คำพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา มาราธอนกว่า 12 ชั่วโมง สั่งจำคุก “พล.ท.มนัส” 27 ปี- “โกโต้ง” คุก 75 ปี ยกฟ้อง 40 ราย
ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ ใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษา ในคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ตั้งแต่เวลา 08.40 น.-21.48 น. นานกว่า 13 ชั่วโมง เพราะคดีนี้ จำเลยมีจำนวนมากถึง 103 คน คำพิพากษา มีความหนาถึง 550 หน้า โดยศาลได้อ่านพฤติการณ์ของจำเลยทุกคน รวมถึงความผิดจำเลยแต่ละคนด้วย และมีการพักการพิจารณาคดีถึง 2 ครั้ง ในช่วงพักเที่ยง และ ช่วง 6 โมงเย็น เพื่อให้จำเลยได้พักรับประทานอาหาร คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย 103 คนประกอบด้วยผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น 7 รายเจ้าพนักงานปกครอง 2 รายราชการตำรวจ 4 รายข้าราชการทหาร 2 รายและพยาบาลวิชาชีพ 1 รายในความผิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยศาลได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาผ่านล่ามสำหรับจำเลยที่ไม่เข้าใจภาษาไทย และในระหว่างพิจารณาคดีจำเลย 1 รายที่ป่วยด้วยโรคร้ายถึงแก่ความตายและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยดังกล่าวไปก่อนแล้ว โดยศาลพิเคราะห์พฤติการณ์ ของจำเลยในกลุ่มที่ มีความผิด สั่งลงโทษจำคุก จำเลย 62 ราย ในฐานความผิดต่างกัน อาทิเป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติสมคบและร่วมกันค้ามนุษย์นำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรรับและให้ที่พักแก่คนต่างด้าวความผิดต่อเสรีภาพเรียกค่าไถ่ ซึ่งจำเลย สำคัญของคดีนี้ และเป็นที่สนใจของสังคม
นั่นคือ พล.ท.มนัส คงแป้น อดีต ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนอง จำเลยที่ 54 ศาลสั่งจำคุก รวม 27 ปี ส่วน นายปัจจุบัน หรือโกโต้ง อังโชติพันธุ์ อดีตนายก อบจ. สตูล จำเลยที่ 29 ศาลสั่งจำคุกรวม 75 ปี และ นายบรรจง หรือจง ปองผล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ ศาลสั่งจำคุก 78 ปี แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.91(3) กำหนดโทษให้ลงโทษจำคุกจำเลย มีกำหนด 50 ปี นอกจากนี้ ศาลสั่งยกฟ้อง จำเลย 40 คน แต่ให้ขังจำเลยไว้ 28 รายระหว่างอุทธรณ์ และศาลสั่งให้จำเลยที่วินิจฉัยว่า
มีความผิดฐานค้ามนุษย์ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายชาวโรฮีนจา 58 ราย รวม กว่า 4.4 ล้านบาท นายชัชวร เปียกลิ่น ทนายความดาบตำรวจอัศณีย์รัญ นวลรอด จำเลยที่ 7 กล่าวว่าลูกความของตนเป็นตำรวจ ศาลมีคำพิพากษาให้มีความผิดในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ให้จำคุก 4 ปี ก็ถือว่าโทษไม่สูงมาก ส่วนข้อหาอื่นยกฟ้อง จำเลยก็พอใจคำตัดสินของศาล และเข้าใจว่าญาติคงขอยื่นประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ แต่ศาลจะพิจารณาหรือไม่นั้นก็เป็นดุลยพินิจ