โฆษกศาลยุติธรรม ยืนยัน ไม่มีเรื่องการเมือง เกี่ยวข้อง กรณีการตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่
js100 – หลังจากนายศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ประกาศลาออกจากราชการศาลยุติธรรม เนื่องจากรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังมีมติจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(อ.ก.ต.)ไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า การที่นายศิริชัยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการกลั่นกรองเสนอความเห็นของอ.ก.ต. นั้น เป็นดุลยพินิจของ อนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต. )จำนวน 21 ท่าน และ คณะกรรมการข้าราชการตุลาการ ( ก.ต. )จำนวน15 ท่าน ที่มีเสียงข้างมาก เห็นว่าคุณสมบัติของ นายศิริชัย ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ซึ่งการลงมติของก.ต.ล้วนแต่เป็นผู้ทรงเกียรติและดำรงตำแหน่งสำคัญ จึงไม่มีบุคคลใดเข้ามาแทรกแซงได้ และการลงมติดังกล่าวกระทำโดยเปิดเผยสามารถตรวจสอบได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าข้าราชการตุลาการทุกคนจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม
ขณะเดียวกัน แม้มติของ ก.ต. ในเรื่องการเลื่อนตำแหน่งจะไม่สามารถทบทวนได้แต่ก็พิจารณาตามการกลั่นกรองข้อเท็จจริงจาก อ.ก.ต. ที่เสนอมา และเป็นหลักปฏิบัติที่ศาลยุติธรรมได้ใช้มาเป็นเวลานาน มีบทบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมของ ก.ต. มีมติเอกฉันท์ 14 ต่อ 0 ไม่เห็นชอบให้นายศิริชัยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาดังนั้นเลขานุการอ.ก.ต. จึงต้องเสนอชื่อผู้ที่มีอาวุโสลำดับถัดไปตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ 2543 นายสืบพงษ์ยืนยันว่า ในการพิจารณาคุณสมบัติของนายศิริชัย ไม่ได้มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องตามที่นายศิริชัยกล่าวอ้าง
ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง นายสืบพงษ์ ระบุว่าเป็นการตรวจสอบจากข้อสงสัยที่ว่ามีการกระทำผิดวินัย ซึ่งหากไม่ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง อาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับข้าราชการตุลาการรายอื่น ซึ่งนายศิริชัยมีสิทธิ์เสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่และหากปรากฏว่าไม่มีมูลความผิดทางวินัย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ต้องเสนอยุติเรื่อง แต่หากมีมูลความผิดวินัยร้ายแรงแม้นายศิริชัยจะพ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการไปแล้ว คณะกรรมการก็ยังสามารถดำเนินการทางวินัยสอบสวนหรือพิจารณาลงโทษได้ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม 2543
ส่วนประเด็นตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาที่นายศิริชัยระบุว่าไม่มีกฎหมายรองรับนั้น โฆษกศาลยุติธรรมชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ 2543 ก.ต. มีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นได้ และจะเทียบตำแหน่งใดก็ได้ พร้อมทั้งให้กำหนดไว้ในประกาศนั้นด้วย ดังนั้น การกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาเทียบเท่าตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์จึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายขณะนี้ตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ จะต้องให้รองประธานศาลอุทธรณ์คนที่ 1 เป็นผู้รักษาการแทนตามกฎหมาย โดยสำนักงานศาลยุติธรรมคงไม่มีการฟ้องร้องนายศิริชัยที่ออกมาให้ข่าวและสร้างความเสื่อมเสียให้กับศาลยุติธรรม เพราะถือว่านายศิริชัยเป็นข้าราชการระดับสูงที่ ปฏิบัติงานมาเป็นเวลานาน