.
วันนี้ (31 สิงหาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยระบุว่า การศึกษาเป็นสวัสดิการที่สำคัญสำหรับอนาคตของประชาชน และเป็นการลงทุนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แม้หลายประเทศจะมีข้อถกเถียงและข้อสรุปที่แตกต่างกันถึงระดับชั้นที่รัฐควรอุดหนุนให้ประชาชนได้เรียนฟรี ณ ปัจจุบัน แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่าหากสามารถจัดสรรงบประมาณได้เพียงพอ การอุดหนุนให้ประชาชนมีสิทธิเรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัยเป็นนโยบายที่จะสร้างโอกาสให้กับผู้คนจำนวนมาก และเป็นนโยบายที่บางประเทศทำให้เกิดขึ้นจริงได้
.
การเรียนมหาวิทยาลัยฟรีจึงเป็นเป้าหมายที่พรรคก้าวไกลต้องการมุ่งไป โดยหากรัฐไทยยังไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อเรียนอุดมศึกษาฟรีได้ในทันที เรามีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาของ กยศ. ดังที่วาระร่างพระราชบัญญัติ กยศ. เข้าสู่สภาในวันนี้ครับ เพื่อรับประกันสิทธิทางการศึกษาของผู้เรียนในช่วงเปลี่ยนผ่าน
.
กยศ. ถูกก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานของการขยายโอกาสในการเข้าถึงทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผ่านการให้ผู้เรียนกู้ยืมจากกองทุนในส่วนของค่าเล่าเรียน และค่าครองชีพ 3,000 บาทต่อเดือน (เฉลี่ยประมาณ 400,000 บาทต่อคน สำหรับการเรียน ป.ตรี 4 ปี)
.
แต่ที่ผ่านมาเงื่อนไขและการบริหารจัดการในหลายส่วนกลับทำให้เกิดปัญหา ทั้งในการจำกัดโอกาสสำหรับผู้ที่อยากเรียนบางกลุ่ม การเพิ่มภาระให้กับผู้เรียนที่กู้เงินไปแล้ว และการบริหารจัดการกองทุนให้มีสภาวะทางการเงินที่เสี่ยงจะไม่ยั่งยืนสำหรับการปล่อยกู้ให้ผู้เรียนในอนาคต
.
หากเรายังต้องการคงไว้ซึ่งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ในช่วงที่ยังไม่มีการอุดหนุนการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี พรรคก้าวไกลจึงได้เสนอ 5 ข้อเสนอ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาวาระ 2 (รายมาตรา) เพื่อปรับปรุงให้ กยศ. มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดภาระต่อผู้เรียน และรักษาความยั่งยืนของกองทุน
.
โดยพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอ 5 ข้อ คือ
.
1. ทุกคนเข้าถึงสวัสดิการ กยศ. ได้อย่างถ้วนหน้า (มาตรา 4): ยกเลิกเรื่องเกณฑ์พิสูจน์ความจนในการกู้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตกหล่น และเพื่อยืนยันหลักคิดว่าสวัสดิการกู้ยืมเพื่อการศึกษาควรเป็นสวัสดิการที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน
.
2. ขยายเงื่อนไขการให้ทุนเรียนฟรี สำหรับผู้เรียนบางกลุ่ม (มาตรา 5): เพิ่มความยืดหยุ่นให้กองทุนในการพิจารณาให้ทุนการศึกษาแบบให้เปล่าสำหรับผู้เรียนบางกลุ่ม ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกไปสู่การเรียน ปวส. ฟรี หรือ ป.ตรี ฟรี สำหรับบางกลุ่ม
.
3. ยกเลิกการมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี (มาตรา 13): รับประกันว่า กยศ. จะไม่มีการกำหนดให้ผู้กู้ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี ซึ่งครอบคลุมกว่าร่างข้อเสนออื่นๆ ที่ยังเปิดช่องให้กำหนดผู้ค้ำประกันได้ในทุกระดับ หรือในบางระดับ (เช่น สูงกว่า ป.ตรี)
.
4. ผ่อนปรนเงื่อนไขชำระหนี้ จ่ายคืนต่อเมื่อมีรายได้ (มาตรา 17): ผู้เรียนมีสิทธิจ่ายเงินกู้คืนต่อเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี หรือภายในระยะเวลา 30 ปี มีเพดานดอกเบี้ยและเบี้ยปรับไม่เกิน 1% ต่อปี ซึ่งอาจปรับลดเหลือ 0% (โดยรัฐอุดหนุนส่วนต่างรายได้กองทุนที่หายไป) และอาจมีทางเลือกชำระหนี้เป็นทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
.
5. ปัญหาสัญชาติที่ค้างคาอยู่ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการกู้ยืม (มาตรา 12/1): อนุญาตให้บุคคลที่รัฐกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะให้มีสัญชาติไทยอย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่เสียสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการ กยศ.
.
“นอกเหนือจากข้อเสนอนี้ที่อยู่ภายใต้อำนาจของ กยศ. โดยตรง รัฐและ กยศ. จำเป็นต้องร่วมแก้ปัญหาเรื่องสภาวะการตกงานของผู้จบใหม่ด้วย ตั้งแต่การแก้ที่ ‘ต้นทาง’ ผ่านการผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรที่ส่งเสริมทักษะซึ่งสอดรับกับตลาดแรงงาน และการแก้ที่ ‘ปลายทาง’ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหางานให้กับผู้เรียนที่จบใหม่” พิธากล่าว
.