30 ธ.ค.2564 – เมื่อเวลา 10.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นระบุการเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันโปรดเกล้าฯ วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ทำให้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนถึงปีพ.ศ. 2570 เพราะ ใช้กฎหมายย้อนหลังในทางเป็นโทษไม่ได้ว่า ตนไม่มีอะไรจะพูด เรื่องนี้มาจากสภาฯ ต้องไปถามสภาฯ เพราะเราไม่ได้ส่งไปให้สภาฯ พิจารณา ถ้าจะส่งต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า เหตุผลที่สภาฯ ออกความเห็นเช่นนี้ เป็นแนวคิดเดียวกับนายวิษณุใช่หรือไม่รองนายกฯ กล่าาว่า “ไม่ตอบ เป็นเรื่องของสภาฯ ซึ่งสภาฯ ในที่นี้ ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาแต่มาจากฝ่ายกฎหมาย อย่าไปโทษสภาฯ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ส.ส. 500 คน หรือส.ว. เขามีสิทธิที่จะทำการบ้านเสนอผู้บังคับบัญชา เขาเห็นแบบนั้นจะถูกหรือจะผิดก็ช่างไม่ใช่ประเด็นสำคัญ”
เมื่อถามว่า หากมีประเด็นออกมาเช่นนี้แล้วจะต้องหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรต้องทำ เรื่องนี้มีการตั้งข้อสงสัยมานานแล้ว หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องก็มีสิทธิที่จะศึกษาและหาคำตอบ เพื่อจะแจ้งหน่วยงานของตัวเอง ดังนั้นสภาฯ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือกนายกฯ จึงมีสิทธิออกความเห็น ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะทำในส่วนของตัวเอง รัฐบาลก็ทำในส่วนของรัฐบาลพรรคการเมืองก็ทำในส่วนของตัวเองเตรียมไว้ แต่หากจะให้เกิดการยอมรับหรือเชื่อถือในสาธารณชน จะต้องมาจากการวินิจฉัยของผู้มีอำนาจองค์กรเดียว คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของรัฐบาล ต้องพึ่งพาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีน้ำหนักระดับหนึ่ง แต่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะส่งไปในจังหวะที่เหมาะสม แต่หากจะให้คนยอมรับและยุติ ก็ต้องฟังศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะเป็นคำตอบสุดท้าย และจะต้องมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม หากถามไปตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ตอบ
เมื่อถามว่า จะส่งเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎี ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องให้เวลาที่จะวินิจฉัยออกมาแล้วสามารถใช้การได้หากส่งไปในช่วงใกล้เดือนสิงหาคม 2565 ก็จะสงสัยกันอีก ทั้งนี้ มันมีจังหวะเวลาที่เหมาะสมอยู่ เมื่อถามว่า หากจะต้องปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะใช้เวลารอคำตอบนานเท่าใด นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่นาน”
เมื่อถามว่า ผู้ที่สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความได้ มีเฉพาะแค่ส.ส. ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใครก็ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีสิทธิไม่รับ เพราะเรื่องยังไม่เกิด และปัญหาคือศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำถามที่สมมติเพราะยังไม่เกิด แต่ถ้าเรื่องเกิดขึ้นแล้วก็จะสายเกินแก้ ฉะนั้นต้องมีจังหวะเวลาที่เหมาะสม ส่วนจะมีเงื่อนไขอะไรที่จะให้ศาลเห็นว่าเป็นประเด็น เอาไว้ค่อยคุยกันอีกที
เมื่อถามย้ำว่า ฝ่ายค้าน มองว่าสภาฯ ไม่น่าจะมาออกตัวให้ความเห็นเรื่องนี้ก่อน รองนายกฯ กล่าวว่า ฝ่ายค้านก็ตีความของตัวเองอยู่เหมือนกันมิใช่หรือ เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่า นายกฯ ไม่ได้เป็นส.ส. เหตุใดฝ่ายกฎหมายสภาฯ จะต้องมาออกความเห็น นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯ มาจาก ส.ส. เลือกเข้ามา และจะต้องเลือกในครั้งต่อไป จึงต้องเตรียมคิดเอาไว้ในส่วนนี้ ถึงบอกว่า โจทย์เรื่องนี้ ถ้าคุยกันในสังคม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับใครคนนั้นก็อยากรู้ สื่อเองก็อยากรู้ อาจจะหานักวิชาการมาแนะนำก็ได้ แต่ทุกอย่างไม่ใช่ทางการ ทั้งนี้ สภาฯ ก็เตรียมในส่วนของตัวเองไว้ กกต. ก็จะทำในส่วนของตัวเองรัฐบาลก็ทำในส่วนของรัฐบาล พรรคการเมืองก็ทำในส่วนของตัวเองเตรียมไว้ แต่ในที่สุดคำตอบ ที่แท้จริงต้องมาจากศาลรัฐธรรมนูญ