เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ทัพเรือแจง ซื้อ Harpoon Block II รุ่น RGM-84L จากสหรัฐฯ ไว้เป็นเขี้ยวเล็บ เรือฟริเกตสมรรถนะสูง เรือพิฆาต แบบ Stelt ลำใหม่ “เรือหลวงท่าจีน” ที่กำลังต่อที่ เกาหลีใต้ จะมาประจำการ ปี61 ชี้เป็นโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพ 872ล้าน
Wassana Nanuam – พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลง เห็นชอบแผนเบื้องต้น สำหรับการขายอาวุธปล่อยนำวิถี Harpoon Block II รุ่น RGM-84L มูลค่า 24.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ นั้นในแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลไทยได้ยื่นความจำนง ขอซื้ออาวุธปล่อยนำวิถี ดังกล่าวจำนวน 5 ลูก และขีปนาวุธซ้อมยิงHarpoon Block II 1 ลูก ซึ่งจะรวมถึงอุปกรณ์บรรจุ อะไหล่ การซ่อมบำรุง และเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบ รวมถึงคู่มือ เอกสารทางเทคนิค การฝึกฝนบุคลากร และอุปกรณ์สำหรับฝึกซ้อม โดยรัฐบาลสหรัฐฯ และตัวแทนจากบริษัทคู่สัญญา จะเป็นผู้ให้บริการด้านวิศวกรรม ความช่วยเหลือเชิงเทคนิค การขนส่ง และการสนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้วย
โดยมีรายละเอียดดังนี้ Harpoon Block II รุ่น RGM-84L เป็นอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น ระยะยิงไกล 124 กิโลเมตรหรือ 67 ไมล์ทะเลมีขีดความสามารถในการยิงสนับสนุนภารกิจต่อต้านเรือผิวน้ำ และโจมตีเป้าหมายบนบก เช่น พื้นที่ติดตั้งอาวุธป้องกันฝั่ง อาวุธต่อสู้อากาศยาน, อากาศยาน, พื้นที่อุตสาหกรรมท่าเรือ และเรือที่ทอดสมอในฐานทัพท่าเรือ Harpoon Block II รุ่น RGM-84L อยู่ในโครงการการเสริมสร้างกำลังกองทัพแบบผูกพันข้ามปีงบประมาณ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นอมภัณฑ์สำหรับเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่ ที่กำลังต่อที่เกาหลีใต้ และจะเข้าประจำการในปี 2561 อมภัณฑ์นี้มีเทคโนโลยีและคุณค่าทางยุทธการสูงจึงจำเป็นต้องจัดหาโดยวิธี FMS Case ผ่านทางรัฐบาลสหรัฐฯโดยในปี 2559 – 2561 ได้จัดซื้อลูกจริง2ลูก และหัวฝึก 1 หัว แล้ว ในปี 2560 – 2562 จัดซื้อลูกจริง 7 ลูก ลูกฝึก1 ลูกและ ตัวลูก พร้อมติดตั้งหัวฝึก ที่ อยู่ระหว่างการจัดหา
ทั้งนี้จำนวนลูกจริง ที่ลดจากความต้องการ7 ลูกเหลือจัดหาได้5 ลูกเท่านั้นกองทัพเรือเริ่มจัดหาHarpoon Block II รุ่น RGM-84L ในโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพแบบผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2559 ผูกพันงบประมาณ3ปีระหว่าง 2559 -2561 ส่วนแถลงการณ์ของสหรัฐฯ เป็นการเสนอความต้องการจัดหาตามโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพแบบข้ามปีงบประมาณ 2560 ผูกพันงบประมาณ3 ปีระหว่างปี 2560 -2562 โดยการจัดหาโดยวิธี FMS ในครั้งนี้มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 872,587,800 บาท หรือประมาณ 24,931,080 ดอลล่าร์สหรัฐฯทั้งนี้ การที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงการณ์เห็นชอบในแผนการจัดหาเบื้องต้นเป็นไปตามขั้นตอนการจัดหาโดยวิธ FMS Case ของฝ่ายสหรัฐฯเนื่องจากการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีจากพื้นสู่พื้นแบบHarpoon Block II รุ่น RGM-84L จัดเป็นยุทโธปกรณ์รายการหลักที่มีมูลราคาตามเกณฑ์ที่สหรัฐฯกำหนดทั้งนี้ภายหลังการแถลงการณ์จัดเป็นขั้นตอนการนำสู่สภาคองเกรส
โดยหากไม่มีข้อขัดค้านภายใน 30 วันจะสามารถลงนามในLOAได้ส่วนการส่งมอบจะดำเนินการภายใน3 ปี หลังจากการดำเนินการผูกพันที่ประเทศไทย
สำหรับเรือฟริเกต ลำใหม่ นี้สร้างโดยบริษัท DSME.(DAEWOO Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD.) ของเกาหลีใต้กองทัพ เรือสั่งต่อด้วยงบประมาณ 1.46 หมื่น ล้านบาทโดยมีพิธีปล่อยเรือลงน้ำไปเมื่อมกราคม 2560 ที่ผ่านมาเรือฟริเกตลำนี้ เป็นการพัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ในการต่อเรือ มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอตระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล กำลังพล 136 นายสามารถทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 6 ขึ้นไป โครงสร้างเรือแข็งแรง มีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบและการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ และสามารถตรวจการครอบคลุมทุกมิติและทั้งกลางวันและกลางคืน เนื่องจาก มีการติดตั้งระบบอำนวยการรบและระบบตรวจการที่ทันสมัยและขีดความสามารถสูง รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกับเรือ อากาศยาน และหน่วยบนฝั่ง
เรือหลวงท่าจีน ยังมีสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ ทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ โดยการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ สามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้ายและโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อตีเรือดำน้ำได้ที่ระยะไกลด้วย Vertical Launch Anti-Submarine Rocket หรือตอร์ปิโด
ส่วน การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล และระยะปานกลางในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก รวมทั้งแลกเปลี่ยนและประสานการปฎิบัติกับเรือและอากาศยานที่ร่วมปฏิบัติการ แล้วโจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีฯ แบบ ESSM และอาวุธปืนของเรือ
ขณะที่การป้องกันทางอากาศระยะไกล (ผิวน้ำ) หรือพื้นที่ชั้นนอกของกองเรือ (Battle Group) จะใช้การปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศในการค้นหา ตรวจจับและโจมตี และการปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ โดยสามารถโจมตีเป้าหมายได้ที่ระยะไกล โดยปฏิบัติร่วมกับเรือและอากาศยานในการพิสูจน์ทราบเป้า ส่งมอบเป้าและให้ใช้อาวุธจากระยะพ้นขอบฟ้า รวมทั้งโจมตีเป้าพื้นน้ำและใต้น้ำด้วยเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ
ด้านการป้องกันตนเองนั้น จะโจมตีด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีปืนใหญ่เรือและปืนรองต่อสู้อากาศยาน ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมความเสียหายแบบรวมการที่สั่งการได้จากศูนย์กลางหรือแยกสั่งการ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ อีกทั้งสามารตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์ และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้
นอกจากนี้ เรือหลวงท่าจีน ยังสามารถใช้ในการปฏิบัติการรบร่วม โดยผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ให้สามารถปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) ได้แก่ ร.ล.จักรีนฤเบศร เรือฟริเกต ชุด เรือหลวงนเรศวร เรือคอร์เวต ชุด เเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับ เครื่องบินกองทัพอากาศ ตามบทบาทหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมาย ซึ่งเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จะทำหน้าที่ควบคุมการปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก
ด้วยศักยภาพและสมรรถนะที่แข็งแกร่งของเรือหลวงท่าจีน กองทัพเรือจะถูกนำไปใช้ในภารกิจสงคราม ป้องกันอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย รวมไปถึงคุ้มกันกระบวนเรือลำเลียง และนอกเหนือจากนั้นในยามสงบจะดูแลรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของเส้นทางคมนาคมทางทะเล พิทักษ์รักษาสิทธิอธิปไตยทางทะเล ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ และรักษากฎหมายตามกฎหมายให้อำนาจทหารเรือ
สำนักข่าววิหคนิวส์