ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพลล์” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ร่วมแถลงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในครึ่งปีแรก 2560”
แนวหน้า – ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการ วิชาการ นิด้า กล่าวว่าศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพลล์” ได้ร่วมมือกับ เครดิตบูโร เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในด้านเศรษฐกิจ การเงิน การบริหารจัดการทรัพย์สิน หนี้สิน ตลอดจนการวางแผนการออม โดยการสำรวจความคิดเห็น จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อ ประชาชน หน่วยงาน สถาบันการเงิน หรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ การวางแผน หรือการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ต่อไป
ผศ.ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพลล์” เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในช่วงครึ่งปีแรก 2560” จากประชาชนที่มีรายได้ทั่วประเทศจำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 45.15% มีรายได้พอๆ กับรายจ่าย โดยประชาชนมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 26,469.91 บาท ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 21,606.75 บาท
ทั้งนี้ ประชาชนเกินครึ่งเล็กน้อยหรือ 51.65% มีเงินออมไว้ใช้ โดยส่วนใหญ่ 48.79% ออมเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เพื่อการรักษาพยาบาล การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ 38.33% ออมเพื่อสำรองไว้ใช้ในอนาคต 26.91% ออมไว้ให้บุตรหลาน ตลอดจนการศึกษาของบุตรหลาน 12.58% ออมใช้ในระยะยาวช่วงหลังเกษียณอายุ
ส่วนการมีหนี้สินของประชาชนพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 68.10% ระบุว่ามีหนี้สิน ซึ่งในจำนวนนี้ มีหนี้สินโดยรวมเฉลี่ยประมาณ 565,302.88 บาท หรือ 59.47% เกิดจากการซื้อ/ผ่อน/ชำระสินค้า การบริการ สินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมา 35.46% เกิดจากการลงทุนในการประกอบอาชีพ การดำเนินธุรกิจ กิจการ การเกษตร การค้าขาย 14.24 %เกิดจากการเลี้ยงดูบุตรหลาน11.89% เกิดจากการเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว 6.17% เกิดจากการสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงที่อยู่อาศัย บ้าน คอนโดฯ ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
สำหรับวิธีการบริหารจัดการหนี้สินของประชาชนที่มีหนี้สิน พบว่า ผู้ที่มีหนี้สินนั้นส่วนใหญ่ 61.01% จะชำระยอดค้างให้ตรงต่อเวลา 19.46% ไม่สร้างหนี้สินเพิ่มเติม 14.17% ลดค่าใช้จ่าย 13.29% หาช่องทางการเพิ่มรายได้ เช่น ทำอาชีพเสริม หารายได้พิเศษ ทำงานล่วงเวลา 10.50% ระบุว่า เลือกแบ่งงวดจ่ายให้มากครั้ง แต่จ่ายจำนวนเงินต่อครั้งให้น้อยๆ ขณะที่ประชาชนมีความสามารถในการ ชำระหนี้สินเฉลี่ย 7.72 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10) ซึ่งอยู่ในระดับมาก
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโรกล่าวว่า สภาวะหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 78.6% ถือว่าไม่น่าเป็นห่วงเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งสูงกว่า 80% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนยังมาจากการอุปโภคบริโภคที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยไม่เหมือนในต่างประเทศที่เป็นหนี้จากการซื้อที่อยู่อาศัย หรือการลงทุนสินทรัพย์ต่างๆ
ขณะที่กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าจากช่องทางอื่นๆ โดยหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/60 ของกลุ่มดังกล่าวอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้จากครูสูงถึง 7 แสนล้านบาท และ ธนาคารออมสิน 4-5 แสนล้านบาท ขณะที่สถาบันการเงินอยู่ที่ 4.9 ล้านล้านบาท และ สถาบันการเงินเฉพาะกิจอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมแล้วปริมาณหนี้ครัวเรือนทั้งหมดในไตรมาส 1/60อยู่ที่ 11.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.45 แสนล้านบาท จากไตรมาส 1/59 ที่อยู่ 11.13 ล้านล้านบาท
“เราเห็นภาพหนี้ครัวเรือนลดลงต่ำกว่า 80% ก็จริง แต่หากดูไส้ในแล้วจะพบว่า สินเชื่อ และ อายุ มีคำตอบว่า เป็นหนี้เร็ว หนี้นาน หนี้มาก จะเห็นคนอายุน้อยเป็นหนี้มากขึ้น และคนอายุ 55 ปี ยังมีหนี้อยู่ ทั้งที่ควรจะลดลงหรือ ไม่มีเลย” นายสุรพล กล่าว