23 พ.ค.2565 – เวลา 14.30 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเป็นไปตามตามคำเชิญของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยนายกรัฐมนตรีร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รวมทั้งผู้นำอินเดียนิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ร่วมกันประกาศถ้อยแถลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Statement on Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบความร่วมมือ IPEF พร้อมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่จัดกิจกรรมเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) และขอแสดงความยินดีกับสหรัฐฯ ต่อแนวคิดที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดีจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดย IPEF เป็นกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ที่จะนำไปสู่โอกาสใน 4 สาขาเพื่อยกระดับมาตรฐานในด้านต่าง ๆ ทั้งนโยบาย กฎหมาย อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีที่จะนำมาพัฒนาประเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานเข้าด้วยกัน ซึ่งหวังว่าจะมีการปรึกษาหารือในรายละเอียดต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจมาทุกยุคสมัยด้วยรายได้จากการส่งออกสินค้า และบริการ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของ GDP ไทยจึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค ขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน เร่งขับเคลื่อนประเทศ และประชาชนไปสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มุ่งเน้นเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งรวมถึงการเร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งนี้ ไทยเห็นว่าไม่มีประเทศใดที่จะสามารถรับมือกับความท้าทายนี้โดยลำพังได้ จึงยินดีที่ IPEF มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง ยั่งยืน และครอบคลุมร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่าประวัติศาสตร์ของโลกและของประเทศไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน จะเกิดประโยชน์สูงสุดได้ก็ต่อเมื่อไม่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่ไม่สร้างความปรองดองในภูมิภาค ซึ่งไทยยึดมั่นในระบบการค้าเสรีกับหลายประเทศ แต่ไม่เคยเข้าไปทำสงครามหรือเข้าไปสร้างความขัดแย้งอันสืบเนื่องมาจากการค้าแม้แต่ครั้งเดียว จึงเชื่อมั่นว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั่วถึง นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและผลประโยชน์ของประชาชน