31 ก.ค.60 สุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.)
ได้โพสข้อความระบุว่า “cess เพิ่มขึ้น ชาวสวนยางเดือดร้อนใครจะรับผิดชอบ ? ผมเป็นห่วงว่าตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ จะไม่มั่นคงและสั่นคลอนมากขึ้น จากสาเหตุการบริหารงานที่ล้มเหลวของการยางแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะการเก็บเงิน cess เพิ่ม ในภาวะราคายางตกต่ำ อันเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มความทุกข์ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเท่ากับ กยท.เรียกเกษตรกรชาวสวนยางจากทั่วประเทศมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร้องต่อนายกรัฐมนตรี
เพราะในวันที่ 1 ส.ค.2560 จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี cess การส่งออกยางพาราแบบใหม่ โดยเก็บในอัตราคงที่ 2 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยเก็บแบบขั้นบันได คือแบบเดิมถ้าราคายางน้อยกว่า 40 บาท จะเก็บ 90 สตางค์ และราคายาง 40-60 บาท จะเก็บ 1.40 บาท เท่ากับของมาเลเซีย(ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินริงกิต) ส่วนอินเดียยกเลิกการเก็บ cess เพราะเขามองว่าการเก็บ cess ในภาวะราคายางตกต่ำเป็นการผลักภาระให้เกษตรกร
แม้ค่าธรรมเนียม cess จะเก็บจากผู้ส่งออก แต่ก็เป็นต้นทุนที่พ่อค้าจะไปกดราคารับซื้อยางในตลาดอีกที สุดท้ายก็คือเงินภาษีที่ชาวสวนยางต้องจ่ายนั่นเอง เงิน cess จึงมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของชาวสวนยางทุกคน เพราะภาษี cess เก็บจากยางทุกต้น จากน้ำยางทุกหยด ทั้งสวนยางที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ์
การเก็บ cess ในอัตราคงที่ 2 บาท ในภาวะราคายางตกต่ำตอนนี้ ผมเชื่อว่าเป็นการสร้างความดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มมากขึ้น เพราะเกษตรกรจะถูกขูดรีดภาษีอีก 60 สตางค์ต่อยาง 1 กิโลกรัม โดยไม่จำเป็น และคอยดูว่าหลังวันที่ 1 ส.ค.2560 จะมีผลกระทบและสร้างความผันผวนต่อราคายางหรือไม่ อย่างไร ? และถ้าผลจากการเก็บ cess แบบใหม่ ทำให้ราคายางลดต่ำลงอีก จนชาวสวนยางร้องไห้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ?
แม้ว่าผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยจะอ้างเหตุผล 3-4 ข้อมาประกอบมันก็ฟังไม่ขึ้นครับ พูดดูดีแต่ไม่จริงใจ เพราะจากข้อมูลภายในที่ผมรู้มา สิ่งที่ กยท.ต้องการ ก็คืออยาก ได้เงิน cess ที่แน่นอนและมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กยท.วางแผนจัดทำงบประมาณประจำปีได้ง่าย สรุปคือคิดแบบมักง่ายและเห็นแก่ตัว แต่ใครเดือดร้อนไม่เกี่ยว เพราะในช่วง 2-3 ปีนี้ กยท.ต้องลุ้นว่าจะได้เงินเท่าไรจากการเก็บเงิน cess แบบขั้นบันได และที่ผ่านมาได้เงิน cess 4,000-6,000 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้าแบบใหม่หรือแบบอัตราคงที่ กยท. ก็จะได้เงิน cess ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 6,000-8,000 ล้านบาท คือราคายางจะถูกจะแพง กยท.ได้เงินแน่ๆ กิโลกรัมละ 2 บาท กยท.ทำตัวเป็นเสือนอนกินบนความทุกข์และคราบน้ำตาของเกษตรกรหรือไม่
ชาวสวนยางทั่วประเทศคงมีคำตอบให้เร็วๆนี้ และ กยท.อย่าเอากองทุนพัฒนายางพารามาอ้าง เพราะการเก็บ cess แบบขั้นบันไดที่ผ่านมาเงินพอ และไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ มีปัญหาเดียวคือ ไม่พอกับกิเลสของพวกคุณหรือถ้าอยากเก็บเงิน cess แบบคงที่ ทำไม กยท.ไม่เสนอ ครม.ให้ประกาศเก็บ cess ที่ 1.40 บาท หรือน้อยกว่า เพื่อจะได้สอดรับกับความเป็นจริง กลัวได้เงินน้อยหรือครับ ผลงานก็ไม่มี ความดีก็ไม่ปรากฎ ยังอยากได้ตังค์เพิ่มอีก เวรกรรมของเกษตรกรชาวสวนยางจริงๆ โดยเฉพาะพี่น้องชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ที่จ่าย cess อย่างจงรักภักดีเสมอมา แต่ไม่เคยได้ประโยชน์อะไรจาก กยท.และรัฐบาล ซ้ำสวนยางยังถูกโค่นตามนโยบายทวงคืนผืนป่า
กยท.ในปัจจุบันจึงมีแต่วัฒนธรรมองค์กรที่ล้าหลัง ไม่มีชุดความคิดที่ก้าวหน้า หวงอำนาจ ไม่โปร่งใส กีดกันไม่ให้เกษตรกรชาวสวนยางมีส่วนร่วม เห็นแก่พวกพ้อง และยังคิดหวังเพียงใช้เงิน cess มาเป็นงบประมาณหลักในการหล่อเลี้ยงองค์กร ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 เปิดโอกาสให้ กยท.สามารถลงทุนและร่วมทุนทำธุรกิจยาง และเติบโตจนไปถึงขั้นเปิดบริษัทมหาชนได้ เพื่อจะได้จ้างคนเก่งๆ มาบริหารงาน เพราะการให้ข้าราชการมาทำธุรกิจแข่งกับพ่อค้า ไม่ได้ดูถูกนะครับ แต่ทำอย่างไรมันก็เจ๊ง !
ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การยางฯ ที่ต้องการสร้างให้ กยท.เป็นเสือตัวที่ 6 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดย กยท.ต้องทำมาหากินเป็น สร้างรายได้ให้เพียงพอค่าใช้จ่าย ไม่จำเป็นต้องมีกำไรมากมาย แค่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถาบันเกษตรกรในด้านการตลาดและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว และที่สำคัญ กยท.ต้องใช้กลไกตาม พ.ร.บ.เป็นเครื่องมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น
สำนักข่าววิหคส์นิวส์ รายงาน