“พยานสาว” ผู้รอดชีวิตจากเหตุฆ่ายกครัว 8 ศพ ให้การกับตำรวจว่าสามารถจดจำหน้ามือปืน 4 ราย จากทั้งหมด 6-7 ราย พร้อมระบุได้ยินการ โทร.รายงานผลกับ “นาย” อะไรทำให้คนตัดสินใจเข้าสู่วงการมือปืนรับจ้าง?
BBC – เหตุ “ฆ่ายกครัว” 8 ศพ ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของนายวรยุทธ สังหลัง ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านเขางาม ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ถือเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่ฝ่ายความมั่นคงยังเร่งแกะรอยหาผู้ก่อเหตุ สื่อไทยหลายสำนัก รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ออกมาปฏิเสธข้อมูลสำคัญ 2 ส่วนคือ 1. คนร้ายไม่ใช่ทหาร แต่เป็นพลเรือน 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องการเลียนแบบทหารแล้วไปก่อเหตุ 2. การก่อเหตุไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าผู้ก่อเหตุเป็นใคร บีบีซีไทย พาหาเหตุผลที่ทำให้คนปกติมา “รับจ้างฆ่าคน”
“รู้สึกสนุกกับงานง่ายๆ สบายๆ แต่ได้เงินใช้เที่ยวเล่นเป็นจำนวนมาก” คือแรงจูงใจของ “ขวัญ” (นามสมมุติ) ในการเข้าสู่วงการมือปืน เขาเป็น 1 ใน 10 ผู้ต้องขังที่เคยเป็นหัวหน้ากลุ่มมือปืน และเอเยนต์ในการจัดหามือปืน ที่ ฑิตฐิตา ธิติธรรมพฤกษ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เลือกสัมภาษณ์แบบเจาะลึกในงานศึกษาวิจัยเรื่อง “การเข้าสู่วงการมือปืนรับจ้าง : ศึกษาเฉพาะกรณีผู้ต้องขังเรือนจำกลางบางขวาง” (2548)
“ขวัญ” เป็นผู้ต้องขังชายวัย 36 (ในขณะนั้น จำคุกมาแล้ว 9 ปี) ถูกศาลสั่งประหารชีวิต แต่ได้รับฎีกาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต คดีปล้นและฆ่าผู้อื่น เขาเห็นการฆ่าคนตั้งแต่อายุ 14 ปี เนื่องจากน้าชายและญาติบางคนเป็นมือปืน โดยขวัญทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้น้า แลกกับค่าจ้างคนละครึ่งกับน้า จึง “สนุก” กับงานง่าย เงินมาก ก่อนพัฒนาเป็นมือสังหารเองในการก่อเหตุครั้งที่ 3 และเมื่อน้าถูกยิงตาย ขวัญก็ก้าวเข้าสู่อาชีพมือปืนเต็มตัว รับงานเอง อาวุธที่ใช้ส่วนมากเป็นปืนขนาด 9 มม. หรือ .38 นิ้ว
ลักษณะการทำงาน ขวัญจะพยายามยิงประชิดเหยื่อ 2-3 เมตร และยิง 1-2 นัดเพื่อให้มั่นใจว่าตายแน่นอน และภายหลังก่อเหตุก็จะหลบออกจากพื้นที่ไปกบดานต่างถิ่นจนเรื่องเงียบ แล้วก็กลับมาทำงานคุมบ่อน บางครั้งถ้าเจ้าของบ่อนที่ขวัญเรียกว่า “นาย” มีเรื่อง เขาก็เข้าไปจัดการให้ แม้บางงานไม่ได้ค่าแรงก็ตาม
ขวัญเผยว่ารับฆ่าคนมาไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ยิงเหยื่อไป 10 ราย ได้ค่าจ้างครั้งละ 2-3 แสนบาท รายได้ก็แบ่งให้พรรคพวกที่ร่วมกันทำงาน ขณะที่อีกส่วนนำไปลงทุนทำธุรกิจบ่อกุ้งที่เตรียมไว้ให้ครอบครัว
งานสุดท้ายที่รับคือการสังหารผู้รับเหมาชาว จ.ปทุมธานี เหตุขัดแย้งประมูลที่ดินกับผู้ว่าจ้าง ก่อนมาถูกจับได้ที่บ่อกุ้ง เมื่อพยานในที่เกิดเหตุที่ขวัญไม่สังหารจดจำหน้าเขาได้ แล้วให้การกับตำรวจ เพราะคติของขวัญคือ “ไม่รับงานฆ่าเด็กและผู้หญิง แม้มีคนเคยมาว่าจ้าง แต่ก็ไม่ทำ”
1
การคบเพื่อนในวงการมือปืนรับจ้าง/รู้จักผู้มีอิทธิพล
* 2 ครอบครัวมีประวัติกระทำผิด
* 3 ความประพฤติในอดีต เช่น ไม่ยอมถูกรังแก/เกี่ยวข้องการพนัน
* 4 สภาพแวดล้อมที่อาศัยเป็นแหล่งเริงรมย์ มั่วสุม
* 5 ไม่ได้รับโอกาสทำงานสุจริต/รายได้จากอาชีพสุจริตไม่พอ
ที่มา: งานวิจัย “การเข้าสู่วงการมือปืนรับจ้าง:ศึกษาเฉพาะกรณีผู้ต้องขังเรือนจำกลางบางขวาง (2548)”
คบเพื่อนนักเลง ชักจูงเข้าสู่วงการมือปืน
ผู้วิจัยยังได้สัมภาษณ์ “โทน” (นามสมมุติ) วัย 54 ปี (ในขณะนั้น จำคุกมาแล้ว 15 ปี) คดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นรวม 14 ศพ ถูกศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต โทนเริ่มเข้าสู่วงการมือปืนตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี เขามักคบเพื่อนนักเลงแถวบ้าน ได้ติดตามไปเที่ยว จนได้รู้จักกับกลุ่มโจรเสือที่ออกปล้นชาวบ้าน แล้วติดตามโจรเหล่านั้นออกปล้นบ้าง ก่อนพัฒนามาเป็น “รับงานฆ่า” ซึ่งได้เงินมากกว่าการปล้น
เขาเริ่มฆ่าคนตอนอายุ 15 ปี รับจ้างฆ่ามาแล้ว 14 ครั้ง ในการทำงานจะทำกับเพื่อนสนิทอีก 1 คน โดยเพื่อนเป็นคนขับรถจักรยานยนต์ ส่วนโทนเป็นคนลั่นไก อาวุธที่ใช้จะเป็นไปตามสถานการณ์ ส่วนใหญ่เป็นปืนยาว และ 11 มม. ได้รับค่าจ้าง 4 หมื่นบาท-1.5 แสนบาท โดยแบ่งเงินกับเพื่อนคนละครึ่ง
งานสุดท้ายที่ทำให้โทนโดนจับ เกิดขึ้นแถวบ้านใน จ.พระนครศรีอยุธยา ค่าตอบแทนที่จะได้จากผู้ว่าจ้างคือ รถจักรยานยนต์ 1 คัน ปืน 1 กระบอก และเงินสด 4 หมื่นบาท เขายอมรับว่างานนี้เป็นงานยาก ตั้งแต่วางแผนจนถึงสังหาร เพราะเหยื่อเป็นผู้มีชื่อเสียง โทนเคยดักยิงมา 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ มาครั้งที่ 4 เกิดขึ้นประมาณ 3 ทุ่ม ขณะเหยื่อกำลังดูทีวีกับครอบครัวที่บ้าน โทนลอบยิงจากนอกบ้าน แต่เหยื่อไหวตัวทัน โทนจึงตัดสินใจขว้างระเบิดใส่บ้าน เหยื่อยิงตอบได้ 2 นัดก็ขาดใจตาย เมื่อแน่ใจว่าสำเร็จ ก็หลบจากที่เกิดเหตุไปยังจุดนัดพบคู่หู แต่เจอเพียงรถจักรยานยนต์ที่เพื่อนทิ้งไว้ให้
“เขาขับจักรยานยนต์มาเจอเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแจ้งเหตุ จึงแกล้งแฝงตัวกลับไปที่เกิดเหตุเพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัย เขายังช่วยพาภรรยาเหยื่อที่บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาล และในพิธีศพ โทนไปช่วยงานบุญ 9 วัน ซึ่งขณะนั้นครอบครัวเหยื่อไม่ทราบว่าเขาเป็นมือปืน” งานวิจัยระบุ
กระทั่งตำรวจเริ่มสืบสวน โทนจึงวางแผนหนีไปสุราษฎร์ธานี ก่อนถูกจับเพราะน้องชายไปหาที่สุราษฎร์ฯ โดยมีเพื่อนตามไปด้วย ซึ่งเป็นมือปืนที่รับงานจากญาติผู้ตายมาแก้แค้นโทนนั่นเอง โดยมือปืนคนดังกล่าวเป็นคนแจ้งตำรวจจับโทน
ปัจจัยทางจิตวิทยาที่ทำให้รับจ้างฆ่าคน
4 ปัจจัย
* 1 มั่นใจว่าตนเองตัดสินปัญหาได้
* 2 คิดว่าตำรวจไม่สามารถจับกุมได้
* 3 เห็นเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต
* 4 ถูกสังคมบังคับให้สู้เพื่อความอยู่รอด
ที่มา:งานวิจัย”การเข้าสู่วงการมือปืนรับจ้าง:ศึกษาเฉพาะกรณีผู้ต้องขังเรือนจำกลางบางขวาง”(2548)
มือปืนรับจ้าง กับ ระบบอุปถัมภ์
งานวิจัยเรื่อง “เครือข่ายระบบอุปถัมภ์ : ศึกษาเฉพาะกรณีมือปืนรับจ้าง” โดย พงษ์ศักดิ์ ขำเพชร ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2540) พบว่า มือปืนแทบทุกคนในงานวิจัยมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจที่ยากจน และอาศัยอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน ครอบครัวประกอบอาชีพการเกษตร มีพี่น้องหลายคน มีการศึกษาไม่สูง ทุกคนผ่านขั้นตอนการปล้นจี้ เป็นนักเลง ก่อนเข้าสู่สายมือปืนอาชีพ
งานวิจัยนี้ศึกษาชีวิตของมือปืน 5 คน คือ “โผน” “ไชโย” “โทน” “บัง” และ “เพชร” ซึ่งต้องโทษคุมขังอยู่ในเรือนจำ ยกเว้นโผนที่ถูกฆ่าตายในปลายปี 2540 พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมือปืนกับผู้อุปถัมภ์ เริ่มจากการที่ผู้อุปถัมภ์ขั้นแรกภายในหมู่บ้านช่วยวิ่งเต้นเรื่องคดีความให้ มือปืนจึงตอบแทนโดยการควบคุมคะแนนเสียงเมื่อผู้อุปถัมภ์รายนั้นลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ ก่อนที่ความสัมพันธ์จะแน่นแฟ้นขึ้น เมื่อผู้อุปถัมภ์สั่งให้มือปืนไปฆ่าคนอื่นที่มีปัญหากับตน โดยที่ผู้อุปถัมภ์คอยผู้ช่วยเหลือหากมีปัญหาการจับกุมของเจ้าหน้าที่ และขยายวงของการอุปถัมภ์ เมื่อมีการส่งต่อมือปืนไปยังผู้มีอิทธิพลรายอื่น
มือปืนทำงานให้ผู้อุปถัมภ์ทุกประเภท เช่น คุมบ่อนการพนัน ปลูกกัญชา รับงานฆ่า โดยที่ผู้อุปถัมภ์ให้การดูแลเรื่องความปลอดภัย ทรัพย์สินเงินทองทั้งของมือปืน และบุตร ภรรยา ทำให้มือปืนตอบแทนด้วยความภักดีและชีวิต