“บิ๊กตู่” ประชุม สมช. สั่ง ทำ “แผนต่อต้านก่อการร้าย” สั่งทยอยปรับปรุงคุณภาพCCTVทั่วปท. 3แสนตัว ให้เชื่อมโยง ทั้งของรัฐ-เอกชน-รัฐวิสาหกิจ
Wassana Nanuam – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.แถลงภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ที่ประชุมได้พูดถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศ ให้สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ในโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านความมั่นคงภายใน ภายนอก และประชาคมต่างๆ
ซึ่งสิ่งที่สหประชาชาติมีความห่วงใย คือเรื่องสภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติ โรคติดต่อร้ายแรง และเรื่องเศรษฐกิจ พันธะสัญญา พันธะกรณีต่างๆ ซึ่งตนได้ให้แนวทางไปว่า เราต้องคำนึงถึงความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ในเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ความมั่นคงภายในและการก่อการร้าย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้มีการกล่าวถึงยุทธศาสตร์ของสมช.ด้านความมั่นคง ที่จะต้องครอบคลุมทุกมิติ และต้องมีแผนแม่บท แผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ
“วันนี้เราเพึ่งจัดทำแผนต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเรายังไม่ได้ทำตรงนี้ จะต้องมีคณะกรรรมการขับเคลื่อนมาทำงาน เพื่อให้ประสานสอดคล้องเกิดความร่วมมือกับนานาประเทศ เราต้องคำนึงความปลอดภัยของประเทศ
อยากจะให้ใช้เวลาที่ตนและรัฐบาลนี้ยังอยู่ ทำแผนเหล่านี้ให้พร้อม เพื่อที่จะรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนของสมช. 5 ปีก็ต้องให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุกอย่างจะต้องสอดคล้องกันทั้งหมด และสามารถปรับเปลี่ยนได้ภายใน 5 ปี
รวมถึงยังได้ให้แนวทางเรื่องโครงสร้างการทำงานสมช. ซึ่งรัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยน ทั้งในรูปแบบขององค์กร คน และเครื่องมือ เพื่อที่จะผลิตข้อมูลต่าง ๆ ให้รัฐบาลได้ใช้ประโยชน์และเป็นที่ปรึกษาฝ่ายมั่นคงของรัฐบาลอย่างแท้จริง ซึ่งมีความสำคัญที่ต้องครอบคลุมทุกด้าน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบผลการดำเนินการปรับปรุงระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ซึ่งตนได้สั่งการให้ซ่อมแซมกล้องCCTVทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นของรัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ ที่มีอยู่ ราว 3 แสนตัว
โดยใช้เวลาให้สั้นที่สุดไม่ว่าจะเป็นของหน่วยใดก็ต้องขอความร่วมมือ ถ้าเป็นของภาคเอกชน ตนได้ให้กระทรวงการคลังไปช่วยเหลือในเรื่องของภาษีและราคาได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องประโยชน์ของประเทศชาติ
ในส่วนของรัฐ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่มีผลต่อประชาชนต้องเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมหรือติดตั้งเพิ่มก็ต้องเสนอเป็นแผนงาน เพื่อขอใช้งบประมาณ ฉะนั้นระยะแรกต้องทำให้ครบทุกพื้นที่ก่อน
ส่วนระยะ 2 คือการปรับเปลี่ยนคุณภาพของกล้องให้ดีขึ้น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนทั้งหมด 3 แสนกว่าตัวทั่วประเทศ ทั้งนี้จะให้ปรับเปลี่ยนที่เดียวทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะใช้งบประมาณจำนวนมาก หากจะให้สมบูรณ์ที่สุด คงยังไม่ถึงตรงนั้น
สิ่งสำคัญคือ กล้องที่ติดไปแล้วต้องมีคุณภาพเท่าเทียมกัน อย่างการบันทึกภาพที่จะต้องบันทึกได้ 30 วัน รวมถึงการให้ความมือการใช้ประโยชน์จากกล้องซีซีทีวีตามกฎหมาย เพราะเมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเอกชนหรือหน่วยงานอื่นจะต้องให้ความร่วมมือ และต้องไม่มีการอ้างว่ากล้องเสียโดยจะต้องมีระบบควบคุมและการตรวจสอบ
ทีมข่าว สำนักข่าว vihok news