# ไม่ต้องประมูล..แก้ปัญหาการทุจริต? #
-กรมธนารักษ์ไขข้อข้องใจ
(30 มิถุนายน 2560) นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ชี้แจงกรณีข้อวิจารณ์โครงการหอชมเมือง กรุงเทพมหานครสาระสำคัญ คือ สื่อมวลชนและสื่อโซเชียลมีเดียตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์กรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานครในประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ที่มาและความจำเป็นของโครงการดังกล่าวมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด เหตุใดจึงต้องอนุมัติงบประมาณจำนวนมาก ขอชี้แจง ดังนี้
– ปี 2558 กรมธนารักษ์มีนโยบายจัดทำโครงการเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับประชาชนคนไทย บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.3275 แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4 – 2 – 34 ไร่
– ภาคเอกชน (บริษัทเอกชนและสถาบันการเงิน 50 องค์กร) มีความประสงค์ที่จะทำโครงการซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกรมธนารักษ์ โดยรวมตัวกันจัดตั้งเป็นมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสร้างหอชมเมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการรวมใจของคนไทยทั้งประเทศ (The Unity Tower) มูลค่าโครงการ 4.62 พันล้านบาท
– เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้โครงการนี้เป็นโครงการการตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้ปรัชญาแห่ง “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเพื่อมุ่งเน้นที่จะน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับ ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนในรูปแบบ “ประชารัฐ”
– เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 และ 29 มีนาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุน ในกิจการของรัฐเห็นชอบรูปแบบโครงการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรียกเว้นให้โครงการสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ต้องประมูล ตามประกาศคณะกรรมการฯ ข้อ 24
– เมื่อ 27 มิถุนายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเว้นให้โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครบนที่ดินราชพัสดุสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล โดยเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง มูลค่า 4.62 พันล้านบาท ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล และโครงการของหน่วยงานต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชน
ประเด็นที่ 2 ข้อมูลการก่อสร้างไม่ระบุชัดเจนว่าเป็นของรัฐหรือหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งข้อมูลการนำเสนอข่าวของสื่อมีความคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบงบประมาณ 7.6 พันล้านบาท จากเดิมที่เสนองบประมาณเพียง 4.6 พันล้านบาท ขอชี้แจง ดังนี้
– เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง มูลค่า 4.62 พันล้านบาท
ประเด็นที่ 3 การไม่ใช้วิธีประมูลงานเป็นการแสดงถึงความไม่โปร่งใสในการก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการทุจริตหรือเอื้อประโยชน์ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ขอชี้แจง ดังนี้
– เนื่องจากโครงการมีลักษณะเชิงสังคมไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ประกอบกับ เป็นการดำเนินงานประชารัฐตามแนวนโยบายประชารัฐที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนและขั้นตอนของกฎหมายร่วมลงทุน จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูล อันจะสามารถสนับสนุนการเผยแพร่ถึงการน้อมนำ“ศาสตร์พระราชา” มาใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้ง จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุคที่จะเป็น New Global Destinationที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งผลเกื้อหนุนต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจภายในประเทศและรายได้จากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล ซึ่งโครงการได้มีเงื่อนไขให้มูลนิธิฯ จะวางข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าจะนำเงินดังกล่าวสนับสนุนโครงการและหน่วยงานต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบายของรัฐบาล “ไทยแลนด์ ๔.๐” โดยใช้เทคโนโลยีและความรู้ขั้นสูงทั้งทางด้านการออกแบบ วิศวกรรม และการบริหารจัดการที่ล้ำสมัย ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการก่อสร้างอาคารสูงด้วยหลักการ Zero Discharge และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้นักเรียนนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมเรียนรู้ในขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา
เกษมสันต์ กรรเชียงแก้ว
วิหคนิวส์ รายงาน