ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » ​#ฮุนเซ็น จัดหนัก..!! ขับไล่NGO-สื่อป่วนชาติออกนอกปท.

​#ฮุนเซ็น จัดหนัก..!! ขับไล่NGO-สื่อป่วนชาติออกนอกปท.

26 August 2017
851   0

       
             เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุนเซนของกัมพูชากล่าวว่า ทั้งเขา และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ มีความเห็นตรงกันว่าสื่อเป็นตัวสร้างปัญหา

            BBC – เมื่อไม่กี่วันก่อน โฆษกของรัฐบาลได้อ้างการปฏิบัติต่อนักข่าวของนายทรัมป์ในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก โดยขู่ว่าจะปิดสำนักงานของสื่อที่ทำลาย “เสถียรภาพ”

            ตอนนี้ หนังสือพิมพ์ The Cambodia Daily หนังสือพิมพ์อิสระภาษาอังกฤษที่คอยเป็นหนามทิ่มแทงรัฐบาลมาช้านาน อาจจะต้องปิดตัวลง หลังถูกสั่งให้จ่ายภาษีย้อนหลัง 6 ล้าน 3 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 210 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายใน 30 วัน
            เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สมเด็จฮุนเซน อดีตผู้บัญชาการเขมรแดง ซึ่งครองอำนาจมานานกว่า 30 ปี ได้เพิ่มแรงกดดันมากขึ้น ถ้าไม่มีการจ่ายเงินก้อนนี้ “กรุณาเก็บข้าวของแล้วออกไป” เขากล่าว โดยมีรายงานว่าเขาเรียกหนังสือพิมพ์ The Cambodia Daily ว่า “หัวขโมย” ด้วย
             การเคลื่อนไหวต่อต้านหนังสือพิมพ์ซึ่งคนจำนวนมากเชื่อว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองในช่วงก่อนถึงการเลือกตั้งปีหน้า ทำให้นักข่าวในกัมพูชามีความกังวลมากขึ้น จากเดิมที่พวกเขาเคยมีเสรีภาพในการรายงานข่าวมากกว่าผู้สื่อข่าวในประเทศเพื่อนบ้าน
             เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลประกาศตรวจสอบด้านภาษีแก่ผู้วิพากษ์วิจารณ์หลายคน เจ้าหน้าที่จากสถาบันประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDI) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสอบสวนความผิดปกติในการเลือกตั้งปี 2013 ถูกสั่งให้ออกจากประเทศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ภายใต้กฎหมายองค์กรเอกชนที่ผ่านออกมาในปี 2015

            รัฐบาลระบุว่า NDI ล้มเหลวในการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ หรือ จ่ายภาษี ทางกลุ่มบอกกับสำนักข่าวเอพีว่า ได้ปฏิบัติตามกฎหมายการจดทะเบียนแล้ว และทำงานอย่างโปร่งใสมาตลอด 25 ปี ทั้งนี้ NDI เคยถูกบุคคลสำคัญในพรรครัฐบาลกล่าวหาในอดีตว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
              นอกจาก The Cambodia Daily แล้ว สื่ออิสระอีกหลายแห่ง รวมถึงเรดิโอ ฟรี เอเชีย (Radio Free Asia) และวอยซ์ ออฟ อเมริกา (Voice of America) ก็มีรายงานว่าถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดทางภาษีเช่นกัน
             สื่อเหล่านี้ และพนมเปญโพสต์ หนังสือพิมพ์ ซึ่งยังไม่ถูกกล่าวหาลักษณะเดียวกัน มักมีรายงานเกี่ยวกับเรื่องที่สร้างความน่าอับอายให้แก่รัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่การตัดไม้ผิดกฎหมายไปจนถึงการทุจริต และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
             เมื่อวันพุธ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ทางกระทรวง “มีความกังวลอย่างยิ่งต่อบรรยากาศของประชาธิปไตยในกัมพูชาที่เลวร้ายลง” ฮีเธอร์ เนาเอิร์ท โฆษกกระทรวงต่างรปะเทศ ปฏิเสธว่า การใช้คำพูดที่รุนแรงของนายทรัมป์เกี่ยวกับสื่อไม่ได้ส่งผลกระทบข่าวสารของรัฐบาล โดยเธอระบุว่า “ทางกระทรวงให้ความสำคัญกับเสรีภาพสื่อ”
             ลี มอร์เกนเบสเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบอบอำนาจนิยมจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธของออสเตรเลีย กล่าวว่า การใช้ภาษีย้อนหลังเป็นข้ออ้างในการ “ปิดปากผู้คัดค้าน” เป็น “เทคนิคที่เฉียบแหลม” ซึ่งถูกใช้ในฮังการี, รัสเซีย, ตุรกี, และเวเนซุเอลา
            รัฐบาลกัมพูชา ปฏิเสธว่ากรณีเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง และชี้ว่าผู้สื่อข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์มีเสรีภาพมากในกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย

              อู วิรัก นักวิเคราะห์ชาวกัมพูชา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานระดับมันสมองฟิวเจอร์ฟอรัม กล่าวว่า เขาเชื่อว่า แม้ว่าข้อกล่าวหาด้านภาษีที่หนังสือพิมพ์ The Cambodia Daily เผชิญทำให้รัฐบาลมี “ข้ออ้างที่เหมาะสม” ในการพุ่งเป้าจัดการ แต่รัฐบาลก็จะยังคงทำเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือไม่
              เขากล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ลดเสียงวิจารณ์ลงในด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพประชาธิปไตย ประกอบกับอิทธิพลและสิ่งที่จีนมอบให้กัมพูชาทำให้พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) มีความมั่นใจในการดำเนินการมากขึ้น
             “โดยพื้นฐาน สิ่งที่คุณกำลังเห็นอยู่ในขณะนี้คือ การสิ้นสุดของยุคที่ถูกครอบงำโดยชาติตะวันตกในการสร้างชาติกัมพูชา และการเมือง” เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีต ถ้านักเคลื่อนไหว “ส่งเสียงดังขึ้นพอในการเรียกร้องความสนใจจากนานาประเทศ” รัฐบาลที่ยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือนี้ก็จะยอมถอย

            โฆษกของ CPP กล่าวว่า ทางพรรค “ไม่มีแรงจูงใจหรือ เหตุผลใด ๆ” ในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่เขาเรียกว่า เป็นเรื่องระหว่าง The Cambodia Daily กับกรมสรรพากร
             มีสื่อจำนวนมากที่อยู่ฝ่ายเดียวกับพรรคฝ่ายค้าน ซูส ยะรา กล่าวว่า ทาง The Cambodian Daily กำลังพยายามทำให้เรื่องนี้ “เป็นการเมือง”

  
          เดบอราห์ คริชเชอร์-สตีล รองผู้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ภาษีไม่ได้ทำตามกฎ และเพิกเฉิยต่อการขอเข้าพบ เธอต้องการให้มีการตรวจสอบอย่างเต็มที่เกิดขึ้น แต่ยืนกรานว่าถ้ามีการติดค้างภาษี “มันก็คงไม่มากถึง” หลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามที่ทางหนังสือพิมพ์ถูกขอให้จ่าย

เธอกล่าวว่า กระบวนการนี้มีความจงใจในการ “ข่มขู่และกลั่นแกล้ง The Cambodia Daily…และผู้อื่นที่พูดความจริง”
             หนังสือพิมพ์ The Cambodia Daily ก่อตั้งขึ้นในปี 1933 โดยเบอร์นาร์ด คริชเชอร์ พ่อของเธอ ซึ่งเป็นอดีตนักข่าวของนิวส์วีก (Newsweek) ในญี่ปุ่น และเป็นพระสหายของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ กษัตริย์ของกัมพูชาในสมัยนั้น
             นางสาวคริชเชอร์-สตีล บอกกับบีบีซีว่า ทางหนังสือพิมพ์ “ขาดทุนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว” และได้รับการสนับสนุนจากนายคริชเชอร์ เธอกล่าวว่า เธอพยายามที่จะทำให้หนังสือพิมพ์กลับมามีกำไรตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
             นายคริชเชอร์ได้ร้องขอความช่วยเหลือโดยตรงไปยังสมเด็จฮุนเซน สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของการเมืองกัมพูชา ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองมักจะแทรกแซงนโยบายและข้อพิพาทต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง
            “มีเพียงแต่ ฯพณฯ ท่านเท่านั้น ที่สามารถหยุดยั้งกรมสรรพากรในการดำเนินมาตรเหล่านี้ได้” บีบีซีเห็นข้อความนี้ในจดหมายที่เขาเขียน “ผมขอวิงวอนให้ท่านช่วยยุติการปิด The Cambodian Daily ด้วย”
            ผู้สื่อข่าวต่างชาติ และผู้สื่อข่าวกัมพูชาของหนังสือพิมพ์ The Cambodian Daily และเครือข่ายผู้สื่อข่าวจากทั่วโลก กำลังรู้สึกสิ้นหวัง จากแนวโน้มที่ทางหนังสือพิมพ์จะถูกปิด
             โรบิน แม็คดูเวลล์ ผู้สื่อข่าวซึ่งช่วยก่อตั้งหนังสือพิมพ์นี้ขึ้นในปี 1933 และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สาขาบริการสาธารณะในปี 2016 กับทางสำนักข่าวเอพี กล่าวว่า การก่อตั้งหนังสือพิมพ์ขึ้นในยุคนั้น หลังจากที่มีการเลือกตั้งที่จัดโดยสหประชาชาติ เป็นความพยายามที่ต้องใช้พละกำลังอย่างมหาศาล

             การที่ไฟดับบ่อยครั้งหมายความว่า หนังสือพิมพ์อาจจะเสียเวลาหลายชั่วโมง ก่อนหน้าที่จะถูกนำเข้าแท่นพิมพ์ “เราทำงาน 20 ชั่วโมงต่อวัน กินและนอนที่ The Daily” เธอกล่าว
            จากการที่มีผู้สื่อข่าวในประเทศจำนวนน้อย ทำให้ต้องมีการฝึกหัดผู้คนจากหลากหลายอาชีพรวมถึงขับรถแท็กซี่ เด็กวัด อดีตตำรวจ ให้เป็นผู้สื่อข่าว

            เธอกล่าวว่า มันเป็นงานที่ต้องใช้ความพยายาม และเหนื่อยมาก แต่หลังจากสงครามหลายปี ทางหนังสือพิมพ์นี้พร้อมกับหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ซึ่งออกรายปักษ์ได้ “ทำให้ชาวกัมพูชาเห็นโลกภายนอกเป็นครั้งแรก และได้ทำในสิ่งที่เรียกว่าสื่ออิสระทำจริง ๆ”

สำนักข่าววิหคนิวส์