วันนี้ (10 เม.ย.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 789 ราย มาจากระบบเฝ้าระวัง 522 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 259 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย รักษาหายเพิ่ม 33 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ส่วนการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 1-10 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,795 ราย หายแล้ว 735 ราย และเสียชีวิตสะสม 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็นชายไทยอายุ 68 ปี ที่ จ.นครปฐม มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รักษาโรคโควิดหายแล้ว แต่เสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนไตวาย
นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์โควิดขณะนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด เชื่อมโยงสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ ที่มีผู้ติดเชื้อรวม 1,016 ราย ระบาดข้ามจังหวัดไปใน 40 จังหวัด ปัจจัยเสี่ยงคือคนหนุ่มสาวที่ติดเชื้อไปเที่ยวสถานบันเทิงหลายแห่งในคืนเดียว รวมทั้งเมื่อกลับภูมิลำเนาก็ไปเที่ยวสถานบันเทิงอีก ทำให้แพร่กระจายมาก ร่วมกับสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่รวดเร็วขึ้น จากการตรวจผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการแต่มีเชื้อในลำคอจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์นี้ไม่ได้รุนแรงขึ้น ยาที่ใช้ในการรักษายังมีประสิทธิภาพ และไม่กระทบกับวัคซีน โดยที่อังกฤษซึ่งเป็นต้นกำเนิดการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังสามารถลดอัตราการติดเชื้อได้
“จากการสังเกตอาการผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิง พบหลายรายมีอาการตาแดง น้ำมูกไหล ไม่มีไข้ บางรายมีผื่นขึ้น ดังนั้น หากผู้ที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงมีอาการเหล่านี้ขอให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วน รพ.เอกชนถ้าอยู่ร่วมโครงการของ สปสช.ตรวจฟรีเช่นกัน ซึ่งอาการใหม่ที่พบเพิ่มเติมจะเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์อังกฤษหรือไม่ ต้องตรวจสอบข้อมูลก่อน” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ช่วงสงกรานต์ขอให้ลดกิจกรรมที่เสี่ยง ไม่ไปสถานที่เสี่ยง ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ใส่หน้ากากเวลาพูดคุย หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารร่วมกับคนจำนวนมาก เว้นระยะห่างและล้างมือบ่อยๆ หากไปเยี่ยมผู้สูงอายุ ขอให้ใส่หน้ากากทุกครั้ง เพราะติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต นอกจากนี้ ขอให้ตรวจสอบมาตรการจังหวัดปลายทางด้วย แม้ ศบค.จะไม่ห้ามการเดินทาง ไม่ต้องกักตัว แต่จังหวัดสามารถออกมาตรการเข้มกว่าได้
สำหรับวัคซีนโควิดที่ประเทศไทยนำมาใช้ยืนยันว่า มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลก และการตรวจสอบจากคณะผู้เชี่ยวชาญไทย เช่น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันการติดเชื้อร้อยละ 60 ลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 9 เมษายน 2564 ฉีดแล้ว 537,380 โดส แบ่งเป็นฉีดเข็มแรก 470,301 ราย ฉีดครบ 2 เข็ม 67,079 ราย การฉีดวัคซีนไม่ได้ล่าช้า มีประสิทธิภาพ มีการจัดการฉีดวัคซีนที่ดี เช่น ชลบุรีฉีดวันละ 1 หมื่นโดส ภูเก็ตวันละ 1.4 หมื่นโดส ส่วนวัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดส ที่ถึงไทยวันนี้ หลังตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยจาก อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วจะกระจายไปตามแผน ทั้งกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าอื่นๆ พื้นที่ที่มีการระบาด จังหวัดที่มีแผนเปิดจังหวัด เป็นต้น