กรมการขนส่งทางบกอนุมัติแล้ว เส้นทางรถเมล์ปรับอากาศผ่านครอุดร 2 สาย เปิดทางท้องถิ่นเสนอตัวก่อน ผู้ว่าอุดรฯออกประกาศเครื่องเดิน นายกนครอุดรฯย้ำจำเป็นต้องมี ทน.อุดรพร้อมเข้าจัดการเอง หลังเดินสายดูของจริงเลือกรถ-จัดการเหมาะสม
นายนิติธร เพชรคูหา ขนส่ง จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกได้ให้ความเห็นชอบ เส้นทางการเดินรถเมล์ปรับอากาศ 2 สาย ที่ สนง.ขนส่ง จ.อุดรธานี เสนอเส้นทางจากแผนศึกษาขนส่งมวลชน ทน.อุดรธานี สาย A และ B มาปรับปรุงเชื่อมขนส่งหลักเข้าด้วยกัน คือ สนามบิน-สถานีรถไฟ-สถานีขนส่ง จากเดิมคาดว่าใช้เวลา 1-2 ปี โดยสาย A จะเป็นสาย 20 สาย B จะเป็นสาย 21 ขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก จ.อุดรธานี จะพิจารณาให้ผู้ว่าฯออกประกาศ แล้วส่งกลับไปยังกรมฯอีกครั้ง อุดรธานีก็จะประกาศหาผู้ลงทุน แต่หากองค์กรปกครองท้องถิ่นสนใจลงทุนเอง ก็เสนอตัวขึ้นมาให้ คกก.พิจารณา จะไม่ประกาศหาผู้สนใจลงทุน
นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายก ทน.อุดรธานี เปิดเผยว่า แผนศึกษาระบบขนส่งมวลชน ทน.อุดรธานี ระยะที่ 2 เสนอให้มีรถเมล์หลัก 2 สาย คือ สาย A แยกบิ๊กซี-สนามบิน และ B แยกฮอนด้า-แยกรังษิณา สนง.ขนส่ง จ.อุดรธานี ก็มีความเห็นสอดคล้องกัน เสนอให้มีเส้นทางเดินรถทั้ง 2 สาย ทีมบริหารก็เห็นว่ามีความจำเป็น และน่าจะเกิดก่อนแผนระบุที่ 2 และทน.อุดรธานีน่าจะเข้าไปลงทุนเอง ให้เป็นรถบริการสาธารณะหลัก จึงเตรียมความพร้อมไว้พอสมควรแล้ว
“ เราเคยสนใจอยากได้รถใช้ไฟฟ้า ได้ไปดูระบบของซิตี้บัสที่ จ.ขอนแก่น ไปดูระบบของ จ.นครราชสีมา และ จ.เชียงใหม่ มีตัวแทนของผู้ประกอบการ มานำเสนอระบบที่จะใช้งานของ จ.ภูเก็ต ทั้งหมดเป็นทั้งรถใช้น้ำมันดีเซล และก๊าซ เอ็นจีวี. ขณะที่รถใช้ไฟฟ้าอยู่ในช่วงพัฒนา และราคาสูงมากอยู่ ซึ่งแต่ละระบบมีจุดเด่น-จุดด้อยใกล้เคียงกัน ขณะเรื่องของระบบราชการ ก็มีปัญหาต้องดูให้ละเอียดด้วย ต่อไปจะขอให้ผู้ประกอบการอื่น มานำเสนอระบบและแผนงานเพิ่ม ”
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจาก “ขอนแก่นพัฒนาเมือง” เลือกชี้กลุ่ม ช.ทวี ริเริ่มนำซิตี้บัสใช้ใน ม.ขอนแก่น และสมาร์ซิตี้บัสใน ทน.ขอนแก่น จนตกเป็นข่าวฮือฮาก่อนหน้านี้ โดยเป็นรถใช้ก๊าซเอนจีวี. นำเข้าจากประเทศจีนทั้งคัน ซึ่ง ทน.อุดรธานี เดินทางไปดูระบบ ล่าสุดมีตัวแทนจาก “ บ.ในเครือล็อกซ์เลย์ จก. มานำเสนอรถและระบบ “สมาร์ทซิตี้บัส” เป็นรถโดยสารแชสซี-เครื่องยนต์ดีเซล-แอร์ของเบนส์ ยาว 9 เมตร ส่วนตัวถัง-ระบบอำนวยความสะดวก ประกอบในประเทศไทย (คันละ 3.8 ล้านบาท) พร้อมโครงสร้างสถานี-โรงซ่อมบำรุง-ระบบการจัดการ (13 ล้านบาท) ซึ่งเป็นระบบที่ “ภูเก็ตพัฒนาเมือง” เลือกใช้ เตรียมส่งมอบรถคันแรก 1 ต.ค.นี้….
เครดิต:ข่าวอุดรวันนี้
อ.สาริต พรหมนรา
สำนักข่าววิหคนิวส์ รายงาน