่ต้องคอยเลี้ยงเหล้าและไส้กรอกอยู่ตลอด เมื่อหมด ก็ต้องเริ่มซื้อเหล้าและไส้กรอกให้ใหม่อีก นี่ย่อมบ่งบอกถึงความสิ้นหวังมืดมน เป็นความท้อแท้ ความอัปยศ ที่กดทับหัวใจของฝรั่งเศสเอาไว้จนหายใจไม่ออก ฝรั่งเศสรู้สึกเหมือนตนไร้ซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรี”

Marx อธิบาย “ระบอบโบนาปาร์ต” หรือ Bonapartism ว่าเป็นระบอบการเมืองที่นำเอาการเมืองและรัฐแยกเป็นอิสระออกจากสังคมอย่างถ้วนทั่ว แล้วปล่อยให้การเมืองนั้นถูกปกครองควบคุมโดยคนคนหนึ่งที่วางท่าทีเป็น “คนกลาง” หรือ “ผู้ไกล่เกลี่ย” อยู่เหนือความขัดแย้งใดๆและอยู่เหนือชนชั้นต่างๆในสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนคนนั้นเข้ามาทำหน้าที่รับใช้และรักษาอำนาจและระเบียบของชนชั้นกระฎุมพีต่างหาก

ในกรณีของหลุยส์ โบนาปาร์ตนั้น ฉวยโอกาสก่อรัฐประหารขึ้นครองอำนาจได้ แน่นอนพวกนิยมระบอบเผด็จการแบบโบนาปาร์ตต้องสนับสนุนอยู่แล้ว แต่นอกเหนือไปจากนั้น ยังได้การสนับสนุนจากพวกกระฎุมพี พวกกษัตริย์นิยม เกษตรกร และชาวนาอีกด้วย

ในส่วนของพวกกระฎุมพีและพวกกษัตริย์นิยมเข้าสนับสนุนหลุยส์ โบนาปาร์ต มิใช่เพราะพวกเขารักใคร่ชอบพอ แต่เป็นเพราะต้องการคนที่จะสร้างระเบียบ ความสงบ และรับประกันว่า จะไม่ทำลายประโยชน์ของพวกตน

ในส่วนของพวกเกษตรกร ชาวนา ซึ่งควรต้องต่อต้าน แต่กลับกลายเป็น “ฐานคะแนน” อันเข้มแข็งให้หลุยส์ โบนาปาร์ต ได้อย่างไร? Marx ใช้สังคมวิทยาการเมืองวิเคราะห์ว่า ชาวนาในชนบทต่างแยกกันอยู่อย่างเป็นเอกเทศ ตัวใครตัวมัน ไม่มีการรวมกลุ่มก้อน ไม่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน ไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันของพวกตนเองได้ ไม่มีจุดยึดโยงใดทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่สามารถแสดงออกร่วมกันถึงชนชั้นของตน ไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกันของชนชั้นชาวนาที่ต้องปกป้อง เรียกร้อง ต่อสู้กับชนชั้นอื่น Marx ยืนยันว่า “ชาวนาไม่อาจแทนตนเองได้ พวกเขาต้องถูกแทน” นั่นทำให้ชาวนาในฝรั่งเศสช่วงนั้น “ควานหา” ตัวแทนของตนเพื่อให้คนคนนั้นอยู่เหนือพวกตน ปกป้องพวกตนจากการต่อสู้กับชนชั้นอื่น

Marx เห็นต่อไปว่า ชาวนาฝรั่งเศสถูกกล่อมเกลาให้มีความเชื่อในวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ เรื่องมหัศจรรย์ เกียรติยศของชาติ เมื่อคิดเช่นนี้ก็มักจะหวนไปหามหาบุรุษในประวัติศาสตร์ของพวกเขา นั่นคือ นโปเลียน โบนาปาร์ต เมื่อหลุยส์ โบนาปาร์ต เดิน “ตามรอย” ลุงของตน ก็ยิ่งทำให้ชาวนาสนับสนุน เพื่อให้มาแก้ไขวิกฤตและความสับสนวุ่นวายในประเทศ

การเมือง คือ การต่อสู้ทางชนชั้น และรัฐถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประกันอำนาจ/ผลประโยชน์ของชนชั้นผู้ปกครอง และทำหน้าที่กดขี่ปราบปรามชนชั้นผู้อยู่ใต้ปกครอง

ดังนั้น การต่อสู้กับชนชั้นปกครองจึงไม่อาจจำกัดอยู่ที่ “การเปลี่ยนผู้ปกครอง” จากคนหนึ่งไปเป็นอีกคนหนึ่ง แต่ต้องโจนทะยานสะท้านฟ้าขึ้นไปถึง “การยึดรัฐและเปลี่ยนรัฐ” ให้รับใช้อีกชนชั้นแทน

Marx วิเคราะห์ว่า การปฏิวัติในฝรั่งเศสที่ผ่านมามุ่งเปลี่ยนเฉพาะผู้ถือครองอำนาจรัฐเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำลายกลไกรัฐ กลับใช้กลไกรัฐเหล่านั้นต่อไป กลายเป็นว่าการปฏิวัติสำเร็จเมื่อไรก็ยิ่งเพิ่มเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับกลไกรัฐ ดังที่เขาตั้งข้อสังเกตไว้ในบทที่ 7 ว่า

“ทว่าการปฏิวัติดำเนินต่อไปจนถึงเนื้อแท้ มันยังต้องข้ามผ่านแดนชำระบาป และดำเนินงานของมันตามวิธีการ จนกระทั่งถึงวันที่ 2 ธันวาคม 1851 การปฏิวัติได้บรรลุการตระเตรียมไปแล้วครึ่งหนึ่ง และบัดนี้การปฏิวัติบรรลุการตระเตรียมที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งได้แล้ว เริ่มต้น การปฏิวัติได้ทำให้ระบบรัฐสภาเสร็จสมบูรณ์ นั่นก็เพื่อให้การปฏิวัติสามารถล้มระบบรัฐสภานั้นได้ในเวลาต่อมา เมื่อเป้าประสงค์นี้ได้บรรลุเรียบร้อยแล้ว การปฏิวัติก็เข้ามาทำให้อำนาจบริหารเสร็จสมบูรณ์ ลดทอนมันให้เหลือเพียงการแสดงออกถึงอำนาจอย่างธรรมดา แยกมันออกมาให้โดดเดี่ยว ให้มันกลายเป็นเป้าเพื่อเราจะได้รวมสรรพกำลังต่อต้านและทำลายมันเสียและเมื่อการปฏิวัติดำเนินการจนบรรลุการตระเตรียมในครึ่งหลังที่เหลือเสร็จสิ้น ยุโรปก็จะได้กระโดดโลดเต้นและเฉลิมฉลองว่า “ไอ้ตุ่นเฒ่า แกขุดดินได้เยี่ยมจริง!”

อำนาจบริหารนี้ กอปรด้วยการจัดองค์กรราชการและทหารอันแข็งแกร่ง กอปรด้วยเครื่องจักรรัฐอันสลับซับซ้อนและแยบยล กองกำลังข้าราชการครึ่งล้าน กองทัพทหารอีกห้าแสน ร่างกายปรสิตอันน่าสะพรึงกลัวซึ่งห่อหุ้มร่างกายของสังคมฝรั่งเศสดังร่างแหและอุดรูขุมขนทุกอณูไว้ ร่างกายนี้เริ่มก่อตัวตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ช่วงล่มสลายของระบบศักดินา ร่างปรสิตนี้ก็ช่วยเร่งให้มันพัง […] การปฏิวัติฝรั่งเศสรอบแรกได้พัฒนาการรวมศูนย์อำนาจ ขณะเดียวกันมันก็ขยายขอบอำนาจและกลไกของรัฐบาลออกไปอย่างกว้างขวาง นโปเลียนทำให้กลไกรัฐแบบนี้เสร็จสมบูรณ์ ระบอบกษัตริย์ที่ได้ฟื้นฟูกลับมาใหม่และระบอบกษัตริย์ในเดือนกรกฎาคมก็เข้ามาเพิ่มระบบการแบ่งงานกันทำให้มากขึ้น […]

ในท้ายที่สุด ในการต่อสู้กับการปฏิวัติ สาธารณรัฐแบบรัฐสภาได้ใช้มาตรการปราบปราม เพื่อเพิ่มพูนเครื่องไม้เครื่องมือและการรวมศูนย์อำนาจให้แก่รัฐบาล การปฏิวัติทางการเมืองทั้งปวงทำแต่เพียงสร้างให้กลไกรัฐนี้สมบูรณ์ แทนที่จะบดขยี้กลไกรัฐนี้ให้พังภินท์ บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายที่สลับสับเปลี่ยนกันเข้ามามีอำนาจนั้นล้วนแล้วแต่มองว่าการเข้ายึดครองประดิษฐกรรมรัฐอันมหึมานี้คือผลลัพธ์สำคัญของชัยชนะ”

Marx คาดการณ์ว่า ประสบการณ์การต่อสู้ของชนชั้นแรงงานได้ให้บทเรียนไว้แล้ว ดังนั้น การฏิวัติครั้งถัดไปในฝรั่งเศส จะต้องไม่เพียงเปลี่ยนผู้ถือครองอำนาจรัฐ จะต้องไม่เพียงเปลี่ยนรูปของรัฐแบบราชอาณาจักรหรือจักรวรรดิไปเป็นสาธารณรัฐ ที่มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง แล้วก็ให้พวกกระฎุมพีได้ครองอำนาจ แต่ต้องรุดหน้าต่อไปให้ถึงการบดขยี้กลไกรัฐด้วย

Alain Badiou เปรียบเปรยการขึ้นสู่อำนาจของ Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในปี 2017 คล้ายกับการขึ้นมาของหลุยส์ โบนาปาร์ต ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมคล้ายๆกันนั่นช่วยหนุนเสริมการขึ้นสู่อำนาจของ Macron

Badiou เสนอว่า Macron คือ ผู้ก่อการรัฐประหารประชาธิปไตยได้สำเร็จ หากพิจารณา “รัฐประหาร” ในฐานะวิธีการยึดอำนาจ Macron ยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จ เพียงแต่การยึดอำนาจครั้งนี้มาตามรูปแบบของ “ประชาธิปไตย”

เขาอธิบายต่อไปว่า รัฐประหารแต่ละครั้ง จะมีห้วงความคิดหนึ่งของผู้ก่อการเสมอๆว่า จะยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่ แต่แล้วก็เกิดเซอร์ไพรส์ขึ้นว่าทำสำเร็จแล้ว กรณี Macron ก็เช่นกัน

Macron พยายามเสนอว่าเขาเป็น Ni Ni คือ ไม่ขวา ไม่ซ้าย แต่ Badiou บอกว่า ตรงกันข้ามเลย Macron เป็น Et Et คือ เอาทั้งขวา เอาทั้งซ้าย

Badiou จึงให้ชื่อ Macron ว่า Napoléon Le très petit โดยเปรียบเทียบกับ Napoléon III ที่เข้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็พาฝรั่งเศสเข้าสู่ระบบทุนนิยม เสรีนิยมทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นจักรพรรดิตามรอย Napoléon Bonaparte ผู้เป็นลุง Victor Hugo จึงตั้งสมญาให้ว่า “Napoléon le petit” “นโปเลองน้อย”

ส่วน Macron ก็คล้ายๆกัน มาจากการเลือกตั้ง รวบอำนาจได้เบ็ดเสร็จ และเป็นคนของระเบียบโลกาภิวัตน์-นีโอลิบ Badiou ก็เลยเสนอให้เรียกว่า “นโปเลอง น้อยมาก”

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ต่อเนื่องการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์และพวกจนถึงปัจจุบัน

เกิดคำถามตามมาว่า สังคมไทยปล่อยให้คนแบบนี้เป็นผู้นำประเทศได้อย่างไรตั้ง 8 ปี

และอาจมีปีที่ 9 10 11… ตามมา ไม่ว่าจะเป็นประยุทธ์คนเดิม คนใหม่แบบประยุทธ์ หรือคนใหม่ที่ฉาบภาพลักษณ์อันดูดีกว่า (ทำนองเดียวกับ Macron)

ทำไม สังคมไทยปล่อยให้คนแบบนี้ยกมือเหนือหัวพร้อมหน้าอมยิ้มกลางสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตอบรับอย่างภูมิใจว่า กูนี่แหละ คนทำรัฐประหาร พวกมึงจะทำไม

มองในแง่ร้าย…

ส้งคมไทยแลดูหดหู่เหลือเกิน ที่ยอมให้คนแบบนี้เป็นผู้นำประเทศ

สังคมไทยแลดูสิ้นหวังเหลือเกิน ที่เราไม่สามารถไล่คนแบบนี้ออกไปจากตำแหน่งได้

แต่หากมองในแง่ดี มองแบบวัตถุนิยมวิภาษวิธีทางประวัติศาสตร์แบบที่ Marx วิเคราะห์…

เมื่อการต่อสู้ระหว่างชนชั้นยังคงดำเนินต่อไป

การต่อสู้ครั้งถัดไป ชนชั้นผู้ถูกปกครอง อาจมีโอกาสลุกขึ้นสู้ “กวาดทั้งกระดาน”

ใน “18 Brumaire de Louis Bonaparte” Marx ทิ้งทายปิดเล่มด้วยประโยคที่ว่า

“วันใดที่เสื้อคลุมแบบจักรวรรดิหล่นลงบนบ่าของหลุยส์ โบนาปาร์ต วันนั้น รูปปั้นของนโปเลียนก็จะร่วงหล่นจากยอดเสา Vendôme”

การทิ้งท้ายเปรียบเปรยราวกับกวีของ Marx นี้ หมายความว่า เมื่อไรก็ตามที่ชนชั้นปกครองสิ้นไร้ไม้ตอกถึงขนาดต้องร่วมมือกันยอมสถาปนา “คนแกนๆต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและประหลาดพิลึก” แบบหลุยส์ โบนาปาร์ต ขึ้นเป็นจักรพรรดิ เพื่อรักษาประโยชน์ร่วมกันของชนชั้นปกครองแล้วล่ะก็ นั่นหมายความว่า ต่อไป อีกไม่นาน ระบอบนี้ก็จะต้องถูกโค่นลงอย่างแน่นอน

แล้วประเทศไทยล่ะ?

พวกเขาร่วมมือกันสถาปนาคนแบบประยุทธ์ขึ้นครองอำนาจ โดยใช้ทุกวิถีทาง โนสน โนแคร์ ว่าวิธีการต่างๆจะชั่วร้าย อัปยศ น่าละอาย หน้าด้านเพียงใด

เพราะอะไร?

ใช่หรือไม่ว่า การต่อสู้ทางการเมืองในแต่ละยกๆ ตลอดกว่าร้อยปีที่ผ่านมา เริ่มเข้าใกล้ถึงเส้นชัย ชนชั้นนำกลุ่มก้อนซึ่งปกครองประเทศไทยอย่างยาวนาน ใกล้จะสูญสิ้นอำนาจ ทำให้พวกเขาหมดหนทางถึงขั้นต้องหา “คนแกนๆต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและประหลาดพิลึก” มาเป็นผู้รักษาระเบียบและผลประโยชน์ร่วมของพวกเขา ?

หากเป็นเช่นนี้จริง

ต่อไป… หาก “เสื้อคลุมแบบจักรวรรดิ” หล่นลงบ่าคนแบบประยุทธ์อีกครั้ง

ต้องเดินหน้า ทำให้ “รูปปั้นนโปเลียน” พังครืนลงจากยอดเสา Vendôme !!!