คณะก้าวหน้าได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากรายชื่อในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ และย้ำว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชนเท่านั้น โดยมีเนื้อหาดังนี้
บทเรียน “นายกพระราชทาน” ข้อเสนอที่ทำลายกระบวนการ “ประชาธิปไตย”
ไม่น่าเชื่อว่าถึงวันนี้ ปีนี้ เรายังคงต้องมาพูดคุย ถกเถียง ทำความเข้าใจกันอีกกับคำว่า “นายกพระราชทาน”
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ก่อกำเนิดเป็นรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นข้อตกลง เป็นฉันทามติร่วมกัน สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่สิ่งที่สถิตนิ่งตายตัว แต่เป็นกระบวนการ มีความเคลื่อนไหล เปลี่ยนแปลง เป็นพลวัต
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมาถึงจุดที่อาจจะเรียกกันว่าวิกฤตการเมือง การยุบสภาคืนอำนาจกลับไปที่ประชาชน จึงเป็นกระบวนการที่ถูกต้องชอบธรรม และจากนั้นการหาเสียงด้วยนโยบาย การลงคะแนนเลือกตั้งของประชาชน ก็จะเป็นการปฏิรูปไปในตัวของมันเอง
ไม่ใช่หยุดกระบวนการประชาธิปไตยแล้วเอา “คนดี” หรือ “คนกลาง “ หรือ “นายกพระราชทาน” ซึ่งไม่เป็นไปตามครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาบริหาร แล้วอ้างวาทกรรมอย่าง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”
บทเรียนสำคัญของการเมืองไทยร่วมสมัย บทเรียนหนึ่งซึ่งเราได้เห็นกันมาแล้ว เป็นต้นตอที่สร้างปัญหา สร้างความขัดแย้งให้กับสังคมไทยอย่างร้าวลึก และยาวนานตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็คือการชุมนุมของ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ในปี พ.ศ.2548-2549
“กลุ่มพันธมิตรฯ” ชูธง “กู้ชาติ” พร้อมสร้างวาทกรรม “ถวายคืนพระราชอำนาจ” และเรียกร้อง “นายกพระราชทาน” เพื่อขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องนี้หยิบยกเอามาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาเป็นข้ออ้าง ว่ามีบัญญัติเรื่องนี้ไว้ ดังนี้
“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกรครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
โดยอ้างว่า ให้กลับไปตามประเพณีการปกครองนั่นก็คือ สามารถขอ “นายกพระราชทานได้”
เป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า นี่คือบทบัญญัติที่เขียนภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่มีทางที่จะให้ประเพณีการปกครองย้อนกลับไปสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” และให้พระมหากษัตริย์พระราชทานนายกรัฐมนตรีมาให้อย่างแน่นอน
“นายกพระราชทาน” จึงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การจุดเรื่องนี้ขึ้นมาในครั้งนั้น มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อขับไล่ทักษิณและสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ซึ่งในที่สุดก็ปูทางไปสู่จุดจบของระบอบประชาธิปไตยคือ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
15 ปีผ่านไป คำว่า “นายกพระราชทาน” กลับมาอีกครั้ง ในวันที่ความนิยมในตัวของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันลดฮวบ และแทบไม่เหลือความน่าเชื่อถือใดๆ อีกแล้ว
ท่ามกลางกระแส “ดีล” “ตกลง” “รอมชอม” “ประนีประนอม” “เกี้ยเซียะ” ฯลฯ ของคนบางกลุ่มบางพวกหรืออย่างไรไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ คือปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อเรียกร้องจากยุคดึกดำบรรพ์นี้ ฟื้นกลับมาจากข่าวลือและกระแสดังกล่าว
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ซึ่งไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดช่องให้มี “ข้อยกเว้น”
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 วรรคสอง เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้ โดยต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภาในการเสนอเรื่อง 2ใน 3 ของสองสภาในการมีมติยกเว้น และกึ่งหนึ่งของสองสภาในการมีมติเลือกนายกรัฐมนตรี
นั่นหมายความว่า เราอาจมี “คนนอก” มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อต้องใช้เสียงมากถึงกึ่งหนึ่งของสองสภาและ 2ใน 3 ของสองสภาเช่นนี้ ต้องมีปัจจัยใดล่ะที่จะทำให้ได้เสียงมากขนาดนี้? คนๆ นั้นต้องมีลักษณะแบบใดล่ะถึงจะได้คะแนนเสียงขนาดนี้? ใครที่จะทำให้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.สมัครสมานลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันได้?
จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา คงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่า นี่คือ การติดตั้ง “นายกพระราชทาน” ไว้ในรัฐธรรมนูญเรียบร้อย
“นายกพระราชทาน” ไม่ใช่อะไรใหม่ นอกจากอาศัยอำนาจของพระมหากษัตริย์มาแทรกแซงทางการเมือง ด้วยความเชื่อผิดๆว่า ถ้าเกิดเป็นนายกพระราชทานแล้วจะปลอดพ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์และนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ซึ่งประวัติศาสตร์พิสูจน์มาแล้วว่าไม่เป็นจริง
นอกจากนั้นข้อเสนอดังกล่าวยังตรงกันข้ามจากข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของบรรดาเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อให้พระมหากษัตริย์ปลอดพ้นจากการเมืองด้วย
“คณะก้าวหน้า” เราจึงขอประกาศจุดยืนต่อกรณีนี้อีกครั้ง #ไม่เอานายกพระราชทาน #นายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชน
“คณะก้าวหน้า” เราไม่เห็นด้วยกับ “นายกพระราชทาน” ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมาตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม
หยุดข้อเสนอ #นายกพระราชทาน หยุดข้อเสนอที่ทำลายกระบวนการประชาธิปไตย