ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ ทวีตข้อความวานนี้ (4) ว่า “ภาพจากเมืองบูชาและการทำลายล้างที่เกิดขึ้นทั่วยูเครน ทำให้พวกเราจำเป็นที่จะต้องลงมือทำในสิ่งที่สอดคล้องกับคำพูด… เราไม่อาจปล่อยให้รัฐสมาชิกที่บ่อนทำลายทุกๆ หลักการที่เรายึดถือยังคงเข้าร่วมต่อไปได้”
ลิซ ทรัซซ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ออกมาระบุในทำนองเดียวกันว่า “ด้วยหลักฐานการก่ออาชญากรรมสงครามที่ชัดเจน รวมถึงรายงานเรื่องหลุมฝังศพหมู่และการเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมที่บูชา รัสเซียไม่สามารถเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นได้อีกต่อไป รัสเซียจะต้องถูกระงับสมาชิกภาพ”
สหรัฐฯ ระบุว่า การโหวตเพื่อระงับสมาชิกภาพของรัสเซียอาจจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ (7)
วาสซิลีย์ เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น ออกมาแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อน โดยชี้ว่า “นี่มันไม่น่าเชื่อเลย”
“สิ่งที่โลกตะวันตกกำลังทำกับรัสเซียคือการกีดกันเราออกจากเวทีพหุภาคีที่เรามีส่วนร่วมกับทั่วโลก เรื่องแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน และมันจะไม่ช่วย หรือสนับสนุน หรือส่งเสริมสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน”
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนไปพบศพจำนวนมากถูกทิ้งให้นอนกระจัดกระจายอยู่บนถนนที่เมืองบูชาใกล้ๆ กรุงเคียฟ หลังกองกำลังยูเครนยึดเมืองแห่งนี้กลับคืนมาจากรัสเซียได้ โดยผู้เสียชีวิตเหล่านี้สวมชุดพลเรือน และบางศพอยู่ในสภาพถูกมัดแขน
อนาโตลี เฟโดรุก นายกเทศมนตรีบูชา ให้สัมภาษณ์ว่า เหยื่อหลายคน “ถูกยิงเข้าที่ศีรษะจากทางด้านหลัง”
อิรีนา เวเนดิกโตวา อัยการสูงสุดยูเครน ระบุว่ากำลังมีการรวบรวมหลักฐาน โดยขณะนี้มีการพบศพพลเรือนที่เมืองบูชาแล้วไม่น้อยกว่า 410 ร่าง
มิเชลล์ บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น ยอมรับว่าภาพถ่ายผู้เสียชีวิตที่เมืองบูชาบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการ “ก่ออาชญากรรมสงคราม”
ทำเนียบเครมลินยืนยันว่า ทหารรัสเซียไม่ได้ฆ่าพลเรือนยูเครน และภาพศพที่เผยแพร่ออกมาเป็นแค่ “เฟกนิวส์”
ทั้งนี้ การระงับสมาชิกภาพของรัสเซียใน UNHRC จะต้องได้คะแนนโหวต 2 ใน 3 หรืออย่างน้อย 129 เสียง จากจำนวนรัฐสมาชิกยูเอ็นทั้งหมด 193 ประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ และอังกฤษเชื่อว่าจะระดมเสียงสนับสนุนได้มากพอ หลังจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเคยลงมติท่วมท้น 141 เสียงประณามกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนมาแล้ว เมื่อวันที่ 2 มี.ค.
โธมัส-กรีนฟิลด์ ย้ำว่า “รัสเซียไม่สมควรมีที่ยืนในองค์กรแห่งนี้ และเราไม่ควรอนุญาตให้รัสเซียใช้ที่นั่งในคณะมนตรีเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อว่าพวกเขาก็มีความห่วงใยโดยชอบธรรมต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน”
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นมีสมาชิกทั้งหมด 47 ประเทศ โดยรัสเซียนั้นเป็นสมาชิกเข้าสู่ปีที่ 2 จากวาระทั้งหมด 3 ปี
ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์