ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานโจทก์ในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 และ 102/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2 และสมาชิกพรรคเพื่อไทย, นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548–2549, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย, นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงษ์เรืองรอง อายุ 56 ปี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และกลุ่มเอกชน รวม 14 ราย เป็นจำเลยที่ 1-14
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91
โดยในวันดังกล่าว ศาลได้อ่านคำสั่งกรณีที่นายวัฒนา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 12 ก.ค. 2562 อ้างว่าบันทึกคำให้การของพยานโจทก์ 2 ราย คือนายพรศักดิ์ บุณโยดม กับนายพิทยา เจริญวรรณ ลงวันที่ 8 ก.ค. 2562 ที่ยื่นต่อศาลซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการตัดทอนข้อความให้แตกต่างจากบันทึกคำให้การของพยานทั้งสองที่ให้การไว้ต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลไต่สวนหาตัวผู้กระทำผิด และโจทก์ยื่นคำคัดค้านตามคำร้องลงวันที่ 18 ก.ค. 2562 นั้น
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในชั้นยื่นฟ้องคดี โจทก์ได้ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ต่อศาล เพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาและรวมไว้ในสำนวน ซึ่งรวมถึงบันทึกคำให้การของนายพรศักดิ์และนายพิทยา โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิตรวจและคัดสำเนาบันทึกคำให้การของพยานทั้งสองปากดังกล่าวได้อยู่แล้ว
สำหรับบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานทั้งสองที่ศาลให้โจทก์ยื่นต่อศาลก่อนวันไต่สวนนั้น เพียงเพื่อความสะดวกในการไต่สวนพยานปากนั้นๆ เท่านั้น กับพยานต้องมาเบิกความยืนยันประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงต่อศาลอีกครั้งหนึ่ง และอาจเบิกความเปลี่ยนแปลง แก้ไข ตัดทอนข้อความในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ทั้งในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลต้องพิจารณาคำให้การของพยานทั้งสองที่เบิกความในชั้นพิจารณาของศาลและที่พยานให้การไว้ในชั้นไต่สวนของ คตส. ประกอบกัน กรณีหาจำต้องไต่สวนตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ไม่ จึงยกคำร้อง.
สำนักข่าววิหคนิวส์