เอเอฟพี – อีลอน มัสก์ กำลังชูธงเรียกร้องทั่วโลกแบนหุ่นยนต์สังหาร พร้อมเตือนว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจปฏิวัติการทำสงครามและสร้าง “อาวุธก่อการร้าย” ที่มุ่งเป้าผู้บริสุทธิ์
วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2560ซีอีโอของบริษัท เทสลา และ สเปซเอ็กซ์ ร่วมกับผู้ประกอบการด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์กว่า 100 รายลงนามจดหมายถึงองค์การสหประชาชาติเรียกร้องมาตรการป้องกันการพัฒนาอาวุธควบคุมตนเอง
“อาวุธร้ายแรงควบคุมตนเองเสี่ยงที่จะกลายเป็นการปฏิวัติการทำสงครามครั้งที่ 3” ถ้อยแถลงที่ลงนามโดยผู้มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยี 116 รายรวมถึง มุสตาฟา ซูเลย์มาน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท DeepMind ของกูเกิล ระบุ
“เมื่อมันถูกพัฒนาขึ้น มันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในระดับใหญ่กว่าที่แล้วมา และในลำดับเวลาที่เร็วเกินกว่ามนุษย์จะสามารถทำความเข้าใจ” จดหมายดังกล่าวระบุ
ผู้สร้างนวัตกรรมยังเน้นย้ำถึงเสี่ยงที่เทคโนโลยีอาจตกไปอยู่ผิดมือ จดหมายระบุว่า “สิ่งเหล่านี้อาจเป็นอาวุธก่อการร้าย อาวุธที่ทรราชและผู้ก่อการร้ายใช้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ และอาวุธที่ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์”
“เราไม่ได้มีเวลารับมืออย่างเหลือเฟือ ทันทีที่กล่องแพนโดราถูกเปิด มันก็ยากที่จะปิด”
ทั้งมักส์และนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ชาวอังกฤษชื่อดัง สตีเฟน ฮอว์คิง ต่างมักออกมาเตือนถึงภัยอันตรายจากปัญญาประดิษฐ์
คำร้องใหม่เกี่ยวกับอาวุธควบคุมตนเองนี้ถูกเผยแพร่ออกมาในขณะที่การประชุมร่วมระหว่างประเทศว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (the International Joint Conference on Artificial Intelligence) ในเมลเบิร์นกำลังมีขึ้นในวันนี้ (21) โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอและหุ่นยนต์เข้าร่วมถึง 2,000 คน ผู้จัดงาน ระบุ
“ปัจจุบันความเสี่ยงสูญเสียชีวิตเป็นอุปสรรคสำหรับการริเริ่มและโหมกระพือความขัดแย้ง แต่เมื่อใดที่การสูญเสียส่วนใหญ่เป็นหุ่นยนต์ ความกังวลดังกล่าวจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงและโอกาสเกิดความขัดแย้งจะมากขึ้น” ศาสตราจารย์ เมรี-แอนน์ วิลเลียมส์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ กล่าว
เธอเตือนว่า การแบนหุ่นยนต์สังหารอาจไม่ได้รับความสนใจจากบางประเทศแต่จะหยุดยั้งหลายประเทศเช่นออสเตรเลียจากการพัฒนาหุ่นยนต์สังหารเพื่อการป้องกันตนเอง ดังนั้นจึงเป็นความเสี่ยงต่อประเทศและกลุ่มอื่นๆ ที่จะเพิกเฉยการแบนนี้”
ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งระบุว่า การตัดสินใจในวันนี้จะช่วยก่อร่างอนาคตที่เราต้องการ
“เทคโนโลยีเกือบทั้งหมดสามารถถูกใช้ในทางที่ถูกและผิด ปัญญาประดิษฐ์ก็ไม่แตกต่าง” ศาสตราจารย์ โทบี วัลช์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าว
ผู้จัดงานระบุว่า กาประชุมนี้ที่จะจบลงในวันศุกร์ (25) ดึงดูดผู้เข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์จากจีน สะท้อนถึงความพยายามของปักกิ่งที่จะกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในแวดวงนี้
กาประชุมนี้จะให้ความสำคัญกับความท้าทายต่างๆ จากการพัฒนาระบบเอไอควบคุมตนเองเต็มรูปแบบ คาร์ลส์ เซียร์รา ประธานโครงการ จากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติของสเปน กล่าว
หน่วยงานของยูเอ็นว่าด้วยอาวุธควบคุมตนเองมีกำหนดจะประชุมกันในวันนี้ (21) แต่การประชุมถูกเลื่อนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน อ้างจากเว็บไซต์ของหน่วยงานนี้
เมื่อปี 2015 นักวิจัยและปัจเจกบุคคลหลายพันคนเคยยื่นคำร้องให้แบนอาวุธควบคุมตนเองมาแล้ว
cr : mgr online
สำนักข่าววิหคนิวส์