สรรพากร เดินหน้านำกฎหมายเก็บภาษี “e-Business” ให้ ครม. พิจารณา ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว โดยเตรียมหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของรายได้ ครอบคลุมทุกธุรกรรมในไทย
แนวหน้า – มีรายงานว่า กรมสรรพากรได้ปิดให้แสดงความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ และไลน์ ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งกรมสรรพากรจะรวบรวมความเห็นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ดำเนินการออกกฎหมายเก็บภาษีดังกล่าวไปตามขั้นตอนปกติ เพราะเป็นเรื่องปกติที่ในหลาย ๆ ประเทศมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ต้องการให้กระทรวงการคลังให้ความเห็นในเรื่องนี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี มีแผนเดินทางไปสหรัฐอเมริกา จึงไม่อยากให้มีข่าวดังกล่าวในช่วงนี้ เพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศในการเดินทางของนายกรัฐมนตรี
สำหรับร่างกฎหมายเก็บภาษีดังกล่าว จะกำหนดให้นิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดรายได้หรือกำไร โดยมีการใช้โดเมนท้องถิ่นของไทย หรือมีการสร้างระบบการชำระเงินเป็นสกุลเงินไทยหรือมีการโอนเงินจากประเทศไทย ถือว่านิติบุคคลนี้ประกอบกิจการในประเทศไทย และให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย โดยต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของรายได้ และให้ผู้จ่ายเงินเป็นผู้หักภาษีนำส่งกรมสรรพากร และหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่มีการนำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการภายในประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และที่ผ่านมากรมสรรพากรยังพบว่าการซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศที่ส่งมาทางไปรษณีย์มีการสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทีมข่าว สำนักข่าว vihok news รายงาน