11 ส.ค.60 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการปฏิรูปกฎหมาย ว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่ต้องเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก จึงตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายขึ้นมารองรับ ซึ่งไม่สามารถทำม้วนเดียวจบได้ ต้องส่งต่อรับช่วงกัน จึงต้องจัดลำดับความสำคัญ
แนวหน้า – นายวิษณุ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราให้ความสำคัญกับกฎหมายสิทธิเสรีภาพ มีการปฏิรูปไปเยอะ แต่มาวันนี้เราต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายการประกอบธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาการประกอบธุรกิจมีความยุ่งยาก กระบวนการขออนุมัติซับซ้อน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องปรับแก้กี่ฉบับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน จะดำเนินการควบคู่ไปกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นในสัปดาห์หน้า
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจที่ต้องแก้ไข อาทิ กฎหมายแรงงานคนต่างด้าว กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร บางเรื่องประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน แต่ต่างประเทศมี จึงทำให้เกิดช่องว่างทางด้านกฎหมาย เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับบัตรเครดิต และกฎหมายที่เกี่ยวกับการยึดทรัพย์บุคคลที่ถูกฟ้องล้มละลายแล้วยักยอกเงินออกนอกประเทศ ที่ขณะนี้ประเทศไม่สามารถดำเนินคดียึดทรัพย์บุคคลเหล่านั้นได้
“มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไขกฎหมายให้ดำเนินการได้ ให้สามารถตามไปยึดทรัพย์ต่างประเทศได้ แต่ก็ต้องยอมรับในกรณีที่คนต่างชาติถูกฟ้องล้มละลายแล้วหนีมาตั้งถิ่นฐานในไทย ต่างชาติเขาก็ต้องตามมายึดทรัพย์ในประเทศเราได้เช่นกัน” รองนายกฯ กล่าว
จากนั้น นายวิษณุ ได้กล่าวปาฐกถา แนวทางการปฏิรูปกฎหมาย ในงานสัมมนาแนวทางการปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับThailand 4.0 ว่า เมื่อต้องการจะปฏิรูปก็ต้องมีความชัดเจนว่าวัตถุประสงค์คืออะไร ซึ่งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ นโยบาย Thailand 4.0 ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่นายกฯพูด แต่การปฏิรูปจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่ได้ ต้องมีกระบวนการ ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย และต้องจัดลำดับความสำคัญ
รองนายกฯ กล่าวต่อว่า เมื่อดำเนินการเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ก็จะคิดถึงเรื่องอื่นต่อไป ที่สำคัญต้องตั้งหลักเกณฑ์ว่าอะไรต้องแก้ไข อะไรต้องยกเลิก และอะไรต้องทำเพิ่มเติมขึ้นมา และสิ่งสุดท้ายต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะการปฏิรูปจะไม่สำเร็จหากขาดการยอมรับจาก 3 ฝ่ายที่จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปคือ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษากฎหมาย ,หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมาย และประชาชน ดังนั้น ต้องหาวิธีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจและทำอย่างมี แผนการ สิ่งสำคัญคือต้องไปดูทัศนคติของประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพราะจะทำอย่างเดิมไม่ได้
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ อยากให้พิจารณาเกี่ยวกับการตีความกฎหมาย เพราะบางเรื่องกฎหมายไม่ผิด แต่เมื่อเข้าใจไม่ตรงกัน ก็จะเกิดปัญหาได้ กฎหมายอะไรที่จะทำให้เกิดปัญหาได้ก็ต้องแก้ไขให้ชัดเจน เพื่อคุ้มครองผู้สุจริต
สำนักข่าววิหคนิวส์