ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » ​#โปรดเกล้าฯ “ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม” ..!!   เชิญเครื่องทองน้อย ริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมศพ ร. ๙

​#โปรดเกล้าฯ “ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม” ..!!   เชิญเครื่องทองน้อย ริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมศพ ร. ๙

9 August 2017
1343   0

              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เตรียมเสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมการซักซ้อมเข้าร่วมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังกองทัพภาคที่ 1 จัดปฐมนิเทศพระวงศานุวงศ์ ราชสกุล ข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งหมด 6 ริ้วขบวนแล้ว กำหนดซ้อมพื้นที่จริง 3 ครั้ง 7 ต.ค.,12 ต.ค.,21 ต.ค. 

         วันที่ 9 สิงหาคม 60 ที่หอประชุมกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ได้มีการจัดปฐมนิเทศพระวงศานุวงศ์ ราชสกุล ข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แพทย์-พยาบาลผู้ที่เคยถวายงาน สมาคม องค์กร มูลนิธิ โรงเรียน ที่จะเข้าร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร โดยมีท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ พล.ท.ม.ล.กุลชาติ ดิศกุล พล.ต.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร ที่ปรึกษาคณะกรรมการริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯ ร่วมเป็นผู้บรรยาย
          MGR online – ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ กล่าวว่า พระวงศานุวงศ์ ราชสกุล ข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แพทย์-พยาบาลผู้ที่เคยถวายงาน สมาคม องค์กร มูลนิธิ โรงเรียน ที่ได้รับคัดเลือกมาร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในครั้งนี้นับว่าโชคดีที่สุดที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร เกิดในรัชสมัยรัชกาลที่ ๙ นับว่าทุกคนโชคดีจริงๆ ซึ่งคณะกรรมการได้ทำการคัดสรรผู้ที่ได้รับหน้าที่อันทรงเกียรตินี้เป็นอย่างดีที่สุด
          ขณะที่ พล.ท.ม.ล.กุลชาติ ดิศกุล ในฐานะผู้ประสานงานราชสกุลทุกมหาสาขา กล่าวเพิ่มเติมถึงหลักการคัดเลือกพระประยูรญาติในการเข้าร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ว่า ครั้งนี้มีราชสกุลทุกมหาสาขาจำนวน 100 ราชสกุล จาก 129 ราชสกุล มาร่วมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เนื่องด้วยอีก 29 ราชสกุลนั้นมิได้มีผู้สืบทอดแล้ว โดยการพิจารณานั้นคณะกรรมการจะพิจารณา 2 เรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย 1.คัดเลือกจากผู้ที่เคยร่วมในพระราชพิธีริ้วขบวนพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี และ 2.ดูความเหมาะสมในเรื่องของพระชันษา เพราะ หม่อมเจ้าบางพระองค์ทรงมีชันษามากแล้ว ไม่สามารถอยู่ในริ้วขบวนได้เป็นเวลานาน โดยในริ้วขบวนที่ 2 นี้มีเพียงหม่อมเจ้า 4 พระองค์เท่านั้น คือ พล.ท.ม.จ.เฉลิมศึก ยุคล ร.อ.ม.จ.นวพรรษ์ ยุคล ม.จ.หญิงศรีสว่างวงศ์ ยุคล (บุญจิตราดุลย์) และท่านหญิงนภดลเฉลิมศรี ยุคลนอกจากนี้ก็ยังประกอบไปด้วย ม.ร.ว. และ ม.ล. ส่วนในริ้วขบวนที่ 3 อัญเชิญพระบรมโกศพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศโดยอุตราวัฎ (เวียนซ้าย) ซึ่งจะมีสมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา และในริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยานไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นั้นก็จะมีหม่อมเจ้าพระชันษาสูงเสด็จในริ้วขบวนด้วย อาทิ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล และ ม.จ.ฑิฆัมพร ยุคล เป็นต้น

       ทั้งนี้รายงานเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้อัญเชิญเครื่องทองน้อย ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ซึ่ง ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม เป็นบุตรชายคนเดียวของนายสินธู กับท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม และเป็นพระนัดดาของสมเด็จพระเจ้าพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้อัญเชิญเครื่องราชอิสริยยศ และเครื่องราชูปโภค ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเครื่องราชูปโภคของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
       พลตรี ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร ที่ปรึกษาคณะกรรมการฝ่ายปฏิบัติการในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ให้ข้อมูลกับพระวงศานุวงศ์ ราชสกุล และข้าราชบริพารในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แพทย์ พยาบาลที่ถวายงาน สมาคม องค์กร มูลนิธิ โรงเรียน ที่ปฏิบัติในริ้วขบวนว่า ริ้วขบวนในงานพระราชพิธีฯ มีทั้งหมด 6 ริ้วขบวน ดังนี้
       ริ้วขบวนที่ 1 อัญเชิญพระบรมโกศพระบรมศพลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผ่านประตูสรีสุนทร เทวาภิรมย์ ใช้ถนนมหาราช ต่อเนื่องถนนท้ายวัง

       ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระบรมศพเคลื่อนจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ผ่านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ไปยังมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง โดยใช้ถนนสนามไชย

       ริ้วขบวนที่ 3 อัญเชิญพระบรมโกศพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศโดยอุตราวัฎ (เวียนซ้าย)

       ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระบรมอัฐิและพระสรีรางคารประดิษฐาน ณ พระบรมมหาราชวัง

       ริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยานไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

       ริ้วขบวนที่ 6 เชิญผอบพระสรีรางคารออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี เทียบที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร

     
  โดยริ้วขบวนที่ 2 ถือเป็นริ้วขบวนที่มีความสง่างาม และใช้ผู้ร่วมในริ้วขบวนมากที่สุดถึง 3,000 คน
       พลตรี ณัฐวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของริ้วขบวนที่ 2 ในวันที่ 26 ตุลาคม สามารถแบ่งออกเป็นอีก 7 ตอนการเดิน ได้แก่ 1.ขบวนทหารนำ 3 กองพัน 2.นักเรียนเตรียมทหารและทหารเรือ ปี่ กลองชนะ นักเรียนเตรียมทหาร 3.พระ และเครื่องสูงพระนำ 4.พระมหาพิชัยราชรถ 5.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ 6.สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา และ7.ทหาร 2 กองพัน โดยในพระราชพิธีครั้งนี้จะใช้รูปแบบการเดินเท้าต่อเท้า จากเดิมที่เป็นเปลี่ยนสูงแบบสืบเท้า ทำให้ใช้เวลาเดินจาก 1 ชั่วโมงครึ่ง เป็น เกือบราว 2 ชั่วโมง เพราะการก้าวจะสั้นลง คาดการณ์ว่าพิธีจะเริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น. – 13.00 น. จึงจะเสร็จสิ้น
       รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเสร็จการปฐมนิเทศแล้ว คณะกรรมการฝ่ายปฏิบัติการฯ ได้เชิญสมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขาที่ได้เข้าร่วมปฐมนิเทศน์ ทำการซักซ้อมเดินริ้วขบวนเป็นครั้งแรก ที่หน้าตึกกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ประกอบจังหวะเพลงพญาโศก อาทิ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร, ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ม.ร.ว.รังษิพันธ์ ยุคล ม.ร.ว.จันทรลัดดา ยุคล ม.ร.ว.สุทธิภาณี ยุคล ม.ร.ว.ปิยฉัตร ฉัตรชัย ม.ร.ว.จุลรังษี ยุคล และม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล
       ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ จะมีการแยกซ้อมแต่ละหน่วยงาน โดยจะมีการซ้อมการเดินริ้วขบวน ณ พื้นที่จริง 3 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 7 ต.ค. เวลา 07.00 น. วันที่ 12 ต.ค. เวลา 07.00 น. และ วันที่ 21 ต.ค. เวลา 07.00 น. การนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมการซักซ้อมในครั้งนี้ด้วย 

สำนักข่าววิหคนิวส์