เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ…. ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้วแต่ยังค้างในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยผ่านไปได้ 18 มาตรา จากทั้งสิ้น 95 มาตราว่า พรรค ภท.อยากให้กฎหมายดังกล่าวผ่าน แต่การที่วิปรัฐบาลระบุว่าอาจไม่ทันสมัยประชุมนี้ ไม่ใช่ความผิดของพรรค เพราะเรื่องนี้เราเป็นคนเสนอ จะไม่อยากให้ผ่านได้อย่างไร
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.…. เป็นกฎหมายที่สภาอนุมัติเลื่อนขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายอื่น 3 ฉบับ ซึ่งเมื่อเลื่อนขึ้นมาเช่นนี้แล้วก็ไม่สามารถเลื่อนวาระอื่นขึ้นมาซ้ำได้ ทำได้อย่างเดียวคือ ให้ประธานสภาฯ ใช้อำนาจดำเนินการขอเปิดประชุมเป็นวาระพิเศษ เหมือนที่เคยทำในกรณีที่กฎหมายวุฒิสภาแก้ไขเสร็จแล้ว 5 ฉบับ
นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า เรื่องกัญชาวิปรัฐบาลได้ประสานกันภายใน เมื่อพรรค ภท.ยืนยันว่าเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายและผ่าน กมธ.แล้ว ก็อยากให้ดำเนินการไปตามขั้นตอน คือพิจารณาเรียงตามมาตรา แต่ได้ขอความร่วมมือกับเพื่อนสมาชิกที่เป็น กมธ. และผู้ที่สงวนความเห็นและแปรญัตติ ขอให้แสดงความเห็นในมาตราที่มีความสำคัญ ก็จะทำให้เวลาพิจารณารวดเร็วขึ้น แต่ยังตกลงกันไม่ได้
เมื่อถามว่า หากร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ยังยืดเยื้อเหมือนที่ผ่านมา จะทันพิจารณาในสมัยประชุมนี้หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า หากฝ่าย กมธ.และ ส.ส.ผู้แปรญัตติหรือสงวนความเห็น ยังแสดงความเห็นอยู่เช่นเดิม เราก็ต้องยอมรับ เพราะมีการแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามา ฉะนั้นเป็นสิทธิ์ของเพื่อนสมาชิก ถึงแม้ไม่แปรญัตติ หรือไม่สงวนความเห็น ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เมื่อฝ่ายผู้เสนอไม่ถอน หน้าที่ของที่ประชุมก็ต้องดำเนินการไปตามข้อบังคับ
ถามต่อว่า หากร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ พิจารณาไม่เสร็จ แล้วเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ร่างต้องตกไปหรือนำไปพิจารณาในสมัยประชุมสภาใหม่ได้ นายชินวรณ์กล่าวว่า การประชุมสมัยนี้เป็นครั้งสุดท้าย ฉะนั้นต้องตกไปตามรัฐธรรมนูญ และถ้าผ่านความเห็นชอบของสภาแล้ว ก็ต้องเสนอไปยังวุฒิสภา ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบก็ถือว่าตกไป และเป็นเรื่องของพรรคที่มีความคิดในการนำเสนอกฎหมายนั้น จะต้องนำเสนอเป็นนโยบายต่อประชาชน และเสนอกฎหมายเข้ามาหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้
ถามย้ำว่า มีสิทธิ์หรือไม่ที่จะไม่ทันรัฐบาลนี้ นายชินวรณ์กล่าวว่า มีสิทธิ์อยู่แล้ว ถึงแม้ไม่ยืดเยื้อ แต่ถ้าในชั้นของสภาให้ความเห็นชอบ ก็ต้องไปผ่านฝ่ายวุฒิสภา ซึ่ง ส.ว.ก็สนใจอยู่หลายประเด็น ซึ่งอาจต้องใช้เวลา ซึ่งไม่น่าทันที่จะประกาศใช้สมัยประชุมนี้ แต่เราจะทำอย่างไรให้การใช้เวลาประชุมสภามีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ไปกระทบกับกฎหมายอื่นที่อาจเป็นประโยชน์
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวว่า ไม่เห็นโอกาสที่วุฒิสภาจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ และวิปวุฒิสภาได้พูดคุยกันว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ผ่านมาให้วุฒิสภาพิจารณา ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างของสุญญากาศกัญชาเสรีต่อไป 1-2 ปี และเป็นการกระทำที่มีไอ้โม่งอยู่เบื้องหลัง เพราะหากไม่มีกฎหมายกัญชาเพื่อควบคุม จะเป็นประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจกัญชาที่ปัจจุบันพบว่าเปิดกิจการแบบรายวัน โดยคนต่างชาติ และเป็นกัญชาที่นำเข้าจากต่างประเทศ
“หากสภาอยากให้มีกฎหมายกัญชา ควรเร่งพิจารณาให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า และส่งให้วุฒิสภาพิจารณา โดยขณะนี้วุฒิสภาได้เตรียมพร้อมรับพิจารณา และเชื่อว่าในระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนปิดสมัยประชุม 28 ก.พ.2566 จะทำคลอดกฎหมายดังกล่าวได้ทัน” นายสมชายกล่าว และว่า สภาไม่ควรมัดมือชกวุฒิสภา ด้วยการส่งร่าง พ.ร.บ.กัญชา ฯ มาให้แบบกระชั้นชิด จะปิดสมัยประชุม วุฒิสภาจะไม่มีเวลาแก้ไข เพราะโดยปกติการพิจารณาร่างกฎหมายที่สภาเห็นชอบจะใช้เวลา 3-6 เดือน เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ดังนั้น หากส่งมาให้เกินเวลาต้นเดือน ก.พ. วุฒิสภาจะพิจารณาไม่ทัน กฎหมายต้องตกไป และจะคนโยนบาปมาให้ ส.ว.
ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นที่น่าเสียใจว่าสภาล่มในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ อีกแล้ว จึงขอฝากให้ประชาชนเช็กชื่อ ส.ส.ในจังหวัดของท่านว่าได้ทำหน้าที่หรือไม่ เหมือนกับที่มหาวิทยาลัยเช็กชื่อนักศึกษา ถ้าเข้าเรียนไม่ครบไม่มีสิทธิ์สอบ ส.ส.ไม่ทำหน้าที่ในสภา ก็ไม่ควรลงสมัครรับเลือกตั้งเข้ามาอีก
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. และเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวว่า สมาคมนักวิจัยและเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยจะจัดสัมมนาเรื่อง “เขียนอนาคตกัญชาไทยจากวิชาการและการปฏิบัติจริง” ขึ้นเพื่อนำเสนอระบบของกัญชาที่จะดำรงอยู่กับสังคมไทยในทุกระดับเพื่อให้สังคมไทยได้ประโยชน์จากกฎหมายที่จะเกิดขึ้นอย่างสมดุล ในวันที่ 8 ม.ค. เวลา 12.00 น. ณ ห้อง LA 201 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.