ธนาคารโลกเปิดเผยรายงาน Doing business 2018 ซึ่งเป็นการจัดลำดับความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจ ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 จากทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้นถึง 20 อันดับจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่อันดับที่ 46 และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในอันดับ 2 และมาเลเซียที่อยู่ในอันดับที่ 24 โดยมีคะแนนรวม 77.44 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีคะแนนรวม 72.53 คะแนน ซึ่งประเทศไทยจัดเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่มีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสะดวกในการประกอบธุรกิจมากที่สุดในปีที่ผ่านมา
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลการประเมินที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากการทำงานและเร่งปรับปรุงอุปสรรคที่ส่งผล
ต่อการดำเนินธุรกิจต่างๆ การพัฒนาที่โดดเด่นที่ทำให้อันดับของไทยดีขึ้นจากการลดระยะเวลาการจัดตั้งธุรกิจ ยกเลิกการประทับตราบริษัทในใบหุ้น ลดกระบวนการขอใช้ไฟฟ้า ออกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกิจใหม่ แก้ไขปัญหาการล้มละลายได้ง่ายขึ้น โดยเปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเสียงในแผนฟื้นฟูกิจการ จ่ายค่าธรรมเนียมศาลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้นแต่ที่เห็นผลชัดโดยเฉพาะการใช้อำนาจมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ให้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำข้อมูลจัดอันดับความยากง่ายธุรกิจ
ของไทยที่ดีขึ้น ไปเชื่อมโยงกับ World Economic Forum (WEF) เพื่อให้นักลงทุนรับทราบ ซึ่งที่ประเทศไทยดำเนินการดีขึ้นจะมีผลกับการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ดีขึ้นควบคู่กันไปด้วย
ขณะเดียวกันได้สั่งให้ทุกหน่วยงานแก้ไขอุปสรรคการทำธุรกิจต่อเนื่อง เพื่อให้ปีหน้าดีขึ้นกว่านี้ เพราะถึงแม้ว่าอันดับของไทยจะดีขึ้น แต่ประเทศคู่แข่งก็ดีขึ้นเช่นกัน สิ่งใดที่ได้คะแนนดี ก็ต้องไม่ตก ส่วนหน่วยงานไหนไม่ดี หรือเท่าเดิม ก็ต้องพัฒนาโดยรัฐบาลจะติดตามและเชื่อว่าอันดับในปีถัดไปจะดีขึ้นกว่านี้
“ทุกหน่วยงานต้องทำงานแบบจี้ติดเหมือนปีนี้เพื่อให้อันดับดีขึ้นหรือไม่ตกลง ปีนี้ถือว่าไทยทำได้ดี เพราะธนาคารโลกจัดให้ไทยเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด”นายสมคิดกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญการปฏิรูปประเทศและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดอันดับความยากง่ายการทำธุรกิจของไทยให้ดีขึ้นจากเดิมได้อยู่ที่อันดับ 45-49 มาโดยตลอดไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นมาได้จนถึงปีนี้ ซึ่งทุกหน่วยงานได้ทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหาโดยจ้างธนาคารโลกมาให้คำปรึกษาว่าจะให้ประเทศไทยแก้ไขจุดไหนบ้าง เพื่อให้อันดับดีขึ้น
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้อันดับของไทยดีขึ้นถึง 20 อันดับมี 3 ปัจจัย คือ นโยบายปฏิรูปมีความชัดเจน และรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ติดตามและกำชับอย่างจริงจัง, การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคผ่านการใช้มาตรา 44 และการใช้ระบบดิจิทัล เข้ามาใช้
พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพอใจกับอันดับที่ดีขึ้นเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ไทยได้ปรับอันดับขึ้นเป็นผลจากความตั้งใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่ได้เรียกประชุมทั้งหน่วยราชการ และเอกชนเข้ามาหารือร่วมกัน เพื่อให้เอกชนระบุถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขทำให้การแก้ปัญหาตรงจุด ส่งผลดีต่อการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนเนื่องจากที่ผ่านมาการทำธุรกิจในไทย มีต้นทุนแฝงที่ไม่สามารถอธิบายผู้ถือหุ้นได้
“ตอนนี้อยากให้ภาครัฐเดินหน้าแก้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตปลีกย่อยต่างๆ ต่อไป โดยเฉพาะปัญหาการขอใบอนุญาต
ของ กทม. ยังมีหลายขั้นตอนรวมทั้งการขอใบอนุญาตของ อย. ที่ยังได้รับการร้องเรียนอยู่ มั่นใจว่า ถ้ารัฐพยายามแก้ปัญหาต่อเนื่อง อันดับของไทย จะปรับขึ้นติดอันดับ 1 ใน 20 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้แน่นอน” นายเกรียงไกรกล่าว
WAM.
สำนักข่าววิหคนิวส์