24 กรกฎาคม 2560 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ดำเนินการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ 2 กรณี
1.เรื่องบทบัญญัติของมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2550 ตรามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
เพจตรงประเด็น – โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. … สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โหวตผ่านวาระ 3 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ในมาตรา 3 ได้บัญญัติให้ยกเลิกกฎหมายเดิม 2 ฉบับดังกล่าว ทำให้พบว่าในมาตรา 13 ของร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เป็นองค์คณะผู้พิพากษานั้น และมาตรา 13 วรรคสาม ฉบับเพิ่มเติม 2550 บัญญัติไว้ว่า ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา โดยองค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วย ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 9 คน ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ และให้เลือกเป็นรายคดี นั้น เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 219 วรรคสี่ หรือไม่ เนื่องจาก บทบัญญัติมาตรา 13 วรรคสาม ที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2550 ที่ยังคงใช้มาถึงปัจจุบันนั้น มีการกำหนดอัตราส่วนบังคับไว้ในองค์คณะ 9 คน ว่า จะมีผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาได้ไม่เกิน 3 คน จึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดอัตราส่วนดังกล่าวไว้
“กรณีดังกล่าวจึงทำให้คดีต่างๆที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผ่านมาย่อมเกิดปัญหาความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และที่ผ่านมานายเกรียงชัย จึงจตุรพิธ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็เคยแสดงความเห็นในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่1(สมัยวิสามัญ) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2551 ไว้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 ม.219 วรรคสี่ แต่ที่ประชุมสภาฯกับไม่เห็นชอบให้แก้ไข และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ควรเป็นผู้ส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ก็ยิ่งนิ่งเฉยปล่อยให้เหตุการณ์ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ดังนั้น ศาลฎีกาควรจะได้ยินเสียงผมในครั้งนี้ เพราะว่าศาลฎีกาเป็นผู้พิพากษาตั้งแต่ต้น ผมเชื่อว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนมากมีความยุติธรรมและซื่อสัตย์”นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า กระบวนการตรากฎหมายดังกล่าว ซึ่งตราขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เมื่อปี 2550 จึงมีเหตุให้สงสัยว่า กฎหมายดังกล่าวตราโดยองค์ประชุมที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในรายงานการประชุมสนช.เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2550 ซึ่งขณะนั้น สมาชิสนช.มีทั้งสิ้น 239 คน ในวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 พ.ศ. …. ปรากฏว่าในรายงานการประชุม ระบุว่การลงมติในวาระ 3 มีสมาชิกฯเห็นชอบด้วย 111 คะแนน ไม่เห็นด้วย 1 คะแนน เท่ากับว่าการลงมติในวันนั้นมีสมาชิกที่อยู่ในที่ประชุมเพียง 112 คนเท่านั้น ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดในวันนั้น คือ 239 คน ดังนั้น ตนจึงต้องส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป เพราะถูกนำมาใช้ในการพิจารณาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อถามว่า การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หวังเพื่อให้มีการชะลอคดีในศาลฎีกาฯที่กำลังพิจารณาในคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเมื่อกฎหมายตราโดยมิชอบ ต่อให้คดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตัดสินไปแล้ว ก็ทำให้มีปัญหาตามมาได้อยู่ดี และที่ตนมายื่นในครั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของกระบวนการยุติธรรม ในเมื่อกระบวนการไม่ถูกต้อง ก็ต้องคืนความยุติธรรม
ทีมข่าว สำนักข่าว vihok news