ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » #ใต้เขื่อนระทึก ! เขื่อนอุบลรัตน์น้ำเกินความจุ 103%แล้ว ต้องเร่งระบาย 100ล้าน ลบ.ม./วัน

#ใต้เขื่อนระทึก ! เขื่อนอุบลรัตน์น้ำเกินความจุ 103%แล้ว ต้องเร่งระบาย 100ล้าน ลบ.ม./วัน

4 October 2022
349   0

 

 

   ศูนย์ข่าวขอนแก่น – เผยปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มขึ้นแตะระดับ 100 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และเกินความจุอ่าง 103% แล้ว เล็งขอเพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 54 ล้านลูกบาศก์เมตร หากน้ำยังไหลเข้าต่อเนื่อง เตือนประชาชนทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเพื่อรับมือได้ทัน


นายพงศกร เรืองมนตรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือขื่อนอุบลรัตน์ เปิดเผยถึงระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 182.18 เมตร ในระดับน้ำทะเลปานกลาง ปริมาณเก็บกักน้ำอยู่ที่ 2,515.89 ล้าน ลบ.ม. แต่เขื่อนฯ มีความจุเพียง 2,504 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ตอนนี้น้ำในเขื่อนจึงเกินความจุของอ่างไปแล้ว 103%

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์จะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ต้องรายงานให้ทุกจังหวัดทราบ รวมถึงรายงานให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดที่อยู่เหนือเขื่อนฯ หรือด้านล่างเขื่อนฯ ได้ทราบอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำชีว่า หากปริมาณน้ำในเขื่อนสูงเกินกว่าความจุของอ่าง เขื่อนจะทำการระบายน้ำที่วันละ 35 ล้าน ลบ.ม. เพราะเขื่อนรับน้ำจากปริมาณน้ำไหลหลากจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำและพายุโนรู ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนวันละ 130 ล้าน ลบ.ม.


จึงจำเป็นต้องระบายวันละ 35 ล้าน ลบ.ม.ในวันที่ 3 ตุลาคมเป็นวันแรก โดยจะระบายติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ ทางเขื่อนฯ ยังมีการคาดการณ์ว่าหากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 183 เมตรในระดับทะเลปานกลาง ก็จะเพิ่มการระบายน้ำเป็นขั้นบันได เพิ่มขึ้นอีกวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอาจจะต้องระบายถึง 54 ล้าน ลบ.ม./วัน เพราะปริมาณน้ำที่ไหลเข้าในเขื่อนมีปริมาณมากถึงวันละเป็น 100 ล้าน ลบ.ม. แต่การระบายออกมีปริมาณที่น้อยกว่า จึงมีการแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อน และอยู่ท้ายเขื่อน ให้เตรียมตั้งตัวรับกับปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น


นายพงศกรกล่าวอีกว่า ปีนี้น้ำมาเร็ว เพราะทุกปีน้ำจะเข้าเขื่อนในช่วงปลายเดือนตุลาคม แต่ปีนี้กลางเดือนกันยายนน้ำก็มาแล้ว โดยเป็นน้ำจาก 3 สายที่ไหลเข้าเขื่อน คือจากต้นน้ำของแม่น้ำพอง ที่มีน้ำไหลจากภูกระดึง ผานกเค้า จ.เลย ไหลลงมาที่ อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ไหลมาลงที่เขื่อนฯ สายที่สองน้ำจากจังหวัดชัยภูมิ และจากเขื่อนจุฬาภรณ์ ไหลลงลำน้ำเชิญ ลำน้ำพรม รวมกันมาลงที่เขื่อนฯ สายที่สามน้ำจากลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ก็ไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อน้ำทั้ง 3 สายไหลลงสู่เขื่อนฯ น้ำก็มีความจุเพิ่มขึ้น


ขณะเดียวกัน เขื่อนฯ ก็ต้องเฝ้าระวังให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนให้น้อยที่สุด ทั้งในพื้นที่ อ.โนนสังข์ และ อ.ศรีบุญเรืองของ จ.หนองบัวลำภู และ อ.อุบลรัตน์ อ.หนองเรือ อ.ภูเวียง อ.หนองนาคำ จ.ขอนแก่น ที่จะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในเขื่อนฯ เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่ให้คันดินที่กั้นเขื่อนอุบลรัตน์ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูไม่ให้ได้รับผลกระทบอีก เขื่อนฯ จึงจำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบโดยรวมทั้งหมด