ข่าวประจำวัน » ​#อ้าว..!! ป.ป.ช.ชงเลิกโทษประหารคดีทุจริต

​#อ้าว..!! ป.ป.ช.ชงเลิกโทษประหารคดีทุจริต

6 July 2017
541   0

ปธ.ป.ป.ช. เผยงบปราบโกงไม่เพียงพอ คิดเป็น 0.01% จากงบประมาณประเทศ ชงเลิกโทษประหารคดีทุจริต เพื่อขอหลักฐานจากต่างชาติได้ง่าย รอง อสส. เสนอแก้ต่อไปถ้าตั้ง กก.ร่วมฯ หากขอหลักฐานเพิ่ม ป.ป.ช. ต้องหามา ปฏิเสธไม่ได้ กรธ. ให้ทำคำวินิจฉัยส่วนตัวด้วย
สำนักข่าวอิศรา – รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาเรื่อง ‘ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. : ก้าวใหม่แห่งการปฏิรูปการปราบปรามการทุจริต’ โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล รองอัยการสูงสุด (อสส.) และนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เข้าร่วมด้วยสัมมนาด้วย

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาสำคัญของการทำงานเวลานี้คือความล่าช้า เนื่องจากมีคดีเข้าสู่ระบบจำนวนมาก ประกอบกับบุคลากรของ ป.ป.ช. มีจำกัด แต่ร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ที่เสนอไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานไว้ในร่างกฎหมายด้วย ถ้าเป็นขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงต้องทำให้เสร็จใน 6 เดือน แต่ขยายเวลาได้ครั้งละ 3 เดือน หากเป็นขั้นตอนไต่สวน ต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี แต่ขยายเวลาได้ เพราะยอมรับว่ามีบางคดีที่ซับซ้อน และใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานให้รอบด้าน

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันงบประมาณแผ่นดินตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 มีงบประมาณการแก้ไขปัญหาทุจริตประมาณ 3 พันล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 0.01% ของงบทั้งหมด ยกตัวอย่าง งบประมาณแผ่นดิน 100 บาท ใช้ในการแก้ไขปัญหาทุจริตประมาณ 10 สตางค์ ซึ่งน้อยมาก เงิน 3 พันล้านบาท เท่ากับงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ที่มีงบประมาณบูรณะประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อปี ดังนั้นถือแม้ ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระก็จริง แต่อิสระในเรื่องวินิจฉัย เรื่องอื่นไม่อิสระ ต้องขอเงินและคนจากรัฐบาล

ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า ป.ป.ช. ได้เสนอให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในคดีทุจริตการให้สินบนตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับปัจจุบันด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศในการตรวจสอบการให้สินบนระหว่างประเทศ เนื่องจากมีข้อจำกัดคือไทยมีโทษประหารชีวิต ดังนั้นเพื่อทำให้การดำเนินคดีเหล่านี้ประสบความสำเร็จต้องได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ ต้องดำเนินการยกเลิก เพราะถ้าไม่ได้รับความร่วมมือ พยานหลักฐานที่จะใช้สำหรับดำเนินคดี และพิสูจนความผิดของผู้ถูกกล่าวหาจะทำได้ยาก

ขณะที่นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล รองอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวว่า ปัญหาการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่ผ่านมา คือความล่าช้าในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ระหว่าง อสส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหลายคดีใช้เวลาค่อนข้างนาน เช่น อัยการขอให้เพิ่มเติมพยานหลักฐานในบางส่วน แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะอีกฝ่ายเห็นว่า พยานหลักฐานพอแล้ว ดังนั้นในร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่นี้ ควรดำเนินการแก้ไข โดยกำหนดลงไปว่า กรณีถ้า อสส. เห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ ต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามที่ อสส. แจ้งไป ส่วนจะรวบรวมมาได้หรือไม่นั้น ค่อยมาพิจารณาในขั้นตอนการปฏิบัติอีกที จะดีกว่าอีกฝ่ายที่ปฏิเสธตั้งแต่แรก

นายวินัย กล่าวอีกว่า ส่วนการให้สิทธิแก่ ป.ป.ช. สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อาจต้องแก้ไข อย่างไรก็ดีหากจะตรวจสอบว่า การสั่งไม่อุทธรณ์ หรือไม่ฎีกาของ อสส. กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สามารถดำเนินการได้

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการ กรธ. กล่าวว่า กรธ. ในฐานะผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. จะนำความคิดเห็นของ ป.ป.ช. และ อสส. พิจารณาไว้ในร่างกฎหมายที่จะเสนอให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป อย่างไรก็ดีขณะนี้ กรธ. มีความคิดว่า อาจกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ว่า การวินิจฉัยคดีแต่ละคดี กรรมการ ป.ป.ช. แต่ละราย ต้องจัดทำคำวินิจฉัยส่วนตัว หรือกำหนดมาตรฐานการทำคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ด้วย เพื่อให้สาธารณะทราบว่า ป.ป.ช. มีวิธีการในการวินิจฉัยคดีอย่างไร ทั้งนี้การปราบปรามการทุจริตที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดคือ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ เพราะปัญหาการทุจริตในปัจจุบันเกิดขึ้นเป็นกระบวนการ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

ทีมข่าว สำนักข่าว vihok news รายงาน