ข่าวประจำวัน » อาชญากรรม » ​#ทนายคดีเกาะเต่ายื่นฎีกา เผยจำเลยยังไม่หมดหวัง

​#ทนายคดีเกาะเต่ายื่นฎีกา เผยจำเลยยังไม่หมดหวัง

21 August 2017
664   0

             ทีมทนายจำเลยคดีเกาะเต่ายื่นฎีกาให้ศาลพิจารณาเอกสารหลักฐานรอบด้าน ย้ำข้อมูลเดิมเรื่อง ดีเอ็นเอ กับกระบวนการสืบสวนสอบไม่ชอบ เผยลูกความยังมีความหวัง ด้านอัยการเผยศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเป็นการรับรองว่าหลักฐานของฝ่ายโจทก์มีความถูกต้อง

นายนคร ชมพูชาติ หัวหน้าทีมทนายความฝ่ายจำเลยในคดีเกาะเต่า 
              เช้าวันนี้ (21 ส.ค.) BBC รายงานว่า ทีมทนายความได้ยื่นฎีกาพร้อมนำเสนอเอกสารให้พิจารณาคดีแรงงานชาวเมียนมา 2 คน คือ นายเวพิว หรือวิน และนายซอ ลิน หรือโซเรน ซึ่งถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม ศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิต ในคดีข่มขืนและฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า อ.เกาะ สมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยเหตุเกิดเมื่อปี 2557

               นายนคร กล่าวว่าในเอกสารจำนวน 318 หน้า ที่ยื่นต่อศาลในวันนี้ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ขยายความให้ศาลฎีกาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลทุกด้านอย่างรอบคอบเพื่อความเป็นธรรมและสามารถเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริง สมควรลงโทษ ประหารชีวิตได้

              โดยประเด็นหลัก ๆ ที่ทีมทนายฝ่ายจำเลยเห็นว่าจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบคือ เรื่องของกระบวนการจับกุมและการสืบสวนสอบสวนที่ไม่ชอบ เรื่องที่จำเลยถูกซ้อมเพื่อให้รับ สารภาพ รวมทั้งเรื่องการจัดเก็บดีเอ็นเอ ที่ฝ่ายทนายจำเลยเห็นว่ายังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สากล ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ทนายจำเลยเคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว
              “เรื่องดีเอ็นเอนี้อัยการบอกเพียงว่าเป็นของคนเอเชีย แต่ไม่มีรายละเอียดชี้ชัด การนำเสนอหลักฐานด้วยดีเอ็นเอของโจทก์ในดคีนี้ขาดความเป็นสากล ทั้งที่คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยาน ดังนั้นพยานแวดล้อมจะต้องเอาให้ชัด เช่น ดีเอ็นเอที่ด้ามจับของจอบอัยการบอกว่าผู้เชี่ยวชาญบอกว่าไม่มี หาไม่ได้ แต่เราส่งไปให้นิติเวชศาสตร์ตรวจสอบกลับเจอว่าที่ด้ามจอบมีดีเอ็นเอของผู้ตายที่สองอยู่” 

              นายนครกล่าวว่า หากการตรวจสอบดีเอ็นเอเป็นไปตามมาตรฐาน จะทำให้พบหลักฐานในคดีอีกจำนวนมาก เช่น ดีเอ็นเอจากเสื้อผ้าในตัวผู้ตาย แต่ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีข่มขืนกลับไม่นำเสื้อผ้าผู้ตายไปใช้เป็นวัตถุพยาน เป็นต้น

              นายนคร ยังบอกด้วยว่าขณะนี้แรงงานชาวเมียนมาทั้งสองคนซึ่งเติบโตขึ้น มีการรับรู้เรื่องราวรอบตัวมากขึ้น และยังมีความหวังว่าจะพ้นผิด 

              ด้านนายธรรมรงค์ เพชรสังฆ์ รองอัยการจังหวัด สำนักงานอัยการจังหวัดเกาะสมุย บอกกับบีบีซีไทยว่า คดีนี้ผ่านการพิสูจน์คดีทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ซึ่งจำเลยมีสิทธิ์ซักค้าน แต่ศาลก็ยังไม่เชื่อ เป็นการรับรองว่าหลักฐานของฝ่ายโจทก์มีความถูกต้อง และ “เราเชื่อว่าการพิสูจน์หลักฐานชั้นศาลของพยานที่นำเสนอผ่านกระบวนการสืบสวนสอบสวนทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ชัดเจน ไม่สามารถหักล้างได้ ซึ่งศาลก็เชื่อเช่นนั้น”

               นายธรรมรงค์ซึ่งได้เข้ามารับผิดชอบคดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไปแล้ว กล่าวด้วยว่าทนายจำเลยมีสิทธิ์ที่จะยื่นฎีกาได้ แต่ผลจะออกมาอย่างไรขึ้นกับดุลพินิจของศาล หากศาลรับฎีกาและส่งสำเนาคำฟ้องมาให้แก้ฎีกา และฝ่ายโจทก์ส่งกลับไปแล้วกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเมื่อใด 

             ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2017 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ประหารชีวิต นายเวพิว และนายซอ ลิน จำเลยคดีฆาตกรรมนายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ และน.ส.ฮานนาห์ วิกตอเรีย วิทเธอริดจ์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่หาดทรายรี ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2557

              หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ชาวเมียนมาในเมืองย่างกุ้งได้ออกมาประท้วงคำพิพากษาของศาลไทย จนเป็นเหตุให้แผนกกงสุลของสถานทูตไทยที่ย่างกุ้ง ต้องปิดทำการเป็นเวลาหลายวัน 

               ขณะที่ครอบครัวของ น.ส. ฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ เปิดเผยว่า การติดตามกระบวนการพิจารณาคดีในไทยเป็นความยากลำบากอย่างยิ่ง ครอบครัวต้องอดทนกับทั้งความเจ็บปวดและกับการได้รับข่าวสารที่สับสน พี่สาวของ น.ส.วิทเธอร์ริดจ์ ยัง ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวในภายหลัง โดยตำหนิทางการไทยว่าไม่ใส่ใจความโศกเศร้าของครอบครัว และเจ้าหน้าที่ได้ใช้ถ้อยคำทำร้ายความรู้สึก
               ขณะที่ครอบครัวของนายเดวิด มิลเลอร์ ออกแถลงการณ์ระบุว่าศาลได้ตัดสินอย่างยุติธรรม และตำรวจไทยได้สอบสวนเรื่องนี้อย่างรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วน โดยมีหลักฐานท่วมท้นที่ใช้เอาผิดกับจำเลย

สำนักข่าววิหคนิวส์