หลังจากข่าวชวนตื่นตระหนกที่นายแซม คานิเซย์ วัยรุ่นชาวออสเตรเลียอายุ 16 ปี ถูกสัตว์ประหลาดลึกลับรุมกัดที่ข้อเท้าจนเลือดโชก ขณะยืนอยู่ในน้ำตื้นบริเวณชายหาดชานนครเมลเบิร์นแพร่ออกไปนั้น ทำให้ผู้คนต่างหวาดผวาทั้งขยาดกลัวตัว “หมัดทะเล” ที่รุมโจมตีกัดกินเนื้อนายคานิเซย์กันทั่วหน้า หลายคนถึงกับเสนอให้ปิดชายหาดดังกล่าวเพราะเกรงอันตรายจากสัตว์ตัวจิ๋วที่มีขนาดเพียงไม่เกิน 1 เซนติเมตรตัวนี้
วันที่ 8 สิงหาคม 60 อย่างไรก็ตาม หลังจากการตรวจสอบ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ออกมาชี้แจงว่า คนทั่วไปไม่ควรตื่นตระหนกกับกระแสข่าวหมัดทะเลที่ดุร้ายให้มากจนเกินไป เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพียงกรณีพิเศษที่พบได้น้อยครั้ง และเกิดขึ้นจากปัจจัยความบังเอิญในหลายเรื่องที่มาประจวบเหมาะกันเข้าพอดี
“หมัดทะเล” คือตัวอะไรกันแน่ ?
BBC -หลังพบว่าบริเวณข้อเท้าของตนเองมีเลือดออกมากจนน่ากลัว นายคานิเซย์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยแพทย์พบว่ามีรอยกัดเล็ก ๆ อยู่เต็มไปหมด เลือดไหลซึมออกมาไม่ยอมหยุดจนถึงเช้าของอีกวันหนึ่ง พ่อของนายคานิเซย์ได้กลับไปยังที่เกิดเหตุและใช้ถุงตาข่ายที่มีชิ้นเนื้อล่ออยู่ จับเอากลุ่มสัตว์น้ำตัวเล็กๆ ที่อยู่ตรงชายหาดบริเวณนั้นมาได้ และได้ส่งให้นักชีววิทยาที่พิพิธภัณฑ์รัฐวิกตอเรียตรวจสอบ
ดร. เจเนฟอร์ วอล์กเกอร์-สมิธ ผู้เชี่ยวชาญซึ่งตรวจสอบตัวอย่างสัตว์น้ำดังกล่าวระบุว่ามันคือ “หมัดทะเล” (Sea Flea)เป็นสัตว์น้ำมีเปลือกแข็งชนิดหนึ่งที่เรียกว่าแอมฟิพอด (Amphipod) มีอยู่หลายร้อยชนิดพันธุ์ โดยทั่วไปมีขนาดราว 0.5-1.0 เซนติเมตร แต่บางชนิดมีขนาดเล็กมากจนต้องส่องกล้องจุลทรรศน์ดูจึงมองเห็น
สัตว์จำพวกหมัดทะเลส่วนใหญ่พบได้ในน้ำตื้น อาศัยอยู่ได้ทั้งในกระแสน้ำอุ่นและน้ำเย็น ออกหากินในเวลาโพล้เพล้และช่วงกลางคืนเพื่อหลบเลี่ยงปลาที่เป็นสัตว์ผู้ล่าของมัน โดยหากินซากสัตว์น้ำเช่นปลาและปูรวมทั้งนกทะเลที่ตายแล้วเป็นอาหาร “ถ้าไม่มีพวกมัน ท้องทะเลก็จะเต็มไปด้วยซากสัตว์น้ำที่เหม็นเน่า” ดร.วอล์กเกอร์-สมิธกล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร. เมอร์เรย์ ทอมสัน จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์มีความเห็นว่า “หมัดทะเล” ที่กัดนายคานิเซย์นั้นเป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่ง คือเป็นสัตว์น้ำมีเปลือกแข็งชนิดไอโซพอด (Isopod) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cirolana harfordi มีพฤติกรรมหากินกลางคืนและกินซากสัตว์น้ำเหมือนแอมฟิพอด แต่ยังกินเนื้อของสัตว์ที่มีชีวิตอยู่จำพวกหนอนทะเลและปลาบางชนิดได้ด้วย
เหตุรุมกินเนื้อคนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
รองศาสตราจารย์ ริชาร์ด เรนา จากมหาวิทยาลัยโมแนชของออสเตรเลียชี้แจงว่า เหตุที่เกิดขึ้นในกรณีของนายคานิเซย์นั้นพบได้ยากมาก และมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่บังเอิญมาประจวบกันเข้าพอดี โดยเขาลงเล่นน้ำในช่วงเวลาที่หมัดทะเลออกหากิน และน่าจะเหยียบไปตรงพื้นชายหาดที่พวกมันกำลังรุมกินซากอยู่ ทำให้ถูกกัดเข้า แต่การที่น้ำทะเลเย็นยะเยือกทำให้ขาของเขาชาไร้ความรู้สึก และกว่าจะเริ่มรู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มหลายเล่มทิ่มตำ เวลาก็ผ่านไปนานถึง 30 นาทีแล้ว ทำให้โดนกัดแทะเนื้อเป็นบริเวณกว้างและมีเลือดออกมาก
“ที่จริงแล้วต้องมีหมัดทะเลหลายแสนตัวรุมกัดนานนับชั่วโมง โดยคนที่ถูกกัดไม่ขยับหนี ถึงจะเกิดแผลบาดเจ็บรุนแรงแบบที่นายคานิเซย์เป็นอยู่ได้” รศ. เรนากล่าว “แต่คนทั่วไปที่มีความรู้สึกไวตามปกติ แค่โดนมันกัดนิดเดียวก็จะสะบัดหรือเดินหนีแล้ว ไม่มีทางจะเป็นถึงขนาดนี้ได้”
ดร.วอล์กเกอร์-สมิธ กล่าวเสริมว่า “หมัดทะเลมีอยู่ทั่วไปและมีจำนวนหลายร้อยล้านตัว ทำให้เราไม่อาจหลบเลี่ยงพวกมันได้ แต่เราก็ไม่ควรจะต้องกังวล พวกมันไม่มีพิษ และหากเราไม่ได้ไปรบกวนฝูงหมัดทะเลขนาดใหญ่ที่กำลังกินซากอยู่ อย่างดีมันก็แค่สร้างความรำคาญ ทำให้เจ็บ ๆ คัน ๆ นิดหน่อยเท่านั้น เอาเป็นว่าให้ระมัดระวังเวลาเดินลุยน้ำตื้นตามชายหาดก็แล้วกัน”
สำนักข่าววิหคนิวส์