ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนมีมานานแล้ว ที่โดดเด่นที่สุดในระยะหลังคือสงครามการค้า สำทับด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษกันไปมา ไม่รวมถึงประเด็นที่คุกรุ่นกันมาโดยตลอดเช่น ทะเลจีนใต้
กรุงเทพธุรกิจ- ล่าสุดเป็นเรื่องของกฎหมายความมั่นคงฮ่องกง ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลมาถึงอาเซียนและไทยด้วย ซึ่งคนที่จะอธิบายเรื่องราวเหล่านี้ในมิติของสหรัฐได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น “ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี” เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย
ทูตดีซอมบรีให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจว่า ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐ มองจีนอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ใช่หวังอยากให้จีนเป็นอย่างที่รัฐบาลสหรัฐในอดีตต้องการ ดังนั้นเราจึงเห็นความท้าทายจากจีนมากมายอย่างไม่ต้องสงสัยที่มาจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ
สหรัฐไม่ต้องการให้อาเซียน รวมถึงไทยต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐกับจีน
“ก็อย่างที่ผมบอก ถ้าคุณต้องการเป็นเพื่อนกับประเทศไหน จะเป็นเพื่อนกับจีนก็ไม่เป็นไร สหรัฐมองตัวเองว่าเป็นเพื่อนที่ดีกว่า และยังคงเป็นเพื่อนที่ดีแบบนั้นตลอดไปโดยเฉพาะกับไทย”
สหรัฐ หวังจีน ทำตามข้อตกลงการค้าเฟสหนึ่ง
สำหรับสหรัฐกับจีน ทูตกล่าวว่า สองประเทศมีหลักการร่วมกันในบางเรื่อง เพื่อมองหาโอกาสข้างหน้าร่วมกัน และหวังจะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง แต่น่าเสียดาย ที่โอกาสไม่ได้เกิดขึ้นมากนัก ขณะที่สหรัฐก็พยายามสนับสนุนให้ดำเนินการไปต่อได้ เช่น ข้อตกลงการค้าสหรัฐ-จีน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทั้งสองสามารถหาจุดร่วมกันได้ สหรัฐรอคอยให้จีนดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเฟสหนึ่ง นี่เป็นตัวอย่างที่ดีในการค้นหาจุดร่วมระหว่างกันท่ามกลางสถานการณ์อื่นๆ
“ไม่ควรมีอุปสรรคใดๆ ต่อจีนในการทำตามข้อตกลงการค้าเฟสหนึ่ง ผมคิดว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความชัดเจนในขั้นตอนแล้ว และทางสหรัฐก็หวังว่า จีนจะทำตามที่ตกลงไว้ ถ้าหากไม่เป็นเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องน่าผิดหวังมาก” ดีซอมบรี กล่าว
อาเซียน-ไทย ไม่ต้องกังวลเทรดวอร์
ส่วนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน จะส่งผลกระทบต่ออาเซียนหรือไม่นั้น ทูตสหรัฐมองว่า ไม่มีเรื่องที่ต้องกังวล แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สถานการณ์แม่น้ำโขงแล้งที่เกิดจากการควบคุมปล่อยน้ำลงลำน้ำโขง และปัญหาการปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งทางการไม่สามารถทลายแหล่งสารตั้งต้นยาเสพติดในเมียนมา ที่ลักลอบเข้ามาผลิตยาบ้าในไทยได้
สหรัฐเห็นโอกาสการค้า-ลงทุนในไทย
ท่ามกลางเศษฐกิจต่างพากันหดตัวทั่วโลก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ ทูตสหรัฐได้พบกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 พ.ค. และได้คุยกันในหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ ซึ่งทูตสหรัฐได้แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบว่า มีบริษัทเอกชนอเมริกันใช้โอกาสนี้ ย้ายฐานการผลิตมายังไทย ซึ่งในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีบริษัทจำนวนมาก ห่วงกังวลเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน และกำลังมองที่ตั้งแหล่งใหม่ นี่เป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทย
“ในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ไทยสามารถรับมือการแพร่ระบาดได้ดี โดยเฉพาะรักษาระดับผู้ติดโควิด-19ได้แล้ว ไทยยังคงมีนโยบายเปิดตลาดทางเศรษฐกิจ สร้างบรรยากาศด้านการลงทุนให้กับต่างชาติ” เอกอัครราชทูตสหรัฐระบุ
ไทย เหมาะเป็นที่ตั้งห่วงโซ่อุปทานใหม่
ส่วนตัวดีซอมบรีมองว่า ไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมกับการเป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทาน ที่มีปลอดภัย มั่นคง เชื่อถือได้ และคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งสหรัฐมุ่งมั่นเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์การค้าและการลงทุนกับไทย ตามสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับไทยปี 2509 โดยไทยมีบทบาททางการค้าที่สำคัญของสหรัฐ แม้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ไทยยังรักษาบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน และส่งเสริมธุรกิจ ดังรายงานผลสำรวจของ US.News & World Report จัดให้ไทย เป็นอันดับหนึ่งที่เหมาะสมการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก ประจำปี 2563 ด้วยเหตุผลในแง่ดีหลายด้าน เช่น ค่าแรงไทยต่ำกว่าจีนโดยเฉลี่ย 50% เป็นต้น
“สหรัฐมองเห็นโอกาสในวิกฤติครั้งนี้ ส่วนตัวต้องการให้บริษัทเอกชนสหรัฐเข้ามาตั้งห่วงโซ่อุปทานในไทยมากยิ่งขึ้น ทั้งโรงงานผลิต แหล่งกระจายขนส่งสินค้าไปยังประเทศที่เป็นตลาดของสหรัฐ” เอกอัครราชทูตสหรัฐ กล่าวย้ำ
บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่สหรัฐ เตรียมเปิดตัวในไทย
ธุรกิจการบินและอวกาศ และธุรกิจชิ้นส่วนอาวุธเพื่อการป้องกันประเทศ เป็นอุตสาหกรรมในสาขาที่ไทยต้องการเพิ่มศักยภาพมากขึ้น ในทำนองเดียวกัน ถ้ามองระดับคุณภาพสินค้า จะเห็นว่า ไทยกำลังก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีสูง ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตวัสดุเชิงก้าวหน้า (Advanced materials) หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จึงเหมาะกับการเป็นที่ตั้งซัพพลายเชนของโรงงานผลิตสินค้าเหล่านี้
ทูตดีซอมบรี เปิดเผยว่า บริษัทเอกชนสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิต Advanced materials รายใหญ่ของประเทศ จะเปิดตัวการลงทุนในไทย จะเป็นแหล่งผลิตแห่งแรกในเอเชีย ในเดือน ก.ย.นี้ ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวได้ทำการเปรียบเทียบพื้นที่ซัพพลายเชนใน 24 ประเทศ พบว่า ไทย มีความพร้อมและเหมาะสมมากที่สุด โดยส่วนตัวเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากกว่าเวียดนาม ขณะที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย เช่น โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์ดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ คนต่างชาติส่วนใหญ่รู้สึกสะดวกใจที่ได้เดินทางมาประเทศไทย
ย้ำ สหรัฐ ไม่ทิ้งความร่วมมือพหุภาคี
ส่วนการที่สหรัฐมีนโยบายอเมริกาเฟิร์ซ เป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดว่า สหรัฐจะทิ้งความร่วมมือในเวทีพหุภาคี ทั้งองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เรื่องนี้ทูตสหรัฐชี้แจงว่า ถ้าถามถึงวัตถุประสงค์ของการเข้าร่วมเวทีระหว่างประเทศ แน่นอนว่า รัฐบาลทุกๆประเทศย่อมจะรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนของประเทศตนเอง ส่วนนโยบายอเมริกาเฟิร์ซ เป็นการโฟกัสสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชาวอเมริกัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า สหรัฐจะลดความมีส่วนร่วมในเวทีพหุภาคี ขอย้ำว่า “สหรัฐรักษาผลประโยชน์เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และจะตกลงความร่วมมือในเรื่องที่เราสนใจ”
น่าเสียดายที่สหรัฐได้เห็นองค์กรพหุภาคีบางแห่งปฏิบัติไม่สอดคล้องกับแนวทาง เช่น การเข้าเป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอ ได้ให้สถานะจีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทั้งที่จีนมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก ถือว่า
“ขอย้ำว่า สหรัฐไม่ได้ออกจากองค์กรพหุภาคี เรารู้สึกว่าทั้งดับเบิลทีโอ และดับเบิลยูเอชโอ ต้องได้รับการปฏิรูปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แท้จริง โดยเฉพาะการที่องค์การอนามัยโลกไม่ได้หยิบยกประเด็นการติดเชื้อไวรัสระหว่างคนสู่คน และประกาศให้โควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศช้าเกินไป ส่งผลให้ไทยรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว และมีผู้ติดเชื้อรายแรกในวันที่ 13 ม.ค.” ดีซอมบรี กล่าว
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังคงตีฆ้องร้องป่าวตามความคิดเห็นของจีนว่า ไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างคนสู่คน ทั้งๆที่มีหลักฐานการติดเชื้อจากคนสู่คนมากมายในจีน ดับเบิลยูเอชโอเพิ่งมายอมรับเมื่อสิ้นเดือน ม.ค. ช้าไป 18 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยเกิดการระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าดับเบิลยูเอชโอทำหน้าที่ของตนเอง
หน่วยงานสาธารณสุขร่วมทดลองวัคซีน
“พวกคุณคงมั่นใจว่าองค์กรเหล่านี้ กำลังทำงานของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผมไม่คิดว่า จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐทั้งหมด ด้วยความสัตย์จริง ความสัมพันธ์เราแข็งแกร่งมากๆ เราเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ และมีความสัมพันธ์ทวิภาคีต่อกัน” ทูตตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมถึงด้านสาธารณสุขที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) กับกระทรวงสาธารณสุขของไทยมีความร่วมมือกันมากกว่า 40 ปี เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น มีโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างซีดีซีกับกระทรวงสาธารณสุขของไทย ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างกันใกล้ชิดต่อเนื่อง
“ในกรณีของวัคซีน ผมทราบมาว่า มีการทดสอบวัคซีนในไทย โดยเป็นความร่วมมือกับบริษัทยาข้ามชาติ แต่ความสัมพันธ์ด้านสาธารณสุขของเราใกล้ชิดกันอย่างไม่น่าเชื่อและดำเนินมาถึง 60 ปี” ทูตสหรัฐกล่าวทิ้งท้าย